ถนนกาญจนาภิเษก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนกาญจนาภิเษก (Thanon Kanchanaphisek) หรือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) เป็นถนนสายสำคัญที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาด้วย
ถนนกาญจนาภิเษกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีปริมาณการจราจรและการขนส่งเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นทางเลี่ยงเมืองกรุงเทพมหานครที่เป็นตัวเชื่อมทางสายหลักเข้าไปสู่ทุกภาคของประเทศ
ถนนกาญจนาภิเษกเดิมมักเรียกกันว่า ถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) มีระยะทางเริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 2 ตัดผ่านฝั่งธนบุรี เข้าสู่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี ไปสิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญชื่อ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีในปี พ.ศ. 2539 มาเป็นชื่อเรียกถนนสายนี้ (และกรมทางหลวงได้เปลี่ยนหมายเลขทางหลวงของถนนสายนี้จากทางหลวงหมายเลข 37 เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข "9") หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและด้านใต้ขึ้นตามมาเป็นตอน ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการสร้างสูงมาก
สารบัญ |
[แก้] ช่วงบางปะอิน-บางบัวทอง-บางขุนเทียน
ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก (บางปะอิน-บางบัวทอง-บางขุนเทียน) ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538 และปี พ.ศ. 2543 (บางช่วง) เป็นทางขนาด 10-12 ช่องทางจราจร มีระยะทาง 68 กิโลเมตร อยู่ในการดูแลของสำนักทางหลวงที่ 11 (กรุงเทพฯ) กรมทางหลวง
- ในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเขตควบคุมของสำนักงานบำรุงทางธนบุรี เริ่มตั้งแต่ทางต่างระดับบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน ตัดทางรถไฟสายมหาชัยเข้าเขตบางบอน ตัดถนนเอกชัย ข้ามคลองบางโคลัดเข้าสู่พื้นที่เขตบางแค ตัดกับถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม และข้ามคลองบางเชือกหนัง ซึ่งถนนกาญจนาภิเษกฟากตะวันออกตั้งแต่จุดนี้ไป (ข้ามคลองบางน้อย คลองบางพรหม คลองบางระมาด และตัดกับถนนบรมราชชนนี) จนถึงกิโลเมตรที่ 30+600 (สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์) จะเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตทวีวัฒนากับเขตตลิ่งชันจนสุดเขตกรุงเทพมหานคร
- ในเขตจังหวัดนนทบุรี อยู่ในเขตควบคุมของสำนักงานบำรุงทางนนทบุรี เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 30+600 ผ่านตำบลปลายบางและตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย ตัดถนนนครอินทร์ (ที่มาจากสะพานพระราม 5) ข้ามคลองบางนาเข้าเขตอำเภอบางใหญ่ ข้ามคลองบางใหญ่ จากนั้นตัดกับถนนรัตนาธิเบศร์ ก่อนข้ามคลองบางแพรกเข้าสู่พื้นที่อำเภอบางบัวทอง ตัดถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (340) และถนนบางบัวทอง-ปทุมธานี (345) ข้ามคลองลำโพเข้าสู่เขตอำเภอปากเกร็ด จนถึงกิโลเมตรที่ 51+070 (สะพานข้ามคลองพระอุดม) รวมระยะทางในเขตนี้ประมาณ 22 กิโลเมตร
- ในเขตจังหวัดปทุมธานี เป็นเขตควบคุมของแขวงการทางปทุมธานี เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 51+070 (ต่อเขตสำนักงานบำรุงทางนนทบุรี) ที่ตำบลคลองพระอุดม ผ่านอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอเมืองปทุมธานี ข้ามคลองบางโพธิ์ใต้ คลองบางหลวง ตัดถนนปทุมธานี-บางเลน (346) ข้ามคลองบางโพธิ์เหนือเข้าสู่เขตอำเภอสามโคก ข้ามคลองบางเตย คลองควาย ตัดถนนสามโคก-เสนา (3111) จนถึงกิโลเมตรที่ 71+570 (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดกร่าง)
- ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเขตควบคุมของแขวงการทางอยุธยา เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 71+570 (ต่อเขตแขวงการทางปทุมธานี) ที่ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางไทร ตัดถนนสามโคก-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (3309) เข้าสู่พื้นที่อำเภอบางปะอิน ตัดทางพิเศษอุดรรัถยา ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 ข้ามคลองเปรมประชากรและทางรถไฟสายเหนือ ไปบรรจบถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 52-53
[แก้] ช่วงบางปะอิน-บางพลี
ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) เป็นทางขนาด 4-8 ช่องจราจร ระยะทาง 63 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2541 อยู่ในการดูแลของสำนักงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
- ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มต้นจากถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 55 อำเภอวังน้อย ลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนถึงกิโลเมตรที่ 3.485 (สะพานข้ามคลองระพีพัฒน์)
- ในเขตจังหวัดปทุมธานี เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 3.485 (ต่อเขตแขวงการทางอยุธยา) ที่ตำบลคลองสอง ข้ามคลองชลประทานเข้าเขตตำบลคลองสาม ข้ามคลองสามและคลองสี่ ตัดถนนคลองหลวง (3214) เลียบคลองชลประทาน เข้าเขตอำเภอธัญบุรี ตัดถนนรังสิต-นครนายก ข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์และคลองห้า เข้าเขตอำเภอลำลูกกา ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตัดถนนลำลูกกาและข้ามคลองหกวา ตัดถนนหทัยราษฎร์ เป็นระยะทาง 28.515 กิโลเมตร
- ในเขตกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ที่แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา ข้ามคลองพระยาสุเรนทร์เข้าเขตสายไหม ข้ามคลองบึงพระยาสุเรนทร์ (ออเป้ง) เข้าพื้นที่เขตบางเขน ข้ามคลองหกขุดและคลองคู้บอนเข้าพื้นที่เขตคันนายาว ตัดถนนรามอินทรา ถนนเสรีไทย ข้ามคลองแสนแสบ ตัดถนนรามคำแหง ข้ามคลองทับช้างบน ตัดถนนกรุงเทพ-ชลบุรีเข้าสู่พื้นที่เขตประเวศ ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ตัดถนนอ่อนนุช จนสุดเขตกรุงเทพมหานครที่คลองต้นตาล
- ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ เริ่มตั้งแต่คลองต้นตาล ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี สิ้นสุดที่ถนนบางนา-ตราด
[แก้] ช่วงบางพลี-บางขุนเทียน
ถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ (บางพลี-บางขุนเทียน) กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยเปิดให้ใช้งานได้บางส่วนแล้ว โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6-8 ช่องจราจรเนื่องจากที่ดินบริเวณแนวการก่อสร้างนั้นอ่อนมาก ระยะทาง 34 กิโลเมตร แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงบางขุนเทียน-สุขสวัสดิ์ และช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี ซึ่งช่วงที่สองนี้เป็นส่วนของ ทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ ซึ่งมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ที่ ตำบลครุใน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
- ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ เริ่มจากอำเภอพระประแดง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังอำเภอเมืองสมุทรปราการ เชื่อมต่อกับโครงการวงแหวนอุตสาหกรรม แล้วตรงไปบรรจบกับ ทางหลวงพิเศษบางปะอิน-บางพลี ที่ชุมทางต่างระดับบางพลี
- ในเขตกรุงเทพมหานคร เริ่มจากชุมทางต่างระดับบางขุนเทียน ไปจนเข้าเขตอำเภอพระประแดง
[แก้] ดูเพิ่ม
ถนนกาญจนาภิเษก เป็นบทความเกี่ยวกับ การเดินทาง การคมนาคม และการขนส่ง ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ถนนกาญจนาภิเษก ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |