หมากรุกไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมากรุกไทย เป็นเกมกระดานที่พัฒนามาจากหมากรุกของอินเดียที่ชื่อเกมว่าจตุรงค์ ลักษณะการเล่นเกมใกล้เคียงกับหมากรุกฝรั่ง นอกจากนี้ในประเทศกัมพูชามีเกมหมากรุก ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหมากรุกไทยนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย
หมากรุกไทย มีประวัติเริ่มในอินเดีย โดยมาจากตำนานของรามเกียรติ์ ตามตำนานกล่าวว่า ฝ่ายทศกัณฐ์นั้น เมื่อมีศึกเข้าประชิด นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ เห็นทศกัณฐ์เครียดกับการศึกจึงคิดหาเกมให้สวามีได้ผ่อนคลาย โดยคิดเป็นเกมหมากรุกขึ้น โดยแต่เดิมใช้คนเล่น 4 คน เรียกว่า จตุรงค์ แต่ในภายหลังได้รับการปรับปรุงจนสามารถใช้ผู้เล่นเพียง 2 คนได้
สารบัญ |
[แก้] ตัวหมากรุก
- ขุน เป็นตัวหมากรุกที่สำคัญที่สุด มีการเดินและกินไปในทิศทางรอบตัวได้ แต่ไม่สามารถเดินเข้าไปในตากินของฝ่ายตรงข้ามได้
- เม็ด มีการเดินและกินไปในแนวทแยงทั้ง 4 ด้าน
- โคน มีการเดินและกินไปในแนวทแยงทั้ง 4 ด้านและเดินไปทางข้างหน้า
- ม้า มีการเดินและกินเป็นรูปตัว L ในทิศทางรอบตัว สามารถข้ามหมากตัวอื่นได้
- เรือ มีการเดินและกินไปในแนวตั้ง-แนวนอน ระยะยาว ไม่สามารถเดินข้ามตัวอื่นๆได้
- เบี้ย มีการเดินไปทางข้างหน้าและกินในแนวทแยงด้านหน้า เมื่อเบี้ยไปถึงแนววางเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นเบี้ยหงาย และมีการเดินและกินเช่นเดียวกับเม็ดทุกประการ
[แก้] กติกาการเล่น
- ผู้เล่นแต่ละคนผลัดกันเดินหมากของฝ่ายตนเองครั้งละ 1 ตัว
- ถ้าเดินหมากของฝ่ายตัวเองไปในตำแหน่งที่หมากของฝ่ายตรงข้ามตั้งอยู่ หมากของฝ่ายตรงข้ามจะถูกกินและนำออกนอกกระดาน ยกเว้นขุนจะถูกกินไม่ได้
- ถ้าเดินหมากไปในตำแหน่งที่ตาต่อไปสามารถกินขุนของฝ่ายตรงข้ามได้ จะเรียกว่ารุก โดยตาต่อไปฝ่ายตรงข้ามต้องป้องกันหรือเดินหนีไม่ให้ขุนอยุ่ในตำแหน่งที่จะถูกกิน
- ถ้าขุนถุกรุกอยู่และไม่สามารถเดินหนีหรือป้องกันการรุกได้ จะถือว่ารุกจนและเป็นฝ่ายแพ้
- ถ้าขุนไม่ถูกรุก แต่ในตาต่อไปไม่สามารถเดินหมากตัวใดๆได้เลย จะเรียกว่าอับ และจะเสมอกัน
[แก้] การนับศักดิ์
[แก้] การนับศักดิ์กระดาน
การนับโดยวิธีนี้ไม่ว่าจะมีตัวหมากอยู่บนกระดานกี่ตัวก็ตามให้เริ่มนับตั้งแต่ 1 เป็นต้นไปโดยฝ่ายเป็นรองเป็นผู้นับฝ่ายเดียว เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่มีเบี้ยคว่ำโดยฝ่ายเป็นรองหลือหมากตั้งแต่สองตัวขึ้นไปให้เริ่มนับศักดิ์กระดานตั้งแต่ 1 ถึง 64 โดยฝ่ายเป็นต่อจะต้องรุกให้จนใน 64 ตามิเช่นนั้นให้เสมอกัน ถ้าระหว่างนับศักดิ์กระดานฝ่ายเป็นรองถูกกินหมากตัวอื่นจนเหลือขุนเพียงตัวเดียวให้เปลี่ยนมานับศักดิ์หมาก เมื่อเริ่มนับศักดิ์กระดานแล้วฝ่ายเป็นต่อกลับกลายเป็นรองก็มีสิทธ์นับศักดิ์กระดานเพื่อหาเสมอได้
[แก้] การนับศักดิ์หมาก
การนับโดยวิธีนี้ให้นับตัวหมากของทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนกระดานได้จำนวนเท่าใดก็ให้เริ่มนับศักดิ์หมากต่อไป เช่นมีตัวหมากอยู่บนกระดาน 7 ตัวก็ให้เริ่มนับ 8 โดยฝ่ายเป็นรองเป็นผู้นับฝ่ายเดียว เมื่อฝ่ายเป็นต่อมีหมากดังนี้
- เรือลำเดียวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 16 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- เรือสองลำต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 8 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- ม้าตัวเดียวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 64 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- ม้าสองตัวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 32 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- โคนตัวเดียวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 44 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- โคนสองตัวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 22 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- สำหรับเม็ดและเบี้ยหงายนับ 64 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
เมื่อได้เริ่มนับศักดิ์หมากแล้วถ้าฝ่ายเป็นรองกินหมากตัวใดตัวหนึ่งของฝ่ายเป็นต่อก็มิให้เปลี่ยนแปลงการนับเป็นอย่างอื่น
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] เว็บอื่น
หมากรุกไทย เป็นบทความเกี่ยวกับ เกม การละเล่น ของเล่น หรือ ตุ๊กตา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ หมากรุกไทย ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |