เฉินหลง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉินหลง (成龍) หรือ แจ๊กกี้ ชาน (Jackie Chan) เป็นนักแสดงชาวฮ่องกงที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1954 ในครอบครัวที่ยากจน จนเขาเกือบถูกพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าขายให้กับหมออังกฤษในราคาแค่ 26 เหรียญ แต่แล้วพ่อแม่ของเขาก็ได้ล้มเลิกความคิดนั้น เมื่อเฉินหลงอายุได้ 7 ขวบ พ่อก็ส่งเขาเข้าโรงเรียนอุปรากรจีน โดยที่ตัวของพ่อกับแม่นั้นต้องไปทำงานเป็นพ่อครัวกับแม่บ้านที่สถานทูตในออสเตรเลีย และที่โรงเรียนนั้นเองที่ทำให้เฉินหลงได้เรียนรู้ชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะเขาต้องห่างครอบครัวเป็นเวลานาน แต่ที่นั่นก็ทำให้เฉินหลงได้พบเพื่อนร่วมสาบานอย่าง หงจินเป่า และ หยวนเปียว
เมื่อผ่านไป 10 ปี เฉินหลงก็ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนอุปราการจีน เขาได้ไปสมัครเข้าร่วมทีมสตันท์ในวงการหนังฮ่องกงในช่วงที่ บรู๊ซ ลี ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อ บรู๊ซ ลี ได้ตายไป ทำให้เฉินหลงต้องตกงานเพราะวงการหนังฮ่องกงกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่แล้วเฉินหลงก็ไปสะดุดตาผู้สร้างหนังอย่าง หลอเหว่ย ผู้กำกับหนัง Fist of Fury ของบรู๊ซ ลี โดยเขาต้องการปั้นดาราแอ๊คชั่นมาแทนบรู๊ซ ลี โดยเฉินหลงได้แสดงหนังในตอนนั้นทั้งหมด 10 เรื่อง ได้แก่ New Fist of Fury (1976) Shaolin Wooden Men (1976) Eagle Shadow Fist (1977) Half a Loaf of Kung Fu (1977) Killer Meteors (1977) To Kill with Intrigue (1977) Snake and Crane Arts of Shaolin (1978) Magnificent Bodyguards (1978) Spiritual Kung Fu (1978) และ Dragon Fist (1978) โดยทั้งหมดนี้ไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่เรื่องเดียว
ชื่อของเฉินหลง คือ จีนตัวย่อ: 陈港生; จีนตัวเต็ม: 陳港生; พินอิน: Chén Gǎngshēng ซึ่งรู้จักในชื่อ จีนตัวย่อ: 陈成龙; Traditional Chinese: 陳成龍; พินอิน: Chén Chénglóng หรือ เฉินหลงนั่นเอง
สารบัญ |
[แก้] จุดประสบความสำเร็จ
เมื่อเฉินหลงออกจากสังกัดของหลอเหว่ย และไปแสดงหนังให้กับ Seasonal Film เรื่อง Snake in the Eagle's Shadow (1978) ทำให้ชื่อของเฉินหลง กลายเป็นดาราดังเพียงช่วงข้ามคืน เพราะสามารถทำเงินอย่างมหาศาลในฮ่องกง จากนั้นเฉินหลงก็ได้นำแสดงใน Drunken Master (1978) โดยเฉพาะเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังประสบความสำเร็จทั่วเอเชียอีกด้วย
และเมื่อเฉินหลงหมดสัญญากับหลอเหว่ย เขาก็มุ่งหน้าไปที่สังกัดอย่าง Golden Harvest ซึ่งในอดีตบรู๊ซ ลี เคยเป็นดาราประจำของค่ายนี้ โดยที่สิทธิการทำหนังในค่ายนี้ เฉินหลงเป็นคนสามารถเลือกเองได้ ผลงานเรื่องแรกในค่ายนี้คือเรื่อง The Young Master (1980) ซึ่งสามารถทำรายได้ 10 ล้านเหรียญฮ่องกงเป็นเรื่องแรก จากนั้นเฉินหลงก็มีโอกาสไปแสดงหนังอเมริกาเป็นครั้งแรกใน The Big Brawl (1980) ( หรือ Battle Creek Brawl ) ผลลัพธ์ที่ได้คือ ไม่ประสบความสำเร็จเลย จากนั้นเขาก็แสดงเป็นตัวประกอบในหนังแนว Road Movie อย่าง Cannonball Run (1981) และ Cannonball Run 2 (1982) เรียกได้ว่าการไปเล่นหนังอเมริกาของเขานั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า
หลังจากนั้นเฉินหลงก็ได้กลับมาทำหนังในฮ่องกงกับร่วมกับ 2 สหายอย่าง หงจินเป่า และ หยวนเปียว โดยผลงานที่ทั้งสามได้แสดงด้วยกันมี 6 เรื่อง คือ Winners and Sinners (1983) Project A (1984) Wheels on Meals (1984) My Lucky Stars (1985) Twinkle Twinkle Lucky Stars (1986) และ Dragons Forever (1988) เป็นเรื่องสุดท้าย (แต่เรื่อง Heart of Dragon (1985) เฉินหลงกับหงจินเป่าแสดง แต่หยวนเปียวอยู่ในส่วนกำกับคิวบู๊ )
แต่เฉินหลงกลับมาประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกครั้งในหนังตำรวจร่วมสมัยอย่าง Police Story (1985) โดยเรื่องนี้ทำให้เฉินหลงได้รับรางวัลม้าทองคำ (ตุ๊กตาทองฮ่องกง) ถึง 2 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ออกแบบฉากต่อสู้ยอดเยี่ยม แล้วเฉินหลงก็หวนไปแสดงหนังอเมริกาอย่าง The Protector (1985) ซึ่งก็ล้มเหลวอีกครั้ง จากนั้นเฉินหลงก็แสดงหนังในฮ่องกงหลายเรื่องตลอดมาเรื่อยๆ เช่น Armour of God (1987) Police Story 2 (1988) Miracles (1989)
จนโชคเพิ่งมาเข้าข้างเฉินหลงในช่วงยุค'90 หนังหลายเรื่องของเฉินหลงเป็นที่ยอมรับในทั่วเอเชียเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Armour of God II: Operation Condor (1991) Police Story 3: Supercop (1992) City Hunter (1993) Crime Story (1993) และตำนานไอ้หนุ่มหมัดเมาอย่าง Drunken Master II (1994) ซึ่งเรื่องนี้เฉินหลงได้ร่วมงานกับ หลิวเจียงเหลียง ผู้สร้างหนังของค่าย Shaw Brother อีกทั้งยังทำรายได้ไปถึง 40 ล้านเหรียญฮ่องกงอีก
[แก้] ฮอลลีวูด
และการไปเปิดตลาดอเมริกาครั้งที่สอง ของเฉินหลงก็เป็นผล เมื่อ Rumble in the Bronx (1995) สามารถเปิดตัวขึ้นอันดับหนึ่งใน Box Office ของอเมริกาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 สามารถทำรายได้ตลอดการฉายถึง 32.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นเฉินหลงก็มีหนังท็อปฟอร์มหลายเรื่องในเวลาต่อมา เช่น Thunderbolt (1995) Police Story 4: First Strike (1996) Mr. Nice Guy (1997) และ Who Am I? (1998)
และการแสดงหนังอเมริกาของเฉินหลงในรอบหลายปีก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเฉินหลงนำแสดงใน Rush Hour (1998) ที่นำแสดงคู่กับ Chris Tucker ผลก็คือประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถทำรายได้ใน Box Office ถึง 141.1 ล้านเหรียญและ 244.3 จากทั่วโลก จากนั้นเฉินหลงก็มีโอกาสเล่นหนังทั้งในฮ่องกงและอเมริกาสลับกันหลายๆครั้ง เช่น Gorgeous (1999) Shanghai Noon (2000) The Accidental Spy (2001) และเฉินหลงก็กลับมาเล่นหนังภาคต่ออย่าง Rush Hour 2 (2001) และ Shanghai Knights (2003) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเหมือนเคย
ปัจจุบันเฉินหลงเปิดบริษัทสร้างหนังอย่าง JCE Movies Limited ซึ่งเขาเป็นทั้งผู้สร้างและนำแสดงในหนังของตนเอง หนังของเขาเรื่องแรกในบริษัทที่เขานำแสดง คือ New Police Story (2004) จากนั้นก็สร้างออกมาเรื่อยๆ เช่น The Myth (2005) และ Rob-B-Hood (2006) ผลงานต่อไปคือ Rush Hour 3 (2007) และการพากย์เสียงให้กับภาพยนตร์การ์ตูนค่าย DreamWorks เรื่อง Kung Fu Panda (2008)
[แก้] ชีวิตส่วนตัว
เฉินหลงเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งกับ หลินฟ่งเจียว นักแสดงชาวไต้หวัน เมื่อปี 1982 มีลูกด้วยกัน 1 คน คือ เฉินจู่หมิง หรือ Jaycee Chan ปัจจุบันแยกกันอยู่ แต่เมื่อปี 1999 หนังสือพิมพ์ในฮ่องกงต่างพาดหัวข่าวว่า "เฉินหลงทำผู้หญิงท้อง" ผู้หญิงคนนั้นมีชื่อว่า อีเลน อึ้ง อดีตมิสเอเชียปี 1990
ปัจจุบันเฉินหลงมีลูกสาวอย่างลับๆอีก 1 คน
[แก้] วิดีโอเกม
เฉินหลงในปัจจุบันเป็นดาราแอคชั่นระดับโลกไปแล้ว ดังนั้นบริษัทเกมทั้งหลายจึงอยากจะนำรูปลักษณ์ของเฉินหลงไปเป็นตัวละครในเกม เดิมทีเฉินหลงเคยถูกนำไปเป็นแบบตัวละครในเกม Jackie Chan's Action Kung Fu ในปี 1991 โดยบริษัทเกมอย่าง Hudson Soft จากนั้นในช่วงปลายปี 90 เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันก็เอาเฉินหลงไปเป็นตัวละครในเกม Jackie Chan Stuntmaster ซึ่งผลิตโดย Radical Entertainment ซึ่งเป็นเกมรูปแบบ 3D และล่าสุดกับเกม Jackie Chan Advertures ในเครื่องเกมบอยแอดวานซ์ ซึ่งอิงจากตัวละครในการ์ตูน Jackie Chan Adventures
[แก้] สารคดี
เฉินหลงได้สร้างงานสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของตัวเขาเองถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเขาสร้างงานสารคดีเกี่ยวกับชีวประวัติตัวเองในชื่อชุด Jackie Chan : My Story ในปี 1998 เนื้อหาเกี่ยวกับความเป้นมาของชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงจุดที่เฉินหลงประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้ ซึ่งมีแขกรับเชิญต่างๆมากมาย อาทิ หงจินเป่า หยางจื่อฉุง และ ถังจี้ลี่ (ผู้กำกับคู่บุญของเฉินหลง)
ครั้งที่สองใช้ชื่อชุดว่า Jackie Chan : My Stunts (1999) โดยเนื้อหาในนี้เกี่ยวงานแอ๊คชั่นของเฉินหลง ซึ่งเป็นเคล็ดลับสำหรับคนที่ต้องคู่มือศึกษาเกี่ยวกับงานสตันท์ได้เป็นอย่างดี
และครั้งล่าสุดใช้ชื่อชุดว่า Traces of a Dragon: Jackie Chan & His Lost Family (2003) ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของพ่อเฉินหลง ซึ่งเนื้อหาจะมีเรื่องของสภาพสังคมในประเทศจีนในสมัยของพ่อเฉินหลง
เฉินหลงมีส่วนร่วมในสารคดีเรื่อง An Alan Smithee Film: Burn Hollywood Burn (1998) โดยเฉินหลงรับบทเป็นตัวของเฉินหลงจริงๆ หนังว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับผู้กำกับ ที่ทำหนังไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แต่หนังก็สามารถคว้ารางวัล Razzie Awards (รางวัลหนังยอดแย่) ไปครองถึง 5 ตัว
[แก้] แรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจของเฉินหลงไม่ใช่บรู๊ซลี เฉินหลงเคยบอกว่าเขาไม่ต้องการจะเป็นบรู๊ซลีคนที่ 2 แต่เขาต้องการต่างออกไปจากตัวของบรู๊ซลี เฉินหลงจึงผสมผสานงานของเขาให้ออกมาในแบบที่ไม่รุนแรง ซึ่งงานของบรู๊ซลีมักจะเป็นในรูปแบบที่จริงจัง หนักหน่วง ภาพยนตร์ของเฉินหลงเป็นในรูปแบบกังฟูสมัยใหม่ผสมกับความตลก ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากดาราตลกเงียบ 3 คน อันได้แก่
- ชาร์ลี แชปลิน ในส่วนนี้เฉินหลงได้แรงบันดาลใจมากจากการแสดงหน้า ท่าทาง
- ฮาร์โรลด์ ลอยด์ เฉินหลงได้ไอเดียจากการแสดงฉากหัวเราะในเวลาที่สถานการณ์ขับขัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คืองานของเฉินหลงในเรื่อง เอไกหว่า หรือ Project A (1984) ในฉากตกหอนาฬิกา โดยเหมือนกันทุกๆอย่าง ต่างกันที่เฉินหลงเลือกที่จะตกลงมาจากความสูงจริงๆ แต่ฮาร์โรลด์ ลอยด์ ใช้ความสูงที่ต่างจากเฉินหลง
- บัสเตอร์ คีตัน เฉินหลงได้ไอเดียของการแสดงตลกหน้าตาย ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกคือ ฉากที่ฝาบ้านในเรื่อง Project A Part II (1987)ตกลงมาใส่ตัวของเฉินหลง แต่เฉินหลงกลับอยู่ในจุดที่ตรงกับประตูของฝาบ้าน จึงทำให้เฉินหลงไม่เป็นอะไร ซึ่งคล้ายกับฉาก Steamboat Willie ของบัสเตอร์ คีตัน
[แก้] อุบัติเหตุ
การเกิดอุบัติเหตุมักจะเป็นของคู่กับการแสดงของเฉินหลง บาดแผลจากอุบัติเหตุของเฉินหลงนั้นมีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดก็คือในหนังเรื่อง Armour of God (1987) หรือใหญ่สั่งมาเกิด 1 โดยในฉากแรกของหนังที่เฉินหลงจะต้องกระโดดจากตึกแล้วมาเกาะต้นไม้ แต่ในการถ่ายทำครั้งแรกเฉินหลงรู้สึกไม่ดีพอเลยต้องการถ่ายใหม่ แต่การถ่ายครั้งที่สองต้นไม้ที่เฉินหลงเกาะนั้นเกิดหัก ทำให้เฉินหลงตกลงมาในความสูงที่พอสมควร ผลก็คือ กะโหลกศีรษะของเฉินหลงร้าว ทำให้ต้องมีการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แต่ในที่สุดเฉินหลงก็รอดมาได้ ทว่าหูของเขาได้รับความกระทบกระเทือนพอสมควร จึงทำให้ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง
[แก้] ผลงาน
- New Fist of Fury (1976) : มังกรหนุ่ม คะนองเลือด
- Shaolin Wooden Men (1976) : ถล่ม 20 มนุษย์ไม้
- Eagle Shadow Fist (1977) : ไอ้มังกรพันลาย
- Half a Loaf of Kung Fu (1977) : ไอ้หนุ่มหมัดคัน
- Killer Meteors (1977) : ศึกหวังหยู่สู้เฉินหลง
- To Kill with Intrigue (1977) : นางพญาหลั่งเลือดสะท้านภพ
- Magnificent Bodyguards (1978) : ศึกมันส์ทะลุฟ้า
- Drunken Master (1978) : ไอ้หนุ่มหมัดเมา
- Snake in the Eagle's Shadow (1978) : ไอ้หนุ่มพันมือ
- Spiritual Kung Fu (1978) : ไอ้หนุ่มพันมือ ภาค 2
- Snake and Crane Arts of Shaolin (1978) : ศึกบัญญัติ 8 พญายม
- Dragon Fist (1979) : เฉินหลง สู้ตาย
- Fantasy Mission Force (1979)
- Fearless Hyena (1979) : ไอ้หนุ่มหมัดฮา
- The Big Brawl (1980) : ต้นฉบับ คนพันธุ์หญ่ายส์
- Cannonball Run (1981) : เหาะแล้วซิ่ง
- The Young Master (1980) : ไอ้มังกรหมัดสิงโต
- Cannonball Run 2 (1982) : เหาะแล้วซิ่ง 2
- Dragon Lord (1982) : ใหญ่ฟัดหมัดมังกร
- Fearless Hyena 2 (1983) : ไอ้หนุ่มหมัดฮา 2
- Winners and Sinners (1983) : 7 เพชฌฆาต สัญชาติฮ้อ
- Project A (1984) : เอไกหว่า
- Wheels on Meals (1984) : ขาตั้งสู้
- My Lucky Stars (1985) : 7 เพชฌฆาต สัญชาติฮ้อ
- Heart of Dragon (1985) : 2 พี่น้องตระกูลบิ๊ก
- Police Story (1985) : วิ่งสู้ฟัด
- The Protector (1985) : กูกู๋ ปืนเค็ม
- Twinkle Twinkle Lucky Stars : 7 เพชฌฆาต สัญชาติฮ้อ 2
- Armour of God (1987) : ใหญ่สั่งมาเกิด
- Project A Part II (1987) : เอไกหว่า 2
- Dragons Forever (1988) : มังกรหนวดทอง
- Police Story 2 (1988) : วิ่งสู้ฟัด 2
- Miracles (1989) : ฉีจี้
- Island of Fire (1990) : นัดรวมพล คนพันธุ์ดุ
- Armour of God II: Operation Condor (1991) : ใหญ่สั่งมาเกิด 2 : ตอน อินทรีทะเลทราย
- Police Story 3: Supercop (1992) : วิ่งสู้ฟัด 3
- Twin Dragons (1992) : ใหญ่แฝด ผ่าโลกเกิด
- City Hunter (1993) : ใหญ่ไม่ใหญ่ ข้าก็ใหญ่
- Crime Story (1993) : วิ่งสู้ฟัด : ภาคพิเศษ
- Drunken Master II (1994) : ไอ้หนุ่มหมัดเมา 2
- Rumble in the Bronx (1995) : ใหญ่ฟัดโลก
- Thunderbolt (1995) : เร็วฟ้าผ่า
- Police Story 4: First Strike (1996) : ใหญ่ฟัดโลก 2
- Mr. Nice Guy (1997) : ใหญ่ทับใหญ่
- Who Am I? (1998) : ใหญ่เต็มฟัด
- Jackie Chan: My Story (1998) : เฉินหลง : มังกรบันลือโลก
- Rush Hour (1998) : คู่ใหญ่ ฟัดเต็มสปีด
- Jackie Chan: My Stunts (1999) : เฉินหลง : ท้าตายสไตล์ผม
- Gorgeous (1999) : เบ่งหัวใจ ฟัดให้ใหญ่
- Shanghai Noon (2000) : คู่ใหญ่ ฟัดข้ามโลก
- The Accidental Spy (2001) : วิ่งระเบิดฟัด
- Rush Hour 2 (2001) : คู่ใหญ่ ฟัดเต็มสปีด 2
- The Tuxedo (2002) : สวมรอยพยัคฆ์พิทักษ์โลก
- Shanghai Knights (2003) : คู่ใหญ่ ฟัดทลายโลก 2
- The Twins Effect (2003) : คู่พายุฟัด
- The Medallion (2003) : ฟัดอมตะ
- Around the World in 80 Days (2004) 80 วัน ฟัดจารกรรมข้ามโลก
- The Twins Effect II (2004) : คู่ใหญ่ พายุฟัด2
- New Police Story (2004) : วิ่งสู้ฟัด 5 : เหินสู้ฟัด
- The Myth (2005) : ดาบทะลุฟ้า ฟัดทะลุเวลา
- Rob-B-Hood (2006) : วิ่งกระเตงฟัด
- Rush Hour 3 (2007) : (อยู่ระหว่างรอเข้าฉาย)
- Kung Fu Panda (2008) : (อยู่ระหว่างดำเนินงานสร้าง)
[แก้] อ้างอิง
- หนังสือ a-day ฉบับ Jackie Chan Live in Thailand! 33 ฉบับเดือนพฤษภาคม 2003
- วิดีโอสารคดีชุด Jackie Chan : My Story ของบริษัท ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล