สมเกียรติ อ่อนวิมล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540) อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
เกิด 2 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่อำเภอสามชุก สุพรรณบุรีจบชั้นมัธยมจากจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วไปเรียนต่อที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม ขณะเรียนครูได้ทุนเอเอฟเอสไปเรียนต่อที่รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา และกลับมาเรียนครูต่อจนจบ เมื่อ พ.ศ. 2514 เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสอบชิงทุนอินเดียได้ จึงลาออกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งอินเดีย นิวเดลี จบปริญญาตรีและโทสาขารัฐศาสตร์ และได้ทุนไปเรียนปริญญาเอก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียใต้ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา
ด้านชีวิตส่วนตัว ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สมรสกับ ธัญญา ธัญญขันธ์ มีบุตรชายคนเดียวคือ ธัญญ์ อ่อนวิมล ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง และชอบเลี้ยงแมว
[แก้] การทำงาน
ดร.สมเกียรติ เป็นอาจารย์สอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มเข้าวงการโทรทัศน์ โดยจัดรายการ ความรู้คือประทีป ทางช่อง 9 และเริ่มเข้าสู่วงการข่าวโทรทัศน์ ในรายการข่าวทันโลกในช่วงดึก
เมื่อ พ.ศ. 2528 ดร. สมเกียรติ ก่อตั้งบริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ร่วมกับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับรายการข่าวโทรทัศน์ ช่วง 20.00 น. ทางช่อง 9 จากเดิมที่เป็นเฉพาะการอ่านข่าวในพระราชสำนัก และข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล มีการปรับปรุงทั้งรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหารายการ มีผู้ประกาศข่าวรุ่นใหม่ เช่น นิรมล เมธีสุวกุล, ยุพา เพชรฤทธิ์, สุริยง จองรีพันธ์, อนุชิต จุรีเกตุ, ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์, ศศิธร ลิ้มศรีมณี, สาธิต ยุวนันทการุณย์, อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง รวมทั้งวิทวัส สุนทรวิเนตร ที่อ่านข่าวพยากรณ์อากาศในรูปแบบใหม่ และผู้ประกาศข่าวรุ่นใหญ่ เช่น กรรณิกา ธรรมเกษร
ต่อมา ดร.สมเกียรติ ขัดแย้งเรื่องนโยบายการทำข่าวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วย กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. เมื่อ พ.ศ. 2531 จึงลาออกไปทำรายการข่าวที่ ช่อง 7 เป็นเวลาสั้นๆ และลาออกหลังมีปัญหาการรายงานข่าวอาการป่วยของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ดร.สมเกียรติ เข้าไปทำรายการข่าวทางช่อง 5 เป็นผู้บุกเบิกรายการข่าวของสถานีนี้ ริเริ่มทำรายการ บ้านเลขที่ ๕ และรายการวิทยุรายงานข่าวจราจรทาง จส. 100 และทำรายการข่าวต้นชั่วโมงป้อนให้กับสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก
ดร.สมเกียรติถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เมื่อ รายการวิทยุ จส. 100 รายการข่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง ออกข่าวและความเห็นในเชิงเป็นผลลบต่อการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรสช.
ดร.สมเกียรติ ได้เข้ามาบริหารรายการทางช่อง 11 อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะลงสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2542 เป็นคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543 ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระ กิจการโทรคมนาคม ธุรกิจสถาบันการเงิน ของวุฒิสภา
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานข่าว และผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ภายหลังการถอนตัวของเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป แต่ก็ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 2 เดือน
ดร.สมเกียรติ จัดรายการวิทยุเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เช่นรายการ โลกยามเช้า, โลกยามเย็น, ลูกทุ่งคนดัง, ลูกทุ่งเวทีไทย และคุยเฟื่องเรื่องไทย แต่ปัจจุบันไม่ได้จัดแล้วเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายของเจ้าของคลื่น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ฯลฯ คงเหลือเพียงรายการเดียวคือ รายการโทรทัศน์โลกยามเช้า ทางช่อง 3
[แก้] มีเดีย
- ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล พูดถึงวิกิพีเดีย ระหว่างการเสวนาหัวข้อ กำเนิดทักษิณ (file info) — เปิดฟัง
- เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2549 ที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลิปต้นฉบับ
[แก้] อ้างอิง
- ประวัติ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล จากเว็บไซต์รัฐสภา
- ประวัติ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล จากคอลัมน์ คุณถาม-พายัพตอบ ทางเว็บไซต์ผู้จัดการ
- สัมภาษณ์ ‘สมเกียรติ อ่อนวิมล’ : บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ ‘ห้าม’ เห็นต่าง ! จาก ประชาไท
- สมเกียรติ อ่อนวิมล กับบทบาท "นักแปล"
- ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล 'ผมบริหารงานไม่เป็น ผมเป็นสื่อสารมวลชน' นิตยสารผู้จัดการ
สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ สมเกียรติ อ่อนวิมล ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |