จิมมี เวลส์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิมมี ดอนัล "จิมโบ" เวลส์ (Jimmy Donal "Jimbo" Wales) (เกิด 7 สิงหาคม พ.ศ. 2509) เป็นผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตชาวอเมริกัน และเป็นผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นสารานุกรมเนื้อหาเสรีบนอินเทอร์เน็ตที่เปิดให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ไขได้
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
จิมมี เวลส์ เกิด 7 สิงหาคม พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) ที่เมืองฮันตส์วิลล์ มลรัฐแอละแบมา เขาเริ่มการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยออเบิร์น (Auburn University) และได้เปลี่ยนมหาวิทยาลัยมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแอละแบมา (University of Alabama) ภายหลังจบการศึกษา เวลส์ได้เข้าศึกษาต่อปริญญาเอกทางด้านการเงิน ทั้งที่มหาวิทยาลัยออเบิร์น และมหาวิทยาลัยอินดีแอนา (Indiana University) พร้อมทั้งทำงานเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งด้วย แต่มิได้เขียนวิทยานิพนธ์ (dissertation) เพื่อจบการศึกษา ภายหลังเวลส์ได้ออกมาเป็นผู้ค้าตราสารล่วงหน้า (futures contract) และตราสารสิทธิ (stock option) ในชิคาโก ภายในเวลาไม่กี่ปี จิมมี เวลส์ สามารถหาเงินได้มากพอที่จะ "เลี้ยงตัวเขาเองและภรรยาได้ตลอดชีวิต" (อ้างจากบทความในนิตยสาร Wired ฉบับมีนาคม 2005)
ใน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) จิมมี เวลส์ได้ก่อตั้งเซิร์ชพอร์ทัลชื่อ โบมิส (Bomis) เซิร์ชพอร์ทัลดังกล่าวมีส่วนหนึ่งที่ชื่อ "โบบิสเบบส์" ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจินสำหรับค้นหาภาพโป๊ ปัจจุบันเวลส์ไม่ได้เป็นเจ้าของโบมิสแล้ว แต่ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับโครงการวิกิต่าง ๆ ที่เขาก่อตั้งขึ้นภายหลัง
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) จิมมี เวลส์ได้ก่อตั้งสารานุกรมเนื้อหาเสรีที่มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเนื้อหา (peer review) โดยใช้ชื่อว่า นูพีเดีย (Nupedia) ซึ่งมีคำขวัญคือ "สารานุกรมฟรี" ("the free encyclopedia") และได้ว่าจ้าง แลร์รี แซงเกอร์ ให้เป็นหัวหน้าบรรณาธิการของนูพีเดีย
[แก้] ผลงาน
[แก้] การพัฒนาวิกิพีเดีย
ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) เวลส์และแซงเกอร์ได้ตั้งวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิกิในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับนูพีเดียขึ้น โดยตั้งใจว่าจะใช้วิกิพีเดียเป็นพื้นที่ระดมความคิดสำหรับเขียนเนื้อหาสารานุกรมในขั้นต้น ก่อนที่จะส่งไปที่นูพีเดียเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง การเติบโตอย่างรวดเร็วของวิกิพีเดียในเวลาต่อมาทำให้วิกิพีเดียกลายเป็นโครงการหลักและโครงการนูพีเดียต้องระงับไป ในระยะแรกของการพัฒนาวิกิพีเดียนั้น แซงเกอร์เป็นผู้ดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เวลส์เป็นผู้ออกเงินทุน เวลส์ถือว่าตนเองเป็นผู้ก่อตั้งวิกิพีเดียแต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ว่าแซงเกอร์จะยังคงเรียกตนเองว่าเป็น "ผู้ร่วมก่อตั้ง" วิกิพีเดียก็ตาม แซงเกอร์ได้ยุติการทำงานในโครงการวิกิพีเดียในเวลาต่อมา โดยประกาศการลาออกไว้ที่หน้าผู้ใช้วิกิพีเดียของเขาเอง หลังจากลาออก แซงเกอร์ได้วิพากษ์วีธีที่เวลส์ดำเนินโครงการ [1] โดยวิจารณ์ว่าเวลส์เป็นบุคคลจำพวก "ต่อต้านพวกหัวกะทิอย่างสิ้นเชิง" ("decidedly anti-elitist") ซึ่งเวลส์ไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ของแซงเกอร์ และกล่าวว่าตนไม่ได้ต่อต้านพวกหัวกะทิ แต่ "น่าจะเป็นจำพวกต่อต้านพวกถือใบประกาศฯ (anti-credentialist) มากกว่า สำหรับผม สิ่งสำคัญคือทำให้ถูกต้อง และถ้ามีใครก็ตามที่เป็นคนฉลาดและทำงานได้น่าอัศจรรย์แล้วล่ะก็ ผมไม่สนหรอกว่าเขาจะเป็นนักเรียนมัธยมปลายหรือศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด งานที่เขาทำต่างหากที่สำคัญ ... คุณหวังพึ่งใบประกาศฯ ของคุณในวิกิพีเดียไม่ได้หรอก ... คุณต้องเดินเข้าตลาดความคิดและสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ"
ในกลางปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) เวลส์ได้ก่อตั้งมูลนิธิวิกิมีเดียขึ้น โดยเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งในเมืองแทมปา มลรัฐฟลอริดา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องอื่น ๆ นับแต่นั้น บทบาทของเวลส์จะเพิ่มขึ้นจากเดิมในด้านการส่งเสริมและการพูดในที่ต่าง ๆ ถึงโครงการของมูลนิธิ นับถึงปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) เวลส์ยังคงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอยู่
ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) มีการอ้างคำพูดของเวลส์ว่าเขาใช้เงินส่วนตัวประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการก่อตั้งและดำเนินงานโครงการวิกิต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดการระดมทุนของมูลนิธิวิกิมีเดียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) มูลนิธิได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นทั้งหมดจากสิ่งของและเงินบริจาค
เวลส์ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "จอมเผด็จการผู้เมตตา (benevolent dictator)" ของวิกิพีเดียด้วย ถึงแม้เวลส์จะไม่สนับสนุนการใช้คำนี้ก็ตาม เวลส์ยังคงมีอำนาจการควบคุมสูงสุดในมูลนิธิวิกิมีเดีย โดยนอกจากตัวเขาเองจะเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิแล้ว เขายังเสนอชื่อหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาจำนวนสองคน ซึ่งมิได้เป็นผู้แก้ไขวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอ ให้ร่วมเป็นกรรมการด้วย ซึ่งเนื่องจากคณะกรรมการบริหารมูลนิธิมีอยู่ด้วยกันห้าคน โดยพฤตินัยแล้วจึงถือว่าเวลส์ครองเสียงข้างมาก (สามเสียง) ในคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม เวลส์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากกรรมการในฟากผู้แก้ไขวิกิพีเดียอย่าสม่ำเสมอทั้งสองคนเห็นพ้องกันในญัตติใดญัตติหนึ่งแล้วแล้ว ตนจะออกเสียงสนับสนุนด้วย ซึ่งมีผลทำให้กรรมการฟากผู้แก้ไขได้รับเสียงข้างมาก เวลส์ยังกล่าวด้วยว่าคำว่า "จอมเผด็จการผู้เมตตา" ใช้กันมากโดยสื่อมวลชน แต่ชุมชนวิกิพีเดียไม่ยอมรับคำนี้
[แก้] โครงการอื่น ๆ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เวลส์ได้ก่อตั้งบริษัทวิเกีย (Wikia) ซึ่งเป็นบริษัทแสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเจ้าบ้าน (host) ให้โครงการวิกิต่าง ๆ และดูแลโครงการวิกิซิตีส์ (Wikicities) ซึ่งมีลักษณะเดียวกับวิกิพีเดีย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลจากความสำเร็จของวิกิพีเดีย
[แก้] เกร็ดข้อมูล
มีคำกล่าวว่า "จิมมี เวลส์ได้เกรด D วิชาพูดหน้าชั้นเรียน แต่ขณะนี้จิมมี เวลส์ได้พูดต่อหน้าสาธารณชนมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก"