สามัคคีเภทคำฉันท์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สามัคคีเภทคำฉันท์ | |
---|---|
กวี : | ชิต บูรทัต |
ประเภท : | นิยายคำฉันท์ |
คำประพันธ์ : | คำฉันท์ |
ความยาว : | 410 บท |
สมัย : | รัตนโกสินทร์ |
ปีที่แต่ง : | พ.ศ. 2457 |
ชื่ออื่น : | - |
ลิขสิทธิ์ : | |
สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิยายคำฉันท์ขนาดสั้นไม่กี่สิบหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงดงามทางวรรณศิลป์ ทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยด้วย
หนังสือ สามัคคีเภทคำฉันท์ (ฉบับกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ เขียนเว้นวรรค เป็น "สามัคคีเภท คำฉันท์") นี้ นายชิต บุรทัต ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของกวีผู้นี้
[แก้] เนื้อเรื่อง
สามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ครั้งพุทธกาล ว่าด้วยการใช้เล่ห์อุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี เนื้อความนี้มีปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แห่งพระไตรปิฎก และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินี โดยเล่าถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ทรงมีอำมาตย์คนสนิทชื่อ วัสสการพราหมณ์ ทรงมีดำริจะปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีครอบครอง แต่แคว้นวัชชีมีความเป็นปึกแผ่นและปกครองกันด้วยความสามัคคี
พระเจ้าอชาตศัตรูปรึกษากับวัสสการพราหมณ์เพื่อหาอุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี โดยการเนรเทศวัสสการพราหมณ์ออกจากแคว้นมคธ เดินทางไปยังเมืองเวสาลี แล้วทำอุบายจนได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวี และในที่สุดได้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย ครั้นได้โอกาส ก็ทำอุบายให้ศิษย์แตกร้าวกัน จนเกิดการวิวาท และเป็นเหตุให้ความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีถูกทำลายลง เมื่อนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี สามารถปราบแคว้นวัชชีลงได้อย่างง่ายดาย
[แก้] คำประพันธ์
คำประพันธ์ที่ใช้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นใช้ฉันท์และกาพย์สลับกัน จึงเรียกว่า คำฉันท์ โดยมีฉันท์ถึง 20 ชนิดด้วยกัน นับว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เล่มหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังยกย่องและนับถือเป็นแบบเรื่อยมา โดยเน้นจังหวะลหุ คือเสียงเบาอย่างเคร่งครัด กำหนดเป็นสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เสมอ
[แก้] ชนิดของฉันท์ที่ใช้แต่ง
กมลฉันท์, กาพย์ฉบัง, จิตรปทาฉันท์, , โตฏกฉันท์, ภุชงคประยาตฉันท์, มาณวกฉันท์, มาลินีฉันท์, วสันตดิลกฉันท์, วังสัฏฐฉันท์, วิชชุมมาลาฉันท์, สัททุลวิกกีฬิตฉันท์, สัทธราฉันท์, สาลินีฉันท์, สุรางคนางค์ฉันท์, อินทรวิเชียรฉันท์, อินทรวงศ์ฉันท์, อีทิสังฉันท์, อุปชาติฉันท์, อุปัฏฐิตาฉันท์ และอุเปนทรวิเชียรฉันท์
อนึ่ง แม้จะใช้กาพย์ฉบัง แต่ก็ยังจัดในหมวดของฉันท์ได้ ทั้งนี้กาพย์ฉบังที่ใช้ในเรื่อง กำหนดเป็นคำครุทั้งหมด