ธงชาติจีน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงชาติจีน ในที่นี้หมายถึงธงประจำชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อเรียกทั่วไปว่า ธงแดงดาว 5 ดวง (จีนย่อ: 五星红旗 พินอิน: wǔ xīng hóng qí) มีต้นแบบมาจากธงชาติจีนที่เจิงเหลียนซง นักเศรษฐศาสตร์และศิลปินชาวรุ่ยอาน ออกแบบและส่งเข้าประกวดต่อสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (ซึ่งเป็น 1 ในธง 3,012 แบบที่ส่งเข้าประกวดจากทั่วประเทศ) ภายหลังสภาที่ปรึกษาทางการเมืองได้ปรับปรุงแบบธงบางประการและประกาศรับรองแบบธงเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2492 และประกาศใช้เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน พร้อมกับการประกาศใช้เพลงชาติและตราสัญลักษณ์ประจำชาติ
[แก้] ลักษณะธง
ธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นธงรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นสีแดง ที่มุมธงบนด้านต้นธงมีรูปดาวสีเหลือง 5 ดวง ลักษณะเป็นรูปดาวดวงใหญ่ 1 ดวง ล้อมรอบด้วยดาวดวงเล็กอีก 4 ดวง
[แก้] ความหมายในธง
พื้นสีแดง หมายถึง สัญลักษณ์ของการปฏิวัติจีน
ดวงดาวสีเหลือง 5 ดวง ซึ่งเรียงกันคล้ายกับลักษณะแผนที่ประเทศจีน หมายถึง ความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวจีนทั้งประเทศ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน
ดาวดวงใหญ่ หมายถึง ผู้นำแห่งกิจการงานทั้งปวง ได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน
ดาวดวงเล็ก 4 ดวง มีนัยสำคัญหลายประการ ดังที่เจิงเหลียนซง ผู้ออกแบบธงชาติ ได้อธิบายไว้ดังนี้
- ประชาชนชาวจีนซึ่งขณะนั้นมีราว 400 ล้านคน
- ชนชั้นหลักทั้ง 4 ในสังคม คือ ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นเกษตรกร ชนชั้นนายทุนน้อย (หรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก) และชนชั้นนายทุนแห่งชาติ
- กำลังสำคัญของประเทศ 4 ฝ่าย ได้แก่ พรรคการเมืองจากมวลชน ประชาชนทุกหมู่เหล่าในสังคม บุคคลจากทุกวงการ ชาวจีนชนเผ่าต่างๆ ทั้ง 56 ชนเผ่าและชาวจีนโพ้นทะเล
- ประวัติศาสตร์ชนชาติิจีนอันยาวนานกว่า 4,000 ปี
สีเหลือง หมายถึง ชาวจีนซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนผิวเหลือง และประเทศที่มีดินสีเหลืองเป็นผืนแผ่นดินส่วนใหญ่
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ธงชาติจีน โดย ผู้จัดการออนไลน์
- บิดาแห่งธงชาติจีน โดย ผู้จัดการออนไลน์