ก. สุรางคนางค์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ก. สุรางคนางค์ เป็นนามปากกาของ กัณหา เคียงศิริ (สกุลเดิม วรรธนะภัฎ) (เกิด 26 กุมภาพันธ์ 2454 แก่กรรม 23 มิถุนายน พ.ศ. 2542) เป็นนักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงของไทย เขียนในแนวสัจนิยม ยึดถือความสมจริง มีผลงานเขียน 200 เรื่อง คือ นวนิยายเรื่องสั้น 100 เรื่อง นวนิยายเรื่องยาว 45 เรื่อง เรื่องแปล 1 เรื่อง บทละคร 3 เรื่อง บทร้อยกรอง 1 ชิ้น และสารคดีหลายเรื่อง นอกจากเป็นนักเขียนนวนิยายแล้ว ก. สุรางคนางค์ยังเป็นนักเขียนคอลัมน์และนักไขปัญหา เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์"เมืองทอง"รายวัน และผู้อำนวยการ"นารีนารถ"รายสัปดาห์ เจ้าของสำนักพิมพ์รสมาลิน ราชวิถี ได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์มงกุฏไทย และเบญจมาภรณ์ช้างเผือก ใน ปี พ.ศ. 2495 และ 2497 ตามลำดับ เคยเป็นกรรมการฝ่ายจรรยามารยาทของสภาวัฒธรรมแห่งชาติ
[แก้] ประวัติ
ก. สุรางคนางค์ เกิด ณ ตำบลบางกอกใหญ่ ธนบุรี เป็นบุตรีของพระยาสุริยะภักดี ข้าราชการในสำนัก ตำรวจหลวง และนางสุริยะภักดี (หวั่น) เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 3 คน น้องชายชื่อชาลี น้องสาวชื่อดารา ชื่อ "กัณหา" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานให้เมื่อ พ.ศ. 2462
ระหว่างอายุ 15-16 ปี เคยเข้าไปอยู่ในวังสวนสุนันทา ก. สุรางคนางค์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ และสำเร็จระดับมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียน ราชินีบน เคยเรียนภาษาอังกฤษกับแหม่ม และเรียนภาษาฝรั่งเศสกับพระเรี่ยมวิรัชพากย์ สำเร็จแล้วเป็นครูโรงเรียนราชินีล่าง 3 ปี ประจำชั้น ม. 6 และสอนภาษาไทย เคยอยู่ในวังสวนสุนันทาและเคยเป็นครูสอนเจ้าฟ้าหญิง
ก. สุรางคนางค์ ชอบการประพันธ์ตั้งแต่อยู่ ม.6 เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ชื่อ "มาลินี" โดยใช้นามปากกาจากชื่อย่อตามด้วยคำประพันธ์ที่ชอบ เกิดเป็นนามปากกา "ก. สุรางคนางค์" ลงในเดลิเมล์วันจันทร์ นวนิยายเรื่องแรก คือ "กรองกาญจน์" โด่งดังในหมู่นักอ่านด้วยเรื่อง "หญิงคนชั่ว" ในปี พ.ศ. 2480 ช่วงระยะสงครามโลกครั้งที่สอง "บ้านทรายทอง"เป็นที่นิยม จนสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ ตามมาด้วย "ดอกฟ้า" และ"โดมผู้จองหอง" จนกระทั่ง ถึง "เขมรินทร์-อินทิรา"
ก. สุรางคนางค์ สมรสกับ ป. บูรณปกรณ์ (ปกรณ์ บูรณปกรณ์ หรือนามเดิม ป่วน บูรณศิลปิน) เมื่อ 23 ธันวาคม 2497 มีหม่อมเจ้า พิจิตรจิรภา เทวกุล ประทานงานสมรสให้ เนื่องจากบิดาไม่ยอมให้แต่งงานเพราะรังเกียจอาชีพนักเขียนไส้แห้งของ ป. บูรณปกรณ์ มีธิดาและบุตร 2 คน คือ นุปกรณ์ (ตุ๊ดตู่) และกิติปกรณ์(ติ๊ดตี่) เมื่อ ป. บูรณปกรณ์ถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาจึงสมรสใหม่ กับเล็ก เคียงศิริ
ก. สุรางคนางค์ถึงแก่กรรมเมื่อเช้าวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ที่บ้านซอยอ่อนนุช
[แก้] ผลงานที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว
- กรองกาญจน์,
- กุหลาบแดง
- เขมรินทร์ -อินทิรา
- คนรักของข้าพเจ้า
- ความคิดคำนึง
- ค่าชีวิตสาว
- คุณครูอินทิรา
- คุณหญิงพวงแข
- คู่ครอง
- จอมเทียน
- จุดหมายปลายทาง
- ชั่วชีวิตหนึ่ง
- ชุมทางรัก
- ดอกฟ้า (สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก พ.ศ. 2499)
- ดาวประดับเกียรติ
- โดมผู้จองหอง
- ถ่านไฟเก่า
- ทางสายเปลี่ยว (เป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง)
- เทพราช
- ธารโศก
- บ้านทรายทอง (สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก พ.ศ. 2499)
- ปราสาททราย
- ปราสาทรัก
- ปลายเนิน
- ปัทมา วรารักษ์
- ปิ่นไพร
- พจมาน สว่างวงศ์
- พวงร้อย (รวมเรื่องสั้น)
- พันทิพา
- เพื่อนบ้าน
- ภายใต้ดวงดาว
- ภูชิชย์-นริศรา
- ยอดปรารถนา
- รอยจารึก
- รักประกาศิต
- ราชาวดีสีม่วง
- รุ่งอรุณ
- เรวดี
- แรงอธิษฐาน
- ลูกรักลูกชัง
- วสันต์พิศวาส
- สะใภ้ท่านข้าหลวง
- หญิงคนชั่ว (สร้างเป็นภาพยนตร์ พ.ศ. 2498)
- หมอภัคพงศ์
[แก้] นามปากกา
- ก. สุรางคนางค์ ใช้เขียนนวนิยาย เรื่องสั้นและเรื่องยาว
- รสมาลิน เขียนคอลัมน์
- นคร สุรพันธ์ เขียนสารคดี
- มลฤดี ใช้เขียนคอลัมน์ตอบปัญหาประจำนิตยสารสกุลไทย ต่อมา กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ใช้นามปากกานี้ตอบปัญหาในคอลัมน์แทน
ก. สุรางคนางค์ เป็นบทความเกี่ยวกับ นักเขียน หรือ นักประพันธ์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ก. สุรางคนางค์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |