ฝีดาษ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฝีดาษ(Smallpox) ไข้ทรพิษ หรือ ไข้หัว เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจาก poxvirus (Variolar) มีลักษณะเฉพาะคือมีผื่นขึ้นตามตัว และมีอาการทั่วไปรุนแรง โรคนี้ระบาดในประเทศ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถานและเอธิโอเปียเมื่อปี พ.ศ. 2519 สำหรับประเทศไทยมีการบันทึกไว้ว่าระบาดครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2504 องค์การอนามัยโลกได้เลิกฉีดวัคซีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แต่ที่มีความกังวลว่าจะมีการนำเชื้อนี้มาใช้ในสงคราม โดยประเทศรัสเซียได้มีการพัฒนาเชื้อชนิดนี้ไว้ใช้ในสงคราม
สารบัญ |
[แก้] ประวัติการระบาด
ในสมัยโบราณ ฝีดาษเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งดังมีหลักฐานแสดงว่าเมื่อ 3,000 ปีก่อน ชาวอินเดียนับหมื่นต้องเสียชีวิตด้วยโรคร้ายชนิดนี้ เมื่อนายพล Cortez นำทหารบุกเข้ายึดอาณาจักร Aztec ทหารที่เป็นโรคฝีดาษได้แพร่ระบาดโรคฝีดาษ ไปสู่ชนพื้นเมืองทำให้ชนพื้นเมืองที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเลยต้องตายเป็นจำนวนนับแสนคน การสูญเสียผู้คนจำนวนมากเช่นนี้มีส่วนทำให้อาณาจักร Aztec ล่มสลายในเวลาต่อมา
ฝีดาษมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า variola major คำว่า variola มาจากคำในภาษาละตินว่า varus ซึ่งแปลว่า ตุ่มตามตัว เนื่องจากเมื่อ 200 ปีก่อน เวลาใครเป็นโรคชนิดนี้ 20-40% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต ส่วนคนที่หายป่วยจะมีแปลเป็นตามตัวและใบหน้า
ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกว่า George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ในวัยหนุ่มเคยเป็นโรคฝีดาษ เขาจึงต้องต่อสู้กับโรคร้ายและทหารอังกฤษไปพร้อมกัน และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคเขาก็สั่งให้ทหารทุกคนในกองทัพเข้ารับการปลูกฝีทันที ซึ่งมีผลทำให้กองทัพของเขารบชนะข้าศึกในที่สุด ส่วน Thomas Jefferson ได้บันทึกว่า ทาสของเขาที่หลบหนีไปเข้ากับกองทัพอังกฤษ หลายคนเป็นโรคฝีดาษ และในปี พ.ศ. 2306 กองทัพอังกฤษได้ให้ผ้าห่มของคนที่เป็นฝีดาษแก่ชาวอินเดียนแดงที่ Fort Pitt เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ฝีดาษเป็นอาวุธสงคราม
ประเทศจีนในสมัยก่อน ผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษจะถูกกักบริเวณไม่ให้ออกนอกพื้นที่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยสูดดมควันที่ได้จากการเผาสะเก็ดแผลของคนที่หายจากฝีดาษแล้ว ในตะวันออกกลางและแอฟริกา หมอผีจะเอาหนองสด ๆ จากคนที่กำลังเป็นฝีดาษ มาทาตามผิวที่มีรอยขีดข่วนของคนที่ยังไม่เป็น และพบว่าวิธีนี้ทำให้คนบางคนตายด้วยโรคฝีดาษ ในเวลาต่อมา
[แก้] สาเหตุของโรค
เกิดจาก ดีเอ็นเอไวรัส (DNA virus) เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษมี 2 ชนิดคือ variolar major ทำให้เกิดโรคฝีดาษซึ่งมีอาการรุนแรงและมีอัตราการตายสูงประมาณ1ใน3 และvariolar minor ทำให้เกิดโรค alastrim ซึ่งอาการไม่รุนแรงเท่า และอัตราการตายต่ำ เชื้ออยู่ในสะเก็ดได้เป็นปี เชื้อถูกฆ่าตายที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที
[แก้] การแพร่กระจาย
เชื้อไวรัสฝีดาษ (Variolar) นี้สามารถแพร่กระจายไปในอากาศ จากละอองสิ่งคัดหลั่งจากคนที่เป็นโรค เช่น น้ำมูก, น้ำลาย หรือจากการสัมผัสกับผิวหนังที่มีแผลฝีดาษ เชื้อนี้มีความคงทนต่อสภาพอากาศ สามารถแพร่ได้ไม่ว่าจะอากาศร้อนหรือหนาว และสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้โดยง่าย
[แก้] ระยะฟักตัวและอาการของโรค
[แก้] ระยะฟักตัว
ระยะฟักตัวค่อนข้างจะคงที่ จากการติดเชื้อจนมีอาการกินเวลา 7-17วันและเริ่มมีผื่นขึ้น 14 วัน แต่อาจจะเร็วถึง 9 วันหรือนานถึง 21 วันหลังจากระยะฟักตัวก็จะเกิดอาการที่เห็นชัดเจน
[แก้] อาการ
- อาการเริ่มแรก เริ่มด้วยปวดศีรษะ สะท้าน ปวดหลัง ปวดตามกล้ามเนื้อแขนขา ไข้จะขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว สูงไดถึง 41-41.5องศา ในเด็กจะมีอาเจียน ชัก และหมดสติ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีผื่นแดงเกิดขึ้นใน 2 วันแรก ผื่นมักจะขึ้นบริเวณแขนหรือขา
- ระยะออกผื่น ประมาณวันที่ 3 หลังมีไข้ ผื่นที่แท้จริงของฝีดาษจะเริ่มปรากฏขึ้นจะเริ่มที่หน้าหน้า แล้วไปที่แขน หลัง และขา ผื่นมักเป็นมากบริเวณที่ผิวหนังตึง เช่นที่ข้อมือ โหนกแก้ม สะบัก เป็นต้น ผื่นจะขึ้นเต็มที่ภายในเวลา 2 วัน ไข้จะเริ่มลงในวันที่ 2-3 หลังผื่นขึ้น และอาการต่างๆจะดีขึ้น ลักษณะผื่น จะเริ่มเป็นผื่นขนาดหัวเข็มหมุด และโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในวันที่2 และกลายเป็นตุ่มน้ำในวันที่ 3 ใส ในวันที่ 5 จะเป็นตุ่มน้ำขุ่น การเปลี่ยนแปลงของผื่นจะเป็นไปพร้อมกันทั้งตัว ในวันที่ 8 ผื่นจะเริ่มแห้งโดยเริ่มที่หน้าก่อน ผื่นจะกลายเป็นสะเก็ดในวันที่12-13
- ระยะติดต่อตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีอาการ และช่วงสัปดาห์แรก ที่จะเป็นช่วงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่ายที่สุด ไปจนถึงตอนที่แผลแห้งเป็นสะเก็ดแล้ว
[แก้] โรคแทรกซ้อน
- ผิวหนัง อาจจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เมื่อหายแล้วจะมีแผลลึก
- ระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบที่กล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงบวม เกิดปอดบวมได้บ่อย
- กระดูก เกิดการอักเสบของกระดูกจากเชื้อไวรัสได้บ่อย มักพบในวันที่10-12 ของโรค ในเด็กมักจะเป็นรุนแรงและมีการทำลายของกระดูกและข้อ
- ตา เกิดเยื่อบุตาอักเสบ และการบวมของหนังตา
- ระบบประสาทส่วนกลาง เกิดการอักเสบของสมองในระยะท้ายของโรค
[แก้] ความเสี่ยงของโรค
โรคฝีดาษหรือ ไข้ทรพิษนี้ มีอัตราการตายสูงประมาณ 30 % และต้องทำการแยกผู้ป่วย จากคนอื่น เนื่องจากสามารถติดต่อ แพร่ให้แก่คนอื่นๆ ได้ง่ายมาก และเสื้อผ้าของใช้ของผู้ป่วยจะต้องได้รับการทำความสะอาดให้ปลอดเชื้อโดยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือการต้มนึ่งด้วยความร้อน เนื่องจากอาจเป็นตัวกลางของการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นๆได้
[แก้] การวินิจฉัยโรค
- การวินิจฉัยโรคอาศัยทั้งประวัติและการตรวจร่างกาย
- ลักษณะทางคลินิกและระบาดวิทยา ในรายที่อาการตรงไปตรงมา
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การวินิจฉัยทางไวรัสวิทยา
[แก้] การรักษาโรค
- ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนไข้ทรพิษให้ใช้รักษา เนื่องจากได้มีการยกเลิกการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังมีการเก็บวัคซีน และเชื้อไข้ทรพิษไว้ใช้ในการสงคราม ซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย
- ต้องแยกนอนโรงพยาบาลที่รับเฉพาะโรคติดต่อ
- การรักษาประคับประคองและรักษาตามอาการ
- ให้ผู้ป่วยนอนพักในที่นอนที่สะอาด และทำความสะอาดที่นอนบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- แก้ไขภาวะขาดน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่
- ระวังรอยโรคที่ปากและตา โดยทำความสะอาดอวัยวะทั้งสองบ่อยๆ
- ไม่ควรอาบน้ำหรือใช้น้ำยาใดๆทาเคลือบผิวหนัง
[แก้] การป้องกัน
[แก้] การปลูกฝี
วัคซีนทำจากไวรัสชื่อ vaccinia เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในวัวที่ยังมีชีวิตแต่ทำให้อ่อนแรง เชื้ออาจะกระจายจากตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนไปยังตำแหน่งอื่นได้ ต้องระวังการรักษาความสะอาด การปลูกฝีสามารถป้องกันโรคฝีดาษและค่อยข้างปลอดภัย แต่อาจจะมีผลข้างเคียงตั้งแต่น้อยจนมาก หลังการฉีดวัคซีนจะมีภูมิอยู่ได้ 3-5 ปีหากได้รับการกระตุ้นภูมิจะอยู่นานขึ้น การปลูกฝีจะใช้เข็มซึ่งมีเชื้อโรคอยู่ ทำให้ผิวหนังเกิดแผลเชื้อจะเข้าสู่แผล
[แก้] ผลข้างเคียง
- แขนที่ได้รับการปลูกฝีจะแดง บวม และมีอาการปวด
- ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต
- เป็นไข้ต่ำๆ ถึงเป็นไข้สูงถ้าแพ้มาก
- ผลข้างเคียงที่รุนแรง พบได้ 1000 รายใน 1000000 ราย
- ผื่นอาจจะลามจากบริเวณที่ฉีดยาไปที่อื่น เช่น ตา หน้า อวัยวะเพศ อาจจะเกิดผื่นขึ้นทั้งตัวเนื่องจากฉีดวัคซีนเข้ากระแสเลือด
- แพ้วัคซีนทำให้เกิดแพ้วัคซีน
[แก้] ผลข้างเคียงที่อาจจะทำให้เสียชีวิต
- ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่เป็น eczema ทำให้มีการกระจายของผื่นทั่วร่างกาย Eczema vaccinatum
- หลังการปลูกฝีเกิดการติดเชื้อของผิวหนัง
- สมองอักเสบ Postvaccinal encephalitis
[แก้] ผู้ที่ไม่ควรได้รับการปลูกฝี
- ผู้ป่วยที่เป็นผื่นแพ้ eczema,atropic eczema
- ผู้ที่มีโรคผิวหนังเช่น แผลไฟไหม้ งูสวัด เรื้อนกวาง
- คนที่ตั้งครรภ์, กำลังให้นม
- เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง,โรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเช่นผู้ที่เปลี่ยนไต หรือได้รับยาsteroid
- ผู้ป่วยแพ้วัคซีน
[แก้] การดูแลตำแหน่งที่ปลูกฝี
- ใช้ผ้าหรือเทปปิดแผลเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อ แล้วใช้เทปกันน้ำปิดแผล
- สามารถใส่เสื้อเพื่อป้องกันเชื้อแพร่สู่คนอื่น
- เปลี่ยนผ้าปิดแผลทุก 2 วัน
- ล้างมือด้วยสบู่หลังจากทำความสะอาดแผล
- ทิ้งผ้าทำแผลลงในถุงแยกต่างหากแล้วน้ำไปเผา
- เสื้อผ้าที่ใส่นำไปต้มและซัก
- ข้อห้าม
- ห้ามใช้เทปที่ไม่สามารถระบายอากาศ
- อย่าแกะสะเก็ดแผล
- อย่าทายาใดๆทั้งสิ้น
[แก้] การสร้างวัคซีน
ในปี พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1796) เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์(Edward Jenner) ได้คิดค้นวิธีการสร้างภูมิต้านทาน (vaccination) และใช้ป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ ทำให้ทั่วโลกต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้ ที่ประเทศรัสเซีย ได้ตั้งชื่อเด็กคนแรกที่ได้รับการปลูกฝีว่าแวคซีนอฟ หลังจากต่อสู้กับโรคนี้ด้วยการปลูกฝีจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 องค์การอนามัยโลกก็ประกาศให้ยกเลิกการฉีดวัคซีนปลูกฝีลง เป็นนัยว่าชนะโรคร้ายนี้อย่างราบคาบแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีความกังวลว่าจะมีเชื้อนี้กลับมาระบาดอีก แต่ไม่ใช่วิธีการทางธรรมชาติ แต่ในอยู่ในรูปแบบของสงครามอาวุธชีวภาพ
เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ คือแพทย์ชาวอังกฤษผู้คิดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษได้เป็นคนแรก เขาเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2292 ที่เมือง Berkeley ใน Gloucestershire ประเทศอังกฤษ การได้ไปฝึกงานกับศัลยแพทย์ตอนอายุ 12 ปี ทำให้เขามีความรู้สึกอยากเป็นแพทย์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้เข้าเรียนวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย St. Andrew และเรียนสำเร็จเป็นแพทย์ขณะมีอายุ 43 ปี ในสมัยนั้นยุโรปทั้งทวีปกำลังถูกฝีดาษคุกคามหนัก 10-20% ของผู้ป่วยเสียชีวิต และ 10-15% ของผู้รอดชีวิตมีรอยแผลเป็นเต็มตัว เจนเนอร์ จึงคิดหาวิธีป้องกันฝีดาษ และเขาก็ประสบความสำเร็จหลังจากที่ได้พยายามนานถึง 16 ปี เมื่อ เจนเนอร์ สังเกตเห็นว่า ตามมือและแขนของหญิงรีดนมวัวมักมีแผลที่เกิดจากฝีดาษวัว (cowpox) ที่ไม่รุนแรง และหญิงที่มีอาชีพนี้ไม่มีใครป่วยเป็นฝีดาษเลยสักคน เขาจึงคิดว่าฝีดาษวัวคงสามารถป้องกันคนมิให้เป็นโรคฝีดาษได้ เจนเนอร์ คิดทดสอบการคาดการณ์นี้ ดังนั้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2339 เจนเนอร์ ก็ได้เอาหนองที่แผลของ ซาร่าห์ เนมห์เมส (Sarah Nelmes) อันเกิดจากฝีดาษวัว ไปป้ายบนแผลที่เกิดจากการถูกมีดกรีดเล็กน้อยของ เจมส์ ฟิปล์ (James Phipps) ซึ่งเป็นเด็กอายุ 8 ปี เจนเนอร์ พบว่า ฟิปล์ ล้มป่วยเป็นโรคฝีดาษวัว แต่ก็หายในเวลาไม่นาน จากนั้นอีกหลายสัปดาห์ต่อมา เจนเนอร์ ได้เอาเชื้อฝีดาษป้ายบนแผลของ ฟิปล์ ผลปรากฏว่า ฟิปล์ ไม่แสดงอาการว่าเป็นฝีดาษเลย
วันที่ 14 พฤษภาคม จึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติของวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะในวันนั้นโลกมีวัคซีนใช้เป็นครั้งแรก และเป็นวันแรกที่มนุษย์รู้จักการปลูกฝี หลังจากที่ได้ทดสอบวัคซีนจนมั่นใจแล้ว ในปี พ.ศ. 2341 เจนเนอร์ ได้เรียบเรียงตำราชื่อ An Inquiry into the Causes and Effects of the Variola Vaccinae ถึงแม้แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่เชื่อในวิธีป้องกันโรคด้วยวิธีนี้ แต่เมื่อผู้คนจำนวนมากพากันมาหา เจนเนอร์ เพื่อรับการปลูกฝี และคนเหล่านั้นไม่มีใครล้มป่วยเป็นฝีดาษ ผลงานของ เจนเนอร์ จึงได้รับการยอมรับจากบรรดาแพทย์อื่น ๆ จากนั้นรัฐบาลอังกฤษก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ เจนเนอร์ ผลิตวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันฝีดาษให้คนอังกฤษทั่วประเทศ
การพบวัคซีนฝีดาษทำให้ชื่อเสียงของ เจนเนอร์ แพร่กระจายไปทั่วโลก แม้แต่จักรพรรดินโปเลียน (Napoleon) เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า เจนเนอร์ ทูลขออภัยโทษให้แก่เชลยอังกฤษที่ฝรั่งเศสจับได้ในสงคราม พระองค์ก็ทรงปล่อยเชลยเหล่านั้นทันที
เจนเนอร์ ซึ่งได้ใช้สติปัญญาและความอุตสาหะในการค้นคว้าจนพบวัคซีนที่สามารถป้องกันชีวิตของคนนับล้านให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษ โดยไม่ได้ร่ำรวยจากการอ้างสิทธิ์ทางปัญญาใด ๆ ได้ถึงแก่กรรมที่เมือง เบิกลีย์ (Berkeley) ขณะมีอายุ 73 ปี
หลังจากที่ เจนเนอร์ พบวัคซีนฝีดาษแล้ว สถิติการระบาดและการเสียชีวิตของผู้คนด้วยโรคฝีดาษก็ลดลง ๆ เช่นในปี พ.ศ. 2510 มีผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษใน 29 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2515 พบคนเป็นโรคฝีดาษใน 14 ประเทศ ในปี 2517-2518 ประเทศปากีสถาน อินเดีย และเนปาล ได้ประกาศว่าประเทศทั้งสามเป็นดินแดนปลอดฝีดาษ 100% และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 โลกได้รับรายงานว่ามีคนป่วยด้วยโรคฝีดาษเป็นคนสุดท้ายคือ Ali Maow Moalin เขาเป็นพ่อครัวในเมือง Merca ในโซมาเลีย และก็ได้รับการรักษาจนหาย นับถึงวันนี้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคฝีดาษอีกเลย จนเราอาจกล่าวได้ว่า โลกไม่ถูกฝีดาษรบกวนในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา
[แก้] สถานะของโรคฝีดาษในปัจจุบัน
การเก็บรักษาเชื้อโรคฝีดาษ ในด้านการแพทย์ยังเก็บเชื้อฝีดาษไว้ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center for Diseases Control and Prevention-CDC) ที่เมืองแอตแลนตาในสหรัฐอเมริกา และที่ Institute for Viral Preparations ที่มอสโกในรัสเซีย และนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษารหัสพันธุกรรม (genome) ของไวรัสฝีดาษแล้วอย่างสมบูรณ์ แต่สหรัฐอเมริกา กับรัสเซียก็ยังไม่ได้กำจัดเชื้อฝีดาษสองชุดสุดท้ายนี้ให้หมดไปจากโลก เพราะนักวิทยาศาสตร์มีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการกำจัดฝีดาษให้หมดโลก ซึ่งให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้โรคร้ายนี้ระบาดอีกต่อไป ส่วนฝ่ายที่ต้องการเก็บรักษาเชื้อก็ให้เหตุผลว่า การฆ่าฝีดาษตัวสุดท้ายจะเป็นการฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างจงใจให้สูญพันธุ์ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ และขณะนี้โลกมีโรคอีกหลายโรคที่มีฤทธิ์ร้ายพอ ๆ กับฝีดาษ ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์อาจใช้เชื้อฝีดาษที่มีอยู่น้อยนิดนี้ พัฒนาวัคซีนต่อสู้โรคที่ร้ายเหล่านั้นได้ ดังนั้นถ้าเราทำลายเชื้อจนหมดสิ้น เราก็จะไม่มีเชื้อโรคอะไรจะศึกษา
ด้วยเหตุนี้ คำประกาศขององค์การอนามัยโลกที่เคยแถลงว่า จะกำจัดฝีดาษให้หมดโลกภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จึงต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 คณะผู้บริหารขององค์การอนามัยโลกจึงได้จัดประชุมกันเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2545 และได้ลงมติให้ทั้งอเมริกาและรัสเซียเก็บเชื้อฝีดาษให้นักวิทยาศาสตร์วิจัยต่อ เพราะเกรงว่าถ้าผู้ก่อการร้ายใช้ฝีดาษ (ที่สังเคราะห์ได้) เป็นอาวุธชีวภาพ มนุษยชาติจะเป็นอันตราย ดังนั้นการมีเชื้อฝีดาษไว้เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น และองค์การอนามัยโลกได้ขอให้นักวิจัยศึกษาไวรัสฝีดาษให้สมบูรณ์ที่สุดและมากที่สุด เพื่อจะได้ข้อมูลมาทบทวนการตัดสินใจเก็บ-ทำลายฝีดาษในอีก 2-3 ปีข้างหน้า