ดาวเหนือ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดาวเหนือ (Polaris หรือ Cynosura) (α UMi / α หมีเล็ก / แอลฟาหมีเล็ก) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมีเล็ก และอยู่ใกล้กับขั้วฟ้าเหนือ จึงปรากฏเหมือนอยู่นิ่งกับที่บนท้องฟ้า (แท้จริงเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น เพราะแกนหมุนของโลกมีการส่าย)
การที่ดาวเหนืออยู่ในทิศทางที่เกือบจะเป็นทิศทางเดียวกับแกนหมุนของโลก ดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ จึงดูเหมือนเคลื่อนที่วนเป็นวงกลมรอบดาวเหนือ นักสำรวจอาศัยดาวเหนือในการเดินเรือ ปัจจุบันดาวเหนือไม่ได้อยู่ตรงกับขั้วฟ้าเหนือแต่ห่างจากขั้วฟ้าเหนือเล็กน้อย (ไม่เกิน 1°) จึงเคลื่อนที่เป็นวงกลมเล็ก ๆ ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2° มีเพียงสองเวลาในวันหนึ่ง ๆ ที่ดาวเหนืออยู่ตรงกับทิศเหนือพอดี ส่วนในเวลาอื่นต้องอาศัยตารางคำนวณเพื่อหาทิศเหนือที่แม่นยำ
แท้จริงแล้วดาวเหนือไม่ได้บอกทิศเหนือตลอดไป การที่แกนหมุนของโลกส่ายคล้ายลูกข่างด้วยคาบ 26,000 ปี ทำให้ดาวฤกษ์ดวงอื่นเคยเป็นดาวเหนือมาก่อน เช่น ดาวทูแบนในกลุ่มดาวมังกร ส่วนในอนาคต จะเป็นดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ
ในอนาคตอันใกล้นี้ เรายังสามารถใช้ดาวเหนือบอกทิศเหนือได้ต่อไป โดยที่ดาวเหนือจะอยู่ใกล้ขั้วฟ้าเหนือมากที่สุดในปี ค.ศ. 2100 ด้วยระยะห่างไม่เกินครึ่งองศา
เราสามารถค้นหาดาวเหนือได้จากการลากเส้นตรงผ่านดาว 2 ดวงของกลุ่มดาวหมีใหญ่ ((β และ α หมีใหญ่) ไปหาดาวเหนือได้ เรียกดาว 2 ดวงนี้ว่าดาวชี้ (Pointers) หรือไม่ก็ลากเส้นผ่านแบ่งครึ่งผ่านกลางกลุ่มดาวแคสซิโอเปียที่มีรูปร่างเหมือนตัวอักษร W
การเป็นที่รู้จักของดาวเหนือ ทำให้คนจำนวนมากคิดว่าดาวเหนือเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า, แต่ในความเป็นจริง ดาวเหนือเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับที่ 47. ส่วนดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า (ยกเว้นดวงอาทิตย์) คือ ดาวซิริอัส
ข้อมูลจากดาวเทียมฮิปปาร์คอส พบว่าดาวเหนืออยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 431 ปีแสง (132 พาร์เซก) เป็นดาวยักษ์ใหญ่หรือดาวยักษ์ที่มีฤกษ์จาง ๆ 2 ดวงเป็นสหาย ดวงแรกมีชนิดสเปกตรัม F3 V อยู่บนแถบลำดับหลัก ห่างจากดาวแม่ประมาณ 2,000 หน่วยดาราศาสตร์ อีกดวงอยู่ใกล้กว่าด้วยกึ่งแกนเอกของวงโคจรเพียง 5 หน่วยดาราศาสตร์ ดาวเหนือเป็นดาวฤกษ์ดาวแปรแสงดวงหนึ่ง ราวปี ค.ศ. 1900 ดาวเหนือมีความสว่างขึ้นลงประมาณ 8% (คิดเป็น 0.15 โชติมาตร) ด้วยคาบ 3.97 วัน ปี ค.ศ. 2005 ความสว่างเปลี่ยนแปลงเพียง 2% นอกจากนี้ยังมีความสว่างมากกว่าปี ค.ศ. 1900 อยู่ประมาณ 15% รวมทั้งคาบก็เพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 8 วินาทีต่อปี
งานวิจัยเมื่อเร็วนี้ ๆ บ่งชี้ว่าในยุคที่ทอเลมียังมีชีวิตอยู่ ดาวเหนืออาจสว่างกว่านี้ 2.5 เท่า ซึ่งถ้าหากเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวเหนือ จะสูงเกินกว่าผลการพยากรณ์โดยอาศัย ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาวฤกษ์
ในท้องฟ้าซีกใต้ ไม่มีดาวฤกษ์สว่างที่อยู่ใกล้ขั้วฟ้าใต้ ดาวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและอยู่ใกล้ขั้วฟ้าใต้มากที่สุด คือ ดาวซิกมาออกแทนต์ (บางครั้งเรียกว่า Polaris Australis) อย่างไรก็ตาม คนในซีกโลกใต้สามารถใช้กลุ่มดาวกางเขนใต้ในการคะเนตำแหน่งของทิศใต้