การจัดการความรู้ในภาคราชการ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การจัดการความรู้ในหน่วยราชการ ในประเทศไทย เป็นกิจกรรมที่ถูกบังคับโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 3 มาตรา 11 ที่ระบุให้ ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และนอกจากนี้หน่วยราชการยังได้รับการบังคับโดยตัวชี้วัดการประเมินหน่วยราชการของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
สารบัญ |
[แก้] หน่วยงานแชมเปี้ยน
หน่วยงานราชการที่ดำเนินการใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือพัฒนาการดำเนินงานได้ผลดี ได้แก่
- กรมส่งเสริมการเกษตร [1] [2]
- กรมราชทัณฑ์
- กรมอนามัย [3] [4]
- กรมสุขภาพจิต [5]
- จังหวัดนครศรีธรรมราช
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลบ้านตาก
[แก้] หน่วยงานขับเคลื่อนเครือข่ายการจัดการความรู้ภาคราชการ
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน
- สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในทุกภาคส่วนของสังคม ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและภาคีหน่วยราชการ ในการนำเอาประสบการณ์ความสำเร็จของหน่วยราชการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
- สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการพัฒนาองค์กรต้นแบบ และรับให้บริการที่ปรึกษา
- บริษัทไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิสรับทำงานด้านการประเมินผลงานของหน่วยราชการให้แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
[แก้] ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการความรู้ในหน่วยราชการ
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการดำเนินยุทธศาสตร์ในปี ๒๕๕๐ ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ เรื่องเล่าจากแชมเปี้ยน
- ยุทธศาสตร์ Virtual Hall of Fame
- ยุทธศาสตร์ เวทีแชมเปี้ยน รพก. (ราชการพัฒนากันเอง)
[แก้] จุดอ่อนของการใช้การจัดการความรู้ในหน่วยราชการ
- เท่าที่ผ่านมายังมีหน่วยงานราชการไทยอีกมากมายที่ไม่สามารถใช้ การจัดการความรู้ (KM) ให้มีประโยชน์ต่องาน คน และองค์กรของตัวเอง อาจเป็นเพราะทำไปผิดทาง หรือ ตกหลุมพลางอันใหญ่ หลายอย่าง เช่น
- ผู้บริหารยังยึดติดอยู๋ในวัฒนธรรมอำนาจ หรือโครงสร้างแบบสามเหลี่ยม ทำงานแบบ (Top-down) ไม่ยอมรับหรือเปิดโอกาสให้บุคคลากรได้ร่วมคิดและแสดงความคิดเห็น
- ผู้บริหารที่ต้องการผลงาน หรือผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ใจร้อน โดยไม่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ คือวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวัฒนธรรมการทำงานแบบร่วมคิด ร่วมทำ
- องค์กรไม่มีเป้าหมายในการใช้ KM ร่วมกัน หรือ เป้าหมายที่จะนำ KM ไปใช้ เป็นเป้าหมายที่ไม่มีพลัง ไม่น่าสนใจ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ให้กับใคร (หัวปลา ไม่ดี)
- องค์กรยึดเอา KM เป็นตัวเป้าหมายเสียเอง ทำให้การใช้ KM ลอยๆ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย
- องค์กรใช้ KM แบบหลอกลวง คือ ทำไม่จริง แต่ทำเพียงเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประเมินตามตัวชี้วัดของ ก.พ.ร.
- ยึดติดในรูปแบบ หรือ ทฤษฎี KM แบบใดแบบหนึ่ง และทำโดยไม่พลิกแพลง หรือปรับให้เข้ากับคน วัฒนธรรม และวิถีการทำงานขององค์กร
- องค์กรขาด "คุณอำนวย" หรือ ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดบรรยากาศ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
- คนในองค์กรยังไม่เห็นคุณค่าใน "Tacit Knowledge" หรือ ความรู้ซ่อนเร้น ในตัวคน ที่ได้มาจากประสบการณ์จริง ได้มาจากการทำงานจริง ความรู้ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือแม้กระทั่งยังไม่เห็นคุณค่าของคนทำงานภายในองค์กรด้วยกันเอง
- คนในองค์กรยังชอบ หรือหลงบูชา ความรู้ที่เป็น "Explicit Knowledge" หรือ ความรู้ชัดแจ้ง เพียงอย่างเดียวเพราะเห็นว่า "ความรู้" ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์หรือผ่านการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญมาแล้วเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ หรือนับถือและเชื่อในความรู้ของคนต่างชาติมากกว่า
- หลงว่าการจัดการความรู้ ต้องใช้ ICT เท่านั้น มีการลงทุนกับเทคโนโลยีที่มากจนเกินไป
- คนในองค์กร อยากจะรู้เรื่อง KM ให้ชัดเจนจนละเอียดแจ่มแจ้งเสียก่อน จากการอบรม บรรยาย หรือการอ่านหนังสือ ฯลฯ โดยยังไม่คิดจะทำจริง หรือทดลองทำ ซึ่งการเข้าใจ KM หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ได้อย่างละเอียดชัดเจน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ (ผู้ปฏิบัติ คือ ผู้รู้จริง)
- คิดกลัว หรือกังวล ในอุปสรรคต่างๆ นานาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จนท้อใจและไม่สามารถเริ่มปฏิบัติได้ ซึ่งการคิดและระมัดระวังอย่างรอบด้านเป็นสิ่งที่ดีในการวางแผน แต่ไม่ควรนำมาปิดกั้นความมุ่งมั่น และการเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งใจไว้
[แก้] อ้างอิง
- สิ่งดีๆ ที่หลากหลาย สไตล์ KM (Best Practice - KM Style) รายงานประจำปี 2549 สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
- นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ 2549. สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ISBN 974-9772-24-5
การจัดการความรู้ในภาคราชการ เป็นบทความเกี่ยวกับ หน่วยงาน หรือองค์กร ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ การจัดการความรู้ในภาคราชการ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |