จำลอง สารพัดนึก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จำลอง สารพัดนึก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2475 ในครอบครัวชาวนาเชื้อสายมอญ อำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของนายทวน และนางลิ้นจี่ สารพัดนึก เป็นนักวิชาการด้านภาษาตะวันออกและภาษาโบราณ ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี ภาษามอญ และพุทธศาสนา เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเกษียณอายุราชการและได้เป็นอาจารย์พิเศษรับเชิญของหลายสถาบัน มีผลงานปรากฏเป็นหนังสือและตำราเรียนกว่าร้อยเล่ม
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
ดร.จำลอง สารพัดนึก เป็นชาว ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เกิดเมื่อพ.ศ. 2475 ในครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพทำนา และมีฐานะยากจนมากครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น ภายหลังเนื่องจากการทำนาได้รายได้น้อยไม่พอจุนเจือครอบครัว บิดาของท่านจึงเปลี่ยนมาขายข้าวสาร โดยซื้อข้าวใส่เรือแจวล่องมาขายที่กรุงเทพ ฯ ในย่านคลองผดุงกรุงเกษม แต่เมื่อบวกกับภาระหนี้สินแล้วฐานะของครอบครัวก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
ในวัยเด็ก ดร.จำลองได้เริ่มการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดมะขาม ใกล้กับบ้าน และบิดาก็ได้นำมาฝากเป็นศิษย์วัดไว้กับพระอธิการพลาย ถาวโร เจ้าอาวาสในขณะนั้นซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของดร.จำลองด้วย ดังนั้นนอกจากภาระการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จึงต้องคอยปรนนิบัติหลวงตาตามกำลังของตน กระนั้นเมื่อเสร็จจากภาระที่โรงเรียนและวัดแล้วก็ยังต้องรีบกลับบ้านเพื่อช่วยเหลือภาระงานทางบ้านอีก ทำให้ชีวิตในวัยเด็กต้องประสบกับความยากลำบาก และไม่ได้เล่นสนุกสนานเช่นเด็กอื่น ๆ
หลังจากจบชั้น ป.4 จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2487 โดยมีกำหนดการแรกเริ่มจะบวชเพียง 15 วันเท่านั้น แต่ด้วยจิตที่ใฝ่ในทางพระศาสนามาแต่เล็กทำให้มีศรัทธาจะอยู่ในเพศบรรพชิตต่อมา และได้ศึกษาเล่าเรียนนักธรรมด้วยความพากเพียรมาก ถึงจะสอบตกก็หาได้ทำให้ความมุ่งมั่นของสามเณรจำลองลดถอยลงไม่ ในภาวะหลังสงครามโลกขณะนั้นที่วัดมะขามไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งยังขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงจุดตะเกียง ในยามกลางคืนที่อัตคัดบางครั้งพระเณรถึงกับต้องใช้ธูปจุดไฟรวมเป็นกำแล้วเป่าไฟส่องหนังสืออ่านแล้วท่องจำเป็นตอน ๆ ไป ในช่วงที่บวชเป็นสามเณรที่วัดมะขามนั้นท่านได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษโดยขอร้องให้ผู้รู้ช่วยสอนให้ แม้จะเริ่มได้อย่างกระท่อนกระแท่นแต่ก็ได้พยายามฝึกฝนต่อมาอย่างสม่ำเสมอ
พ.ศ. 2491 พระอธิการพลาย ถาวโรได้นำสามเณรจำลองมาฝากให้ศึกษาต่อที่วัดอนงคาราม ธนบุรีในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) เป็นเจ้าอาวาส ได้ศึกษานักธรรมเอกและภาษาบาลีในสำนักเรียนวัดอนงคาราม รวมทั้งได้ซื้อตำราภาษาอังกฤษมาศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง ขณะเป็นสามเณรเปรียญสอบได้ป.ธ.4 ได้สอบเข้าศึกษาต่อที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ฯ โดยเป็นนิสิตรุ่นแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยนั้นจนอายุครบบวชเมื่อ พ.ศ. 2496 ได้อุปสมบทที่วัดมะขาม จ.ปทุมธานี โดยมีพระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งพ.ศ. 2498 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ช่วงที่ศึกษาในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ศึกษาวิชาความรู้หลายอย่าง แต่มีวิชาหนึ่งที่ชอบและสนใจเป็นพิเศษคือวิชาภาษาสันสกฤต โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ผู้ทรงความรู้ได้มีวีการสอนที่ดีและให้กำลังใจเป็นอันมาก คือ ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาสัย และท่านศาสตราจารย์แสง มนวิทูร รวมถึงได้ศึกษากับอาจารย์ชาวอินเดียคือพราหมณ์สัตยนารายณ์ ตริปาฐิ ส่วนในด้านภาษาบาลีนั้นก็ได้รับคำชมเชยจากอาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างดีเช่นกัน
หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิตแล้ว พ.ศ. 2507 ได้รับทุนมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ไปศึกษาต่อด้านภาษาสันสกฤตระดับปริญญาโท ที่ Banaras Hindu University เมืองพาราณสี ประเทศอินเดียได้รับปริญญา M.A.(Sanskrit)เมื่อจบการศึกษาในปี 2509 ได้กลับเข้ามาทำงานในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ปรับปรุงหลักสูตรและตำราเรียนภาษาสันสกฤตหลายเล่ม จนปี พ.ศ.2511 ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์ และได้รับนิมนต์ไปช่วยสอนภาษาสันสกฤต ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
[แก้] การทำงาน
พ.ศ.2512 ได้ลาสิกขา หลังจากนั้น ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้รับไว้เป็นอาจารย์พิเศษด้านภาษาสันสกฤต ที่คณะโบราณคดีต่อมา จนได้บรรจุเข้ารับราชการ และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านภาษาสันสกฤตที่ มหาวิทยาลัยสัมปูรณานันท สันสกฤต เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ฤคเวทียปฺรถมมณฺฑลสฺย สมาโลจนาตฺมกมฺ อธฺยยนมฺ (พ.ศ. 2523-2525) จากนั้นได้กลับมารับราชการต่อที่คณะโบราณคดี จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2527 และลาออกจากตำแหน่งคณบดี เมื่อ พ.ศ. 2529 ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนเพียงอย่างเดียวนับแต่นั้น
ดร.จำลอง สารพัดนึกเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านภาษาสันสกฤต มีความชำนาญภาษาสันสกฤตสมัยพระเวท วรรณคดีสันสกฤต ภาษาบาลี ภาษาฮินดี และภาษามอญ เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปสัมมนาด้านภาษาสันสกฤตพร้อมกับ ศ.มล.จิรายุ นพวงศ์ ที่ประเทศอินเดีย และได้ร่วมเป็นผู้พิจารณาร่างหลักสูตรปริญญาโทอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญและอาจารย์พิเศษด้านภาษาสันสกฤตให้กับหลายสถาบัน นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมพระไตรปิฎกของราชบัณฑิตยสถาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโครงการจัดทำพจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทยฉบับเฉลิมพระเกียรติ ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ดร.จำลอง สารพัดนึกได้รับรางวัลเข็มเกียรติคุณ "พระเกี้ยวทอง" จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. 2531 และหลังเกษียณอายุราชการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มอบให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัย
ด้านชีวิตครอบครัวได้สมรสกับ อ.สุรีย์ สารพัดนึก มีธิดาหนึ่งคนคือ ดร.จิตตาภา สารพัดนึก ไชยปัญญา ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
[แก้] ผลงาน
ดร.จำลอง สารพัดนึก เป็นนักวิชาการที่มีความพากเพียรมาก มีผลงานวิชาการทั้งที่เป็นตำรา งานแปล และงานวิจัยมากกว่า 100 เรื่อง นับว่าเป็นนักวิชาการด้านภาษาบาลีสันสกฤตที่มีผลงานปรากฏในวงวิชาการมากที่สุดผู้หนึ่งของไทย ปัจจุบันโครงการสำคัญที่กำลังทำอยู่คือพจนานุกรมสันสกฤต-ไทยซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร
ผลงานที่สำคัญ ได้แก่
- แบบเรียนภาษาบาลี
- แบบเรียนภาษาสันสกฤต
- ตำราภาษาอังกฤษ
- แบบเรียนภาษามอญ
- พจนานุกรมบาลี-ไทย
- ตำราวรรณคดีสันสกฤต
- สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (แปล)
- ปรัชญาปารมิตาหฤทยสูตรและสุขาวดีสูตร (แปล)
- ศิลาจารึกอโศก (แปล)
- ตำราภาษาฮินดี
- สุภาษิตสันสกฤต
- ประวัติวรรณคดีสันสกฤต
- อิทธิพลของสันสกฤตอันมีต่อภาษาไทย (งานวิจัย)
- อิทธิพลของคำบาลีอันมีต่อภาษาไทย (งานวิจัย)
[แก้] อ้างอิง
- ดร.จำลอง สารพัดนึก. ชีวิตที่ไม่คาดฝัน อัตชีวประวัติของลูกชาวนายากจนคนหนึ่ง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.