อำเภอเมืองพะเยา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถิติ | |
---|---|
จังหวัด: | จังหวัดพะเยา |
พื้นที่: | 842 ตร.กม. |
ประชากร: | 100,000 (พ.ศ. 2543) |
ความหนาแน่น: | 100 คน/ตร.กม. |
รหัสไปรษณีย์: | 56000 |
รหัสทางภูมิศาสตร์: | 5601 |
แผนที่ | |
![]() |
พะเยา เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่ง ในอดีตเดิมชื่อเมือง ภูกามยาว หรือเมืองพยาว เดิม อำเภอพะเยา เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย และในปีพุทธศักราช 2520 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยาขึ้น อำเภอพะเยาจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น”อำเภอเมืองพะเยา”เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
[แก้] พื้นที่
อำเภอเมืองพะเยามีพื้นที่ประมาณ 842 ตารางกิโลเมตร หรือ 526,250 ไร่
[แก้] ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอเมืองพะเยา มีเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตก คือ “ดอยหลวง” มีลักษณะพื้นที่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงและลาดต่ำ มาทางทิศตะวันออกและทิศใต้ บริเวณกลางมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งกรมการประมงได้จัดให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพะเยา คือ “ กว๊านพะเยา” มีเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่
[แก้] แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
อำเภอเมืองพะเยา มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้
- โบราณสถาน/โบราณวัตถุ ได้แก่
- 1) วัดศรีโคมคำ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ต.เวียง อ.เมืองพะเยา ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้าตนหลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนาไทย สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2034 – 2067 ขนาดหน้าตักกว้าง 16 เมตร สูง 18 เมตร ในวันวิสาขบูชา จะมีการจัดงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง เรียกว่างานประเพณีนมัสการพระเจ้าองค์หลวงเดือนแปดเป็ง
- 2) วัดพระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่บนดอยจอมทองตรงข้ามกับวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมืองพะเยา เป็น ปูชนียสถานโบราณคู่เมืองพะเยา บริเวณโดยรอบมีป่าไม้ปกคลุมเป็นสวนรุกขชาติ สามารถมองเห็นตัวเมืองและกว๊านพะเยา
- 3) วัดอนาลโยทิพยาราม ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม หมู่บ้านสันบัวบก ต.สันป่าม่วง อ.เมืองพะเยา มีถาวรวัตถุที่สวยงาม เช่น หอพระแก้วประดิษฐานพระแก้วมรกต พระบุษราคัม พระเงิน พระทอง และ พระนาค จากยอดดอยสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยาและตัวเมืองได้ชัดเจน
- 4) วัดลี ตั้งอยู่ในตัวเมืองพะเยาหลังโรงเรียนเทศบาล 3 ต.แม่ต๋ำ อ.เมืองพะเยา เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทราย
- 5) วัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่ถนนท่ากว๊าน อ.เมืองพะเยา เป็นวัดที่มีเจดีย์สมัยเชียงแสนที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก และเป็นวัดที่ประดิษฐานพระคู่เมืองพะเยาอีกองค์หนึ่งนามว่า “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะภูกามยาวโดยเฉพาะ
- 2. สถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่
- 1) กว๊านพะเยา อยู่ในเขตตัวเมือง อำเภอเมืองพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ใน ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีธรรมชาติงดงามอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากอย่างงามตา คำว่า “กว๊าน” ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง “บึง” มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีส่วน ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่สวยงามประทับใจผู้พบเห็น จนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่กว๊านพะเยานี่เอง
- 2) อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง รูป อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว(พะเยา) ลำดับที่ 9 ระหว่าง ปี พ.ศ. 1801-1841 ประดิษฐานอยู่ที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองเป็นพระสหายร่วม น้ำสาบานกับพ่อขุนเม็งรายกษัตริย์เมืองเชียงรายและพระเจ้าร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งกษัตริย์ทั้งสามได้ทรงปฏิญญาสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณ แม่น้ำอิง พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์กล่าวกันว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปทางไหน “แดดก็บ่ฮ้อน ฝนก็บ่ฮำ จักให้แดดก็แดด จักให้บดก็บด” จึงได้พระนามว่า “งำเมือง”
- 3) ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี ตั้งอยู่ ณ ถนนพหลโยธิน กม.ที่ 723 ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา ห่างจาก ตัวเมือง 14 กิโลเมตรเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการอบรมอาชีพด้านอุตสาหกรรมในสาขา อัญมณีและเครื่องประดับให้แก่ประชาชน ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณี ศึกษาดูงานการเจียระไนเพชร พลอย การทำเครื่องประดับเงิน จัดแสดงและจำหน่ายอัญมณีเครื่องประดับ และสินค้าหัตถกรรม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของจังหวัดพะเยาอีกด้วย
- 4) หอวัฒนธรรมนิทัศน์ ตั้งอยู่บริเวณวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมืองพะเยา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุเอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเรื่องราวความเป็นมาทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพะเยา เปิดให้เข้าชมในวันพุธ – อาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.
- 5) พระตำหนักกว๊านพะเยา ตั้งอยู่ในบริเวณสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ริมถนนพหลโยธิน กม.ที่ 734-735 อ.เมืองพะเยา เป็นสถานที่จัดแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จมาประทับทรงงานที่จังหวัดพะเยา การนำเสนอวิวัฒนาการของปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ ที่สุดในโลกและพันธุ์ปลาอื่นๆที่อยู่ในกว๊านพะเยา และจัดแสดงพันธุ์ปลาสวยงามที่หาดูได้ยาก และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย
- 6) น้ำตกห้วยแม่เหยี่ยน เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำแม่เหยี่ยน ตั้งอยู่บ้านท่ากลอง หมู่ที่ 1 ตำบล บ้านใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพะเยาประมาณ 30 กิโลเมตร สภาพน้ำเป็นชั้นๆ จำนวน 9 ชั้น ตกจากที่สูงประมาณ 20 -30 เมตร สวยงามมากทั้งบริเวณเหมาะแก่การตั้งแค้มป์พักแรมเป็นอย่างยิ่ง
- 7) น้ำตกจำปาทอง อยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีทางรถยนต์เข้าถึงโดยสะดวกเป็นทางลูกรังบางตอน ฉะนั้นจึงได้รับการปรับปรุงเรื่องสถานที่ให้สวยงามอยู่ตลอดเวลา ปรับเข้ากับสภาพธรรมชาติได้ดีและยังมีบ้านรับรองซึ่งเป็นที่พักของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาพักได้ด้วย ทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวอยู่เสมอ
- 8) อ่างเก็บน้ำแม่ปืม อ่างเก็บน้ำแม่ปืมเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่กรมชลประทานเข้าดำเนินการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บกักน้ำไว้แจกจ่ายในพื้นที่ 2 อำเภอ 6 ตำบล คือ อำเภอแม่ใจ และอำเภอเมืองพะเยา ตำบลบ้านเหล่า ตำบลแม่ใจ ตำบลแม่ปืม ตำบลบ้านต๊ำ ตำบลท่าจำปี โดยแจกจ่ายน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 20,000 ไร่ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่อีกด้วย ในด้านการท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำแม่ปืมมีทัศนียภาพที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง อ่างเก็บน้ำแม่ปืมตั้งอยู่ระหว่างบ้านสันทราย หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ปืม และบ้านป่าตึง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ใจ ระยะทางระหว่างที่ว่าการอำเภอเมืองพะเยาประมาณ 21 กิโลเมตร มีทางรถยนต์เข้าถึงที่ตั้งอ่างโดยสะดวก