ปลาขาไก่
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
ขาไก่ เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kryptopterus cryptopterus อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีรูปร่างเพรียว ลำตัวแบนข้าง ส่วนหัวสั้น ปากเล็ก ตาโตอยู่ต่ำกว่ามุมปาก ส่วนหลังไม่ยกสูง มีหนวดยาว 2 คู่ หนวดที่ริมฝีปากยาวถึงบริเวณขอบฝาปิดเหงือก หนวดใต้คางสั้น ครีบหลังเล็กมากเห็นเป็นเส้นสั้น ๆ ครีบอกใหญ่มีก้านแข็งที่ยาวเกือบเท่าความยาวของครีบ ครีบก้นยาว มีหางเว้าตื้น ตัวมีสีเหลืองอ่อนเหลือบเขียว ตัวค่อนข้างใส ครีบสีจาง ขอบครีบก้นมีสีคล้ำเช่นเดียวกับครีบหาง ครีบอกในตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีสีคล้ำ มีความยาวประมาณ 10 ซ.ม. พบใหญ่สุด 20 ซ.ม.
อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ มักย้ายถิ่นขึ้นมาในบริเวณน้ำหลากในฤดูฝน โดยกินอาหารได้แก่ แมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบในแม่น้ำของทุกภาค ยกเว้นแม่น้ำสาละวิน บริโภคโดยการปรุงสด หรือนำมาทำเป็นปลาแห้ง ปลารมควัน นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย แค่ค่อนข้างเลี้ยงยาก เนื่องจากเป็นปลาขี้ตกใจ ตายง่าย
ขาไก่ มีชื่อเรียกที่เรียกกันหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่น " เพียว " ที่ภาคอีสาน " กะปิ๋ว " ที่ จ. ปราจีนบุรี " ปีกไก่ " หรือ " นาง " หรือ " ดอกบัว " ในแถบแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล หรือบางครั้งเรียก " หางไก่ " หรือ " ไส้ไก่ " เป็นต้น