ธงมหาราช
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงมหาราช เป็นธงสำหรับหมายพระอิสริยยศสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ธงมหาราชใหญ่และธงมหาราชน้อย มีลักษณะตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ดังนี้
ธงมหาราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
ธงมหาราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
[แก้] ประวัติธงมหาราช
เดิมคือธงเรือหลวง ซึ่ง รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้เรือหลวงแสดงความแตกต่างจากเรือราษฎร ได้โปรดให้ทำรูปจักรลงไว้กลางธงพื้นแดงนั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง และต่อมาสมัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้มีรูปช้างเผือก ลงไว้กลางวงจักรเพิ่มขึ้นมา
ในรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า เรือค้าขายของชนชาวสยามที่ใช้ธงแดงเกลี้ยงอยู่นั้น ไม่เป็นการสมควร เพราะจะไปซ้ำกับประเทศอื่น จึงโปรดให้ใช้ธงรูปช้างเผือกบนพื้นแดง กับเรือทั่วไป ส่วนเรื่อหลวงให้ใช้รูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบ
พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 110 ให้เปลี่ยนเป็นธง และเรียกว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116 ) เปลี่ยนชื่อธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช