พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร) (พ.ศ. 2404 - 2474) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเขียน ทรง เป็นกวีและนักประพันธ์ ทรงเข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งรองเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงเป็นต้นราชสกุล "วรวรรณ ณ อยุธยา"
สารบัญ |
[แก้] พระประวัติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าวรวรรณากร" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 56 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ประสูติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404
พระองค์เจ้าวรวรรณากร ทรงเริ่มรับราชการที่หอรัษฏากรพิพัฒ เป็นพนักงานการเงินที่ฝากแบงค์ต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2433 ดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ จนถึงรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2464 ทรงสถาปนาเป็น กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระชันษา 70 ปี
[แก้] พระโอรส พระธิดา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล วรวรรณ มีพระโอรสและพระธิดาทั้งสิ้น 27 พระองค์
[แก้] หม่อมหลวงต่วนศรี มนตรีกุล
ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมหลวงต่วนศรี มนตรีกุล มีพระโอรส-ธิดา คือ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๕๑๙) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองนายกรัฐมนตรี
- หม่อมเจ้าศิวากร วรวรรณ (พ.ศ. 2439-2502)
[แก้] หม่อมผัน
ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมผัน มีพระโอรส-ธิดา คือ
- หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ (พ.ศ. 2431-2496) เษกสมรสกับหม่อมโจฮันนา เวเบอร์ และ หม่อมสมรวย มุกแจ้ง
- หม่อมเจ้าหญิงพรพิมลวรรณ วรวรรณ (พ.ศ. 2433-2524) เษกสมรสกับ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
- หม่อมเจ้าวัลภากร วรวรรณ (พ.ศ. 2434-2522) เษกสมรสกับ หม่อมชั้น บุนนาค และหม่อมฟื้น บุนนาค
- หม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ (พ.ศ. 2436-2514) เษกสมรสกับ หม่อมแก้ว เอี่ยมจำนงค์ และหม่อมเล็ก เจริญจันทร์แดง
- หม่อมเจ้าหญิงอรทิพย์ประพันธ์ วรวรรณ (พ.ศ. 2438-2505) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เทวกุล
- หม่อมเจ้าสิทธยากร วรวรรณ (พ.ศ. 2440-2508) เษกสมรสกับ หม่อมดำริห์ บุนนาค
- หม่อมเจ้าไปรมากร วรวรรณ (พ.ศ. 2441-2519) เษกสมรสกับ หม่อมน้อย สุวรรณศวร หม่อมสมศรี ประภาเพ็ชร์ และหม่อมอรุณ
- หม่อมเจ้าหญิงบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ (พ.ศ. 2445-2528) หรือ ท่านหญิงแต๋ว เษกสมรสกับ พลเอกมังกร พรหมโยธี
- หม่อมเจ้าหญิงสรรพางค์พิมล วรวรรณ (พ.ศ. 2446-2463)
- หม่อมเจ้าหญิงอุบลพรรณี วรวรรณ (พ.ศ. 2448-2528) เษกสมรสกับ นายอาฌรลด์ แคร้บบ์
[แก้] หม่อมอินทร์
ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมอินทร์ มีพระโอรส-ธิดา คือ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (พ.ศ. 2435-2494) หรือ ท่านหญิงเตอะ หรือ ท่านหญิงขาว เดิมพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล อดีตพระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- หม่อมเจ้าหญิงนันทนามารศรี วรวรรณ (พ.ศ. 2439-2510) เดิมพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงพิมลวรรณ
- หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ (พ.ศ. 2443-?) เษกสมรสกับ หม่อมเลี่ยงซวด ตัณฑัยย์
- หม่อมเจ้าหญิงศรีสอางค์นฤมล วรวรรณ (พ.ศ. 2448-2541) หรือ ท่านหญิงตวง เดิมพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงวัลลีวรินทร์ เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์
- หม่อมเจ้า อีก 3 องค์ สิ้นชีพเมื่อวัยเยาว์
[แก้] หม่อมบุญ
ทรงเษกสมรสกับ หม่อมบุญ วรวรรณ มีพระโอรสคือ
- หม่อมเจ้าปริญญากร วรวรรณ (พ.ศ. 2436-2452)
- หม่อมเจ้าสุวิชากร วรวรรณ (พ.ศ. 2439-2511) เษกสมรสกับ หม่อมพริ้ม เลาหเศรษฐี
- หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ (พ.ศ. 2443-2524) อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เษกสมรสกับ หม่อมสรรพางค์ บุรณะปินท์ และหม่อมจิตรา ปันยารชุน
- หม่อมเจ้าหัชชากร วรวรรณ (พ.ศ. 2446-2528) เษกสมรสกับ หม่อมสมหทัย เสนีเศรษฐ
[แก้] หม่อมหลวงตาด มนตรีกุล
ทรงเษกสมรสกับ หม่อมหลวงตาด มนตรีกุล มีพระธิดาคือ
- พระนางเธอลักษมีลาวัณ (หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล วรวรรณ) หรือ ท่านหญิงติ๋ว พระมเหสีพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
[แก้] หม่อมแช่ม
ทรงเษกสมรสกับ หม่อมแช่ม มีพระโอรสคือ
- หม่อมเจ้าวรวีรากร วรวรรณ (พ.ศ. 2443-2509) เษกสมรสกับ หม่อมแพร ศรีวรรธนะ และหม่อมเริ่มจิตต์ พึ่งบารมี
[แก้] หม่อมสุ่น
ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมสุ่น มีพระโอรส-ธิดา คือ
- หม่อมเจ้าหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ (พ.ศ. 2454-2541) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร นายปุ๊ และ นายโรเบิร์ด ส. อาร์โนลด์
- หม่อมเจ้าฉันทนากร วรวรรณ (พ.ศ. 2458-2491) เษกสมรสกับ หม่อมมนิตย์ รามโยธิน
- หม่อมเจ้าสุนทรากร วรวรรณ (พ.ศ. 2464-2516)
[แก้] หม่อมแสร์
ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมแสร์ มีพระโอรส คือ
- หม่อมเจ้าเจตนากร วรวรรณ (พ.ศ. 2459-2491) เษกสมรสกับหม่อมมนิตย์ รามโยธิน
- หม่อมเจ้าอภิญญากร วรวรรณ (พ.ศ. 2464-2516)
[แก้] หม่อมพร้อม
- หม่อมเจ้าบุษยากร วรวรรณ (พ.ศ. 1913-1915)
[แก้] หม่อมเจียม
- หม่อมเจ้าหญิงสิริวันต์ วรวรรณ
[แก้] หม่อมเชื้อเล็ก
- หม่อมเจ้าหญิงดวงตา วรวรรณ
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีหม่อมอีก คน ได้แก่ หม่อมต่วนใหญ่ หม่อมเจียม หม่อมแถม หม่อมเชื้อเล็ก และ หม่อมพร้อม
[แก้] พระนิพนธ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงมีชื่อเสียงจากงานพระนิพนธ์หลายชิ้นที่รู้จักกันดี ได้แก่ บทละครพูดเรื่อง " สร้อยคอที่หาย" ซึ่งเคยบรรจุในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ บทละครร้อง "สาวเครือฟ้า" ซึ่งได้สร้างตัวละครให้กลายเป็นคนที่เหมือนกับมีตัวจริงขึ้นมา 2 คน คือ ร้อยตรีพร้อม และสาวเครือฟ้า ทรงก่อตั้งโรงละครร้องขึ้นในบริเวณตำหนักที่ประทับ ชื่อว่า "โรงละครปรีดาลัย" เป็นโรงละครร้องแห่งแรกในสยาม
นอกจากนี้ยังทรงมีงานที่สำคัญ คือ พระนิพนธ์แปล จดหมายเหตุลาลูแบร์ โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ "ตำนานพระแท่นมนังคศิลาอาสน์" รุไบยาตของโอมาร์ คัยยาม และ "นวางกุโรวาท" เป็นต้น และพระองค์ยังทรงใช้นามปากกาว่า "ประเสริฐอักษร" เพื่อทรงพระ นิพนธ์เรื่องสั้นไว้จำนวนหนึ่งอีกด้วย
บทละครเรื่อง สาวเครือฟ้า
ประวัติ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงได้เค้าเรื่องนี้จากละครอุปรากร (โอเปรา) เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madam Butterfly) ของเกียโคโม บุชชินี อุปรากรเรื่องนี้ได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของจอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่งในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๒ เมื่อพ.ศ.๒๔๕0 ได้ทอดพระเนตรการแสดงละครอุปรากรที่ฝรั่งเศส เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายซึ่งเป็นเรื่องความรักและความผิดหวังระหว่างสาวญี่ปุ่นชื่อโจโจ้ซังกับทหารหนุ่มฝรั่ง เมื่อเสด็จนิวัติพระนครได้ทรงเล่าให้กรมนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงดัดแปลงเรื่องนี้มาเป็นละครร้องแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง เป็นที่พอพระหฤทัยมาก นับเป็นการเริ่มต้นกำเนิดละครร้องที่ทรงดัดแปลงมาจากละครอุปรากรของยุโรป
ทำนองแต่ง เป็นบทละครร้องสลับพูด คำประพันธ์ที่ใช้เป็นประเภทกลอนเพลงไทย
ความมุ่งหมาย เพื่อใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครร้อง
เรื่องย่อ ร้อยตรีพร้อม ย้ายไปรับราชการที่เชียงใหม่ เกิดรักใคร่กับ สาวเครือฟ้า หญิงชาวเชียงใหม่ ภายหลังได้เป็นสามีภรรยากันจนสาวเครือฟ้าให้กำเนิดบุตร ร้อยตรีพร้อมได้คำสั่งย้ายกลับกรุงเทพฯ ถูกผู้ใหญ่บังคับให้แต่งงานกับหญิงสาวชาวกรุงเทพฯ สาวเครือฟ้าเฝ้ารอสามี เมื่อได้ข่าวว่าสามีกลับเชียงใหม่ก็ดีใจไปคอยต้อนรับ ครั้นปรากฏว่าร้อยตรีพร้อมพาภรรยาชาวกรุงเทพฯมาด้วย สาวเครือฟ้าเสียใจใช้มีดแทงตัวตาย ร้อยตรีพร้อมรับบุตรไปอุปการะ
[แก้] แพร่งนรา
วังวรวรรณ วังที่ประทับของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศน์เทพวราราม กับวัดมหรรณพาราม ต่อมาวังนี้ถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่มาสร้างเป็นถนน ตามโครงการขยายความเจริญของพระนครในสมัยนั้น คงเหลือเพียงพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก ที่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย ถูกปรับให้เป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา และมีการแบ่งพื้นที่ริมถนนสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ขายให้แก่เอกชน ชาวบ้านแถบนั้นจึงเรียกย่านนั้นว่า แพร่งนรา ตามพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] อ้างอิง
- Jeffy Finestone. 2542. สมุดพระรูป พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปรียนันทนา รังสิต,ม.ร.ว. โลมาโฮลดิ้ง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |