ขนมจีน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขนมจีน เป็นอาหารคาวอย่างหนึ่งของไทย ประกอบด้วยเส้นเรียกว่า เส้นขนมจีน และน้ำยา หรือน้ำยาขนมจีน เป็นที่นิยมทุกท้องถิ่นของไทย แต่มีการปรุงน้ำยาที่แตกต่างกัน
แม้ว่า ขนมจีน จะมีคำว่า "ขนม" แต่ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับขนมใดๆ ขณะเดียวกัน แม้จะมีคำว่า "จีน" แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารของจีน ภาษาเหนือเรียก ขนมเส้น ภาษาอิสาน เรียก ข้าวปุ้น จะมีขนมจีนชนิดหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกับขนม คือ ขนมจีนซาวน้ำ เพราะมีรสหวาน
สารบัญ |
[แก้] เส้นขนมจีน
เส้นขนมจีนนั้นทำมาจากแป้งข้าวเจ้า นวดแล้วเทใส่กระบอกทองเหลือง มีรูเจาะไว้ที่ปลายด้านหนึ่ง เมื่อกดแป้งเข้าไปในกระบอก เส้นขนมจีนก็จะไหลออกจากปลายกระบอก เป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตร
ภาคเหนือ เรียกว่า ขนมเส้น, ภาคอีสาน เรียกว่า ข้าวปุ้น, ภาคกลาง เรียกว่า ขนมจีน, ภาษาอังกฤษ เรียกว่า chinese noodle หรือ vermicelli
เส้นขนมจีนที่ได้ มักจะจัดเรียงเอาไว้เป็นกลุ่มๆ ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ บางถิ่นเรียก จับ หรือ หัว เมื่อเรียงในจานสำหรับรับประทาน จะใส่ประมาณ 3-4 จับ
เส้นขนมจีนนั้นทำมาจากแป้งข้าวเจ้าโดยจะต้องนำแป้งข้าวเจ้ามาโม่ก่อน แล้วนำแป้งข้าวเจ้าไปหมักในบ่อหมักประมาณเจ็ดวัน เมื่อหมักแล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้ง นวดเสร็จก็นำเข้าเครื่องบีบเพื่อทำให้เป็นเส้นขนมจีน เมื่อได้เส้นแล้วก็ ทำต้มในน้ำร้อนเดือดเพื่อทำความสะอาด แล้วนำมาร้าดด้วยน้ำสะอาดอีกทีหนึ่ง ก่อนที่จะนำเส้นไปจับเป็นจีบ โดยที่ ตะกร้าขนมจีนจะต้องรองด้วยใบตองก่อนที่จะ นำขนมจีนมาวางใส่
[แก้] น้ำยา
น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่น น้ำยาป่า น้ำพริก น้ำแกง น้ำเงี้ยว สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้น
[แก้] การรับประทาน
เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจีนแล้ว ผู้รับประทานจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว ใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา (บางท่านนิยมรับประทานขนมจีนกับน้ำปลารสดีก็ได้) นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น ทว่าไม่นิยมเติมเครื่องปรุงรสอื่นๆ ในขนมจีน