โรงเรียนศึกษานารี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนศึกษานารี เป็นโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร
สารบัญ |
[แก้] ข้อมูลพื้นฐาน
โรงเรียนศึกษานารี ตั้งอยู่เลขที่ 176 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10600 โทรศัพท์ 02–4662182 02–4667223 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3 กระทรวงศึกษาธิการ เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ทิศเหนือ จดถนนเทศบาลสาย 2 ทิศใต้ จดถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่ ทิศตะวันออก จดถนนประชาธิปก ทิศตะวันตก จดที่ว่างเปล่าของเอกชน โรงเรียนมีอาคารที่ใช้ในการเรียนการสอน จำนวน 6 หลัง มีสนามอเนกประสงค์ที่มีหลังคาสามารถใช้จัดกิจกรรม เป็นสนามใช้ฝึกซ้อมกีฬา และจัดการเรียนการสอนวิชาพลานามัย มีห้องสมุด ห้องพยาบาล ห้องโสตทัศนศึกษา โรงยิมพลศึกษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 3 ห้อง ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ 8 ห้อง ห้องปฏิบัติการภาษา 1 ห้อง ห้องปฏิบัติการวิชาชีพ 6 ห้อง ห้องประชุม โรงอาหาร นอกจากนี้ โรงเรียนศึกษานารียังเป็นที่ตั้งของศูนย์ต่าง ๆ ดังนี้ 1. ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนศึกษานารี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 2. ศูนย์ดำเนินงานคณะกรรมการ AFS เขตธนบุรี 3. ศูนย์ความเข้าใจอันดีระหว่างชาติและชนในชาติ ขององค์การยูเนสโก 4. ศูนย์พัฒนาคุณภาพวิชาการภาษาฝรั่งเศส ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรุงเทพมหานครเขต 3
[แก้] ประวัติโรงเรียนศึกษานารี
โรงเรียนศึกษานารีเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเริ่มก่อตั้งขึ้นในวัดอนงคาราม โดยสมเด็จพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม รูปที่ 6 กล่าวคือ เมื่อครั้งท่านเป็นพระอันดับ เรียกกันว่า พระอาจารย์นวม ท่านได้เริ่มจัดระบบการสอนลูกศิษย์ ของท่านเป็นการส่วนตัวขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 ต่อมามีผู้เห็นประโยชน์แห่งการศึกษา จึงมีการนำบุตรหลานที่เป็นชายมาฝากเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึง พ.ศ. 2440 กรมศึกษาธิการได้อุปการะครูที่ท่านจ้างมาสอนให้เป็นข้าราชการ รับพระราชทานเงินเดือน และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนท่านขึ้นป็นพระครูอุดมพิทยากร เมื่อ ปีพ.ศ. 2441 พ.ศ. 2444 กรมศึกษาธิการได้อนุมัติเงินจำนวน 4,030 บาท ให้ท่านสร้างโรงเรียนขึ้นหลังหนึ่งเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ทำให้มีสถานที่เล่าเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งมีผู้สร้างถวายไว้แล้ว 2 หลัง พระครูอุดมพิทยากรได้ดำริเห็นว่า ได้ช่วยการศึกษาฝ่ายกุลบุตรสมความมุ่งหมาย ยังแต่ฝ่ายกุลสตรีเท่านั้นที่ยังมิได้ให้ความช่วยเหลือ จึงได้เปิดสอนนักเรียนสตรีขึ้น โดยจ้างนายธูปมาเป็นครูสอน จึงนับได้ว่านักเรียนรุ่นนี้เป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนศึกษานารี ต่อมาเมื่อมีนักเรียนสตรีมากขึ้น พระครูอุดมพิทยากรเห็นว่าสถานที่เล่าเรียนอยู่ใกล้กับกุฏิสงฆ์ มากเกินไปเป็นการไม่เหมาะสม จึงได้ดำเนินการติดต่อขอที่ดินคุณหญิงพัน อันเป็นมรดกสืบเนื่องมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เปิดเป็นสถานที่เล่าเรียนสตรีฝ่ายสตรี (ปัจจุบันคือ บริเวณสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) เมื่อได้ย้ายนักเรียนมาอยู่ ณ ที่นั้นใช้นามโรงเรียนว่า โรงเรียนสตรีอุดมวิทยายน ต่อมากระทรวงธรรมการเห็นว่าชื่อของโรงเรียนมีคำว่า อุดม ไปพ้องกับโรงเรียนชั้นอุดมศึกษา จึงเรียนหารือกับพระครูอุดมพิทยากรขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนศึกษานารี ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2453 วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2473 กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่า โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งเปิดสอนอยู่ที่โรงเรียนศึกษานารีปัจจุบันนี้ เป็นโรงเรียนชาย มีนักเรียนจำนวนมากแต่สถานที่คับแคบ กว่าโรงเรียนศึกษานารี ซึ่งตั้งอยู่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงดำเนินการให้แลกที่กัน เพราะเป็นที่ดินมรดกสืบเนื่องมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นโรงเรียนศึกษานารีจึงย้ายมาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2473 ส่วนที่ตั้งโรงเรียนศึกษานารี เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คำว่าแต่เดิมนั้นหมายเพียงแต่ปี พ.ศ. 2475 เท่านั้น กาลเวลาที่ยาวนานนั้นที่ดินตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ที่ตั้งบ้านเรือนของตระกูลบุนนาค ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางใหญ่มาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ และเมื่อมาถึงสมัยรัชการที่ 5 ขุนนางตระกูลบุนนาคมีอิทธิพลทางการเมืองมาก คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านปู่ของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์นั่นเอง ตระกูลบุนนาคตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งธนนี้ทั้งหมด ตั้งแต่คลองใต้บ้านฝรั่งกุฎีจีน คลองขนอนเข้าไปวัดพิชัยญาติ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ท่านก็สร้างบ้านอยู่ในบริเวณของตระกูลบุนนาคตรงนี้ แล้วสร้างบ้านให้ลูกชายท่าน คือ บิดาของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์อีกหลังหนึ่งต่อขึ้นมาด้านเหนือแต่เรียกรวมที่ดินบริเวณนี้ว่า บ้านสมเด็จฯ อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนบ้านสมเด็จฯ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ท่านเข้ามาพักอาศัย อยู่ในบ้านนี้ตั้งแต่อายุได้ 2 ปี เป็นจุดเริ่มของความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าคุณพระประยุรวงศ์กับโรงเรียนศึกษานารี ซึ่งได้มาแทนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จฯ จนเกิดอาคารเรียนขึ้นมาหลังหนึ่งชื่อว่า เรือนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์บูรณะ หรือ เรียกสั้นๆว่า “เรือนเจ้าคุณ” ซึ่งนับเป็นอาคารหลังหนึ่งของโรงเรียนศึกษานารีนั่นเอง ปัจจุบันโรงเรียนศึกษานารีเปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนจำนวน 3,793 คน ครู 151 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2549)
[แก้] ประวัติสมเด็จปู่
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 มีอำนาจได้สิทธิ์ขาดทั้งปวง มีอาญาสิทธิ์ คือ ประหารชีวิตคนกระทำผิดอุกฤษฏ์โทษได้ มีมหันตเดชานุภาพยิ่งใหญ่ไม่มีผู้ใดเสมอสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุตรในสมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจัน ธิดาเจ้าพระยาพลเทพทองอิน (น้องกรมหมื่นนเรนทรภักดี) เป็นมารดาสมเด็จเจ้าพระยาฯ สมภพในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวา พ.ศ. 2351 มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน และมีพี่น้องต่างมารดาอีก 35 คน สมเด็จเจ้าพระยาฯได้รับการศึกษาอย่างดีจากครูบาอาจารย์ในสมัยนั้น และจากบิดาซึ่งเป็น พระยาพระคลังเสนาบดีว่าการต่างประเทศ จนได้ว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกแต่ใน ร.2 นอกจากนี้ท่านมีความสนใจในภาษาอังกฤษ ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจนสามารถอ่านตำราที่ แพร่หลายอยู่ในขณะนั้นได้ และเจรจาทำสัญญาทางไมตรีกับฝรั่งต่างชาติได้ อีกทั้งยังศึกษาวิชาต่อเรือแบบฝรั่งจนสามารถต่อเรือกำปั่นมีน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 300-400 ตัน ในด้านวรรณคดี สมเด็จเจ้าพระยาฯสนใจพงศาวดารจีน และเมื่อตอนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่นั้น ได้ประชุมนักปราชญ์ทางภาษาแปลพงศาวดารจีนและวรรณคดีจีน 19 เรื่องในระหว่างที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ชราภาพ หากมีราชการแผ่นดินสิ่งใดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้ละเว้นที่จะนำเรื่องนั้นขึ้นปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาฯ จนถึง พ.ศ. 2425 ได้ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 บนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน ขณะเดินทางกลับจากราชบุรี ขณะนั้นมีอายุได้ 74 ปี 27 วัน
[แก้] ศาลาพุทธสรานุสรณ์
เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำโรงเรียน และประดิษฐานรูปเหมือนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดอนงคารามรูปที่ 6 ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศึกษานารี เป็นสถานที่ศักสิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของครู ผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนศึกษานารี สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 84 ปี แห่งการก่อตั้งโรงเรียนศึกษานารี เมื่อปี พ.ศ. 2530
[แก้] สัญญาลักษณ์ของโรงเรียน
สัญลักษณ์ประกอบด้วยอักษร ศน. อยู่ในวงกลม ด้านบนเป็นรูปอุณาโลมและรัศมี ด้านล่างมีคติพจน์ของโรงเรียน
- รัศมี หมายถึง ความมีชื่อเสียง รุ่งโรจน์
- อุณาโลม หมายถึง ความมีศิริ และสวัสดิมงคล
- ปรัชญา เทิดคุณธรรม นำวิชาการ รักสถานศึกษา จรรยาเป็นเลิศ
- คติพจน์ ธมฺโม วิชฺชา จ ปญฺญา จ นิจฺจภิยฺโย ปวทฺฒเต
- คุณธรรม ความรู้ และปัญญายังบุคคลให้เจริญรุ่งเรืองถาวร
- ดอกไม้ประจำโรงเรียน ดอกตะแบก
[แก้] สีประจำโรงเรียน
สัญลักษณ์ของโรงเรียนมีมานานแล้ว เดิมนั้นครูทุกคนจะต้องแต่งกายด้วยผ้าซิ่นสีน้ำตาล สวมเสื้อสีเหลือง ในโอกาสที่โรงเรียนมีงานพิเศษต่าง ๆ เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ งานกาชาด ฯลฯ สัญลักษณ์นี้ผู้ให้กำเนิดคือ อ.เหลือบ บุณยเกตุ อ.ใหญ่คนแรกของโรงเรียนศึกษานารี โดยท่านให้ความหมายว่า สีน้ำตาลนั้น เทียบได้กับความหวานของน้ำตาล อันเป็นรสที่นำความชุ่มชื่นมาสู่ทุกคนที่ได้ลิ้ม ไม่ว่าน้ำตาลนั้นจะไปปรุงแต่งในรสใด สีเหลือง คือ สีแห่งดวงจันทร์ อันเทียบได้กับความงามของสตรี จึงนิมิตว่าสีเหลืองแทนความงาม สีน้ำตาลแทนความหวาน ฉะนั้น ความงามและความหวานในน้ำตาลเหลือง จึงเป็นสัญลักษณ์ของศึกษานารี และความหมายซึ่งเป็นที่มาของน้ำตาล -* เหลืองนี้ อ.นวลจันทร์ พงษ์สิทธิผล ได้ประพันธ์คำกลอนในปี พ.ศ.2508 ว่า ชิมน้ำตาลหวานชื่นระรื่นรส ทุกๆหยดย่อมดำรงคงความหวาน กุลสตรีมีสิ่งเด่นเช่นน้ำตาล ให้คนกล่าวขานถึงจึงจะดี มองพระจันทร์วันเพ็ญเห็นสีเหลือง สาดแสงเรืองจำรัสรัศมี พระจันทร์งามกับทรามวัยกล่าวไว้มี วงกวีเปรียบไว้แต่ไรมา สีน้ำตาล สีเหลืองเรืองอร่าม คือความงามที่มุ่งมาตรปรารถนา หญิงที่สวยบริสุทธิ์ดุจจันทรา และหวานมารยาทพร้อมย่อมสวยนาน ทั้งสองสีมีความดังได้กล่าว เป็นสีชาวศึกษานารีศรีสถาน คุณลักษณ์นี้จีรังกาล เหลือง น้ำตาล เหมาะสำหรับประดับตน
[แก้] เพลงมาร์ชศึกษานารี
เป็นเพลงที่นักเรียนโรงเรียนศึกษานารีทุกคนต้องร้องหลังจากเคารพธงชาติเสร็จแล้ว
ศึกษานารี ศึกษานารี มีสมญา น้ำตาลเหลือง งามสง่า น่าเลื่อมใส สัญลักษณ์ การศึกษา สตรีไทย ตั้งอยู่ใน ธนบุรี มีมานาน อบรม กุลสตรี มาหลายรุ่น ให้มี คุณธรรม นำประสาน กับความรู้ ให้เกิด ปัญญาชาญ ครองตน ครองบ้าน และผู้คน สามัคคี มีระเบียบ ไม่เหลวใหล อีกทั้งมี น้ำใจ เป็นกุศล รักษา เกียรติคุณ ทั่วทุกตน สมเป็น อนุชน ศึกษานารี น้ำตาลเหลือง น้ำตาลเหลือง รุ่งเรืองนัก จะรักษา สัญลักษณ์ ให้สดศรี ตกถิ่น ฐานใด ไม่ราคี เป็น กุลสตรี ของไทยเอย ศึกษานารี น้ำตาลเหลือง ศึกษานารี ศึกษานารี น้ำตาล - เหลือง
[แก้] ความภาคภูมิใจของโรงเรียน
[แก้] โครงการดีเด่นของโรงเรียน
1. โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ 2. โครงการพัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียน 3 .โครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน 4. โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 5. โครงการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 6. โครงการรักการอ่าน 7. โครงการพัฒนานักเรียนสู่มาตรฐานสากล 8. โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ 9 .โครงการส่งเสริมศักยภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี 10. โรงเรียนนำร่องด้านการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของ สสวท. 11. โรงเรียนในโครงการนำร่องการเสริมศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์
[แก้] เกียรติประวัติครู
- ครูทุกคนได้ผ่านการประเมินตามหลักสูตรการอบรมทางไกลบุคลกรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เส้นทางปฎิรูปการเรียนรู้ “ครูปฏิรูป” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- อาจารย์ผ่านการปฏิรูปการศึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์
- บุคลากรเป็นครูต้นแบบและครูแกนนำร้อยเปอร์เซ็นต์
- บุคลาการต้นแบบปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้รางวัลครูเกียรติยศ พ.ศ. 2545
จากกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ
- ครูต้นแบบปี 2545,2546 สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูแกนนำปฏิรูปการเรียนรู้ ประจำปี 2544-2546 จากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูแม่แบบวิชาภาษาไทย ปี 2536,2539 จากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูที่ปรึกษาดีเด่นในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามระบบการดูแล
ช่วยเหลือนักเรียนของกรมสามัญศึกษา ปี 2544 กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูดีที่หนูรัก ปีการศึกษา 2544 จากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูผู้มีความรู้ความสามารถ และครูชำนาญการพิเศษ (ครู คศ.3)
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูดีในดวงใจ ปีการศึกษา 2546, 2547 จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3
- ได้รับโล่เกียรติยศและประกาศเกียรติคุณ “Professional of Teacher Awards 2004”
ครูดี สร้างผลงานแทนคุณแผ่นดินเพื่อชาติไทย จัดโดย Teacher of Model Magazine
- ครูผู้มีผลงานวิจัยดีเด่นจากสมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
- ครูผู้ชนะเลิศประกวดสื่อการสอน ของศูนย์พัฒนาวิชาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ระดับ สพท. กทม. เขต 3
[แก้] ศิษย์เก่า
- สมเด็จย่า http://kanchanapisek.or.th/kp6/M10-00/kmother/chap/chap.htm
- ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th/pornnipa/index.html
- แสงเดือน แม้นวงศ์ http://www.mthai.com/webboard/7/98262.html
- บัวชมพู ฟอร์ด http://www.kapook.com/hilight/content/11432.html
- เชียร์ ทิฆัมพร http://www.cheerclub.net/2005/