ซอฟต์แวร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ หากคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือมีความรู้เกี่ยวกับบทความนี้ สามารถช่วยปรับปรุงเนื้อหาได้โดยการกด แก้ไข ด้านบน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การจัดย่อหน้า คู่มือการเขียน การอ้างอิง และ นโยบายวิกิพีเดีย |
ซอฟต์แวร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่มีคุณลักษณะเป็นโอเพนซอร์ส ซึ่งมีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของเศรษฐกิจพอเพียง ในอันที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับงานได้ในทุกระดับ มีความเป็นกลางทางเทคโนโลยี และมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
ในปี พ.ศ. 2549 สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนซอฟต์แวร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีแนวทางต่างๆ ดังนี้
แนวทางที่ 1 การจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติ ดำเนินการจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติ เพื่อสะสมข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในเชิงโอเพนซอร์สได้แก่ ข้อมูลเอกสารทางราชการ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป โดยอาจจะเป็นข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการผ่านระบบ e-Government หรือ ระบบการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (work flow) ของระบบราชการ เป็นต้น
แนวทางที่ 2 การสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจโดยใช้โอเพนซอร์สในการสร้างฐาน (Platform) สำหรับ e-Government, e-Commerce, e-Business เพื่อลดข้อจำกัดและเพิ่มช่องทางในเรื่องของการสนองความต้องการของลูกค้า (customization)
แนวทางที่ 3 การติดตามการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จัดทำดัชนีตัวชี้วัดเพื่อสำรวจ ติดตาม และคาดการณ์แนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยจะแบ่งกลุ่มผู้ใช้งาน ออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้งาน Server, กลุ่มผู้ใช้งาน Desktop, กลุ่มผู้ใช้งาน Database, กลุ่มผู้ใช้งาน Office, และกลุ่มผู้ใช้งาน Web site
แนวทางที่ 4 การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนด้าน ICT ให้เข้าถึงแก่นเทคโนโลยี ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนด้าน ICT ทั้งในระดับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย โดยนำโอเพนซอร์สมาใช้ในการปฏิรูป เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาของวิชาได้ในเชิงลึกมากขึ้น
แนวทางที่ 5 การยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้าน ICT ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดสอบมาตรฐานให้กับบุคลากรด้าน ICT โดยไม่อิงกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์ค่ายใดค่ายหนึ่ง
แนวทางที่ 6 การจัดตั้งคลังซอฟต์แวร์แห่งชาติ ดำเนินการรวบรวมซอฟต์แวร์ที่มีอยู่มาจัดให้เป็นระบบ เพื่อลดปัญหาของความซ้ำซ้อนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ อันจะส่งผลให้เกิดกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มจากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และขยายต่อไปถึงซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่มีอยู่ต่อไป
แนวทางที่ 7 การส่งเสริมและพัฒนาข้อมูลและซอฟต์แวร์เข้าสู่มาตรฐานสากล ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานข้อมูล และมาตรฐานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเริ่มจากการผลักดันการศึกษานโยบายในเรื่องของมาตรฐานข้อมูล และมาตรฐานซอฟต์แวร์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดรายละเอียดของมาตรฐานดังกล่าวด้วย
แนวทางที่ 8 การส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในใบอนุญาตสิทธิ์สำหรับซอฟต์แวร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้กับนักพัฒนาและผู้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับใบอนุญาตสิทธิ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม
ซอฟต์แวร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง เป็นบทความที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ซอฟต์แวร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |