สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (อังกฤษ: Memorial Bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมการคมนาคมติดต่อระหว่างฝั่งพระนคร กับฝั่งธนบุรี ที่ปลายถนนตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
[แก้] ประวัติ
สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสที่สถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี และมีพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกันเพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร
โครงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และสะพานได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2471 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (ต่อมาเป็นกรมพระยา) อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรมคิดแบบอย่างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์และหล่อด้วย* ทองสัมฤทธิ์ ขนาดสูงตั้งแต่ฐานถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยได้เลือกแบบของบริษัทดอรแมนลอง ประเทศอังกฤษ และสร้างเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า”
รัฐบาลได้ประมาณการงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ไว้เป็นจำนวน 4,000,000 บาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง รัฐบาลส่วนหนึ่ง ส่วนอีกจำนวนหนึ่งนั้นทรงพระราชดำริว่าควรบอกบุญเรี่ยไรประชาชน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475
[แก้] ปัจจุบัน
ในปัจจุบัน นอกจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะเป็นที่ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นลานกีฬาของเด็กนักเรียนแถวนั้นด้วย ทั้งฟุตบอล และสเก็ตบอร์ด ก็จะมีให้เห็นทุกวันในช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก
นอกจากนี้ ในยามค่ำคืนพื้นที่ใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้า และสะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ในยามค่ำประมาณ 18.00 นาฬิกาเป็นต้นไป จนถึง 23.00 นาฬิกาโดยประมาณ จะเป็นตลาดนัดยามค่ำคืน ที่มีสินค้าแฟชั่นหลายหลาย โดยเฉพาะสินค้ามือสอง อาทิเช่น เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เป็นต้น อีกทั้งยังมีศิลปินอิสระ ส่วนมากเป็นนักศึกษาเพาะช่าง มารับวาดภาพและขายภาพวาดด้วย ด้วยราคาที่แสนถูก ประกอบกับรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ทำให้ตลาดสะพานพุทธในปัจจุบันคราคร่ำด้วยวัยรุ่นจำนวนมากทุกค่ำคืน
ตลาดนัดสะพานพุทธเปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์
[แก้] ข้อมูลทั่วไป
- วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929)
- วันเปิด : วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932)
- บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : DORMAN LONG & CO.LTD
- ราคาค่าก่อสร้าง : 4 ล้านบาทเศษ (ราคาในปี พ.ศ. 2471)
- แบบของสะพาน : ชนิดเปิด - ปิดได้ ( ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปิดตาย )
- โครงสร้างส่วนบน : เป็นลักษณะโครงเหล็กตลอด
- ความสูงจากระดับน้ำ : 7.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
- ความกว้างของสะพาน : 10.00 เมตร