พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับพระบวรราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2391 เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาได้ 43 พรรษา มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศ รังสรรค์ มหรรต วรรคโชไชย มโหฬารคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บวรจักรพรรดิราช บวรนาถบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
สารบัญ |
[แก้] พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชมารดาคือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี หรือเป็นที่รู้จักอย่างดีคือ เจ้าฟ้าน้อย พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
[แก้] ขณะยังทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า เจ้าฟ้าน้อย เป็น พระราชโอรสลำดับที่ 50 และเป็นพระราชกุมารลำดับที่ 27 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ประสูติที่พระราชวังเดิมคลองบางกอกใหญ่และมีคุณหญิงนก ไม่ทราบนามสกุล เป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว [1]
เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้เข้ารับราชการในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ปรากฏว่ามีความชอบในราชการ และทรงได้รับการแต่งตั้งให้ทรงกรมเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 (พระชนมายุ 24 พรรษา)
นับย้อนไปในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระเจ้าแผ่นดินมักจะทรงสถาปนาให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ที่เกิดจากพระอัครมเหสี เป็นพระมหาอุปราช ซึ่งจะทรงดำรงตำแหน่งเป็น พระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระองค์ แต่บางรัชกาลก็ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่มีความชอบต่อแผ่นดินขึ้นเป็น พระมหาอุปราช (เรียกในราชการว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า) และตามหลักฐานเท่าที่มีปรากฏใน พระราชพงศาวดารของไทยเรา การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งพระอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง นั้น มีเฉพาะ สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถเท่านั้น ก่อนที่จะมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอไว้ในตำแหน่งพระมหาอุปราช และให้มีพระราชอิสริยยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดินนั้น มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญเป็นเพราะพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้านของพระมหาอุปราชพระองค์นี้ที่ได้เป็นกำลังสำคัญของชาติ
ตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกฝรั่งชาว ตะวันตก และพร้อมกับเป็น พระกำลังที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ทรงเข้าร่วมการเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับราชทูตประเทศอังกฤษ พระเกียรติยศชื่อเสียง ในด้านความรอบรู้ของใต้ฝ่าละอองธุลี พระบาทในภาษา หลายภาษา และในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นสูงหลายวิชา ซึ่งทรงรอบรู้ผิดไปจากคนในหมู่ชาติตะวันออกมาก ซึ่งก็ได้แพร่สะพัดถึงสหรัฐอเมริกา ด้วยทรงทราบชื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนด้วย
[แก้] พระราชอัชฌาสัย และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอัธยาศัยต่างจากพระเชษฐามาก เพราะฝ่ายแรกชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ส่วนฝ่ายหลังค่อนข้างเงียบขรึม ฉะนั้นจึงมักโปรดในสิ่งที่ไม่ค่อยจะตรงกันนัก แต่ถ้าเป็นความสนิทสนมส่วนพระองค์แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทำอะไรก็มักนึกถึงพระราชอนุชาอยู่เสมอ เช่น คราวหนึ่งเสด็จขึ้นไปปิดทองพระพุทธรูปใหญ่วัดพนัญเชิง ก็ทรงปิดเฉพาะพระพักตร์ เว้นพระศอไว้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงปิดต่อ นอกจากนี้ทั้ง 2 พระองค์ ก็ทรงล้อเลียนกันอย่างไม่ถือพระองค์ และส่วนมากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะเป็นฝ่ายเย้าแหย่มากกว่า
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ กับ เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ซึ่งข้อความในสนธิสัญญานั้น ถ้าเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จะมีคำกำกับว่า The First King ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ จะมีคำกำกับว่า The Second King สำหรับในภาษาไทยนั้น ตามสนธิสัญญา ทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในบทภาค ภาษาไทยจะแปลคำว่า The First King ว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เอก ส่วนคำว่า The Second King นั้นจะแปลว่า พระเจ้าประเทศสยามพระองค์ที่ 2 พระบาทสมเด็จประปิ่นเกล้า ฯ มีพระนามปรากฏอยู่ในประกาศในอารัมภบทให้ดำเนินการเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 คู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล ในด้านการ ต่างประเทศ ทรงรอบรู้ข่าวสารในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ทรงทราบพระราชหฤทัยดีว่า ถ้าหากทรง ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวแล้วไซร้ ไทยเราจะเสียประโยชน์ ส่วนบรรดาฝรั่งที่รู้จักมักคุ้นกับวังหน้ามักจะยกย่องชมเชยว่า ทรงเป็นสุภาพบุรุษเพราะพระองค์มีพระนิสัยสุภาพ โดยเฉพาะกับพระราชชนนี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ด้วยแล้ว ทรงแสดงความเคารพเกรงกลัวเป็นอันมาก
นอกจากนี้ทรงโปรดการท่องเที่ยวไปตามหัวบ้านหัวเมือง ทั้งเหนือและใต้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะอยู่เสมอ จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมือง อยู่เนือง ๆ กล่าวกันว่า มักเสด็จไปประทับตามถิ่น ที่มีบ้านลาว เสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะทวน แขวงนครไชยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่เสด็จไปประทับที่ตำหนัก บ้านสีทา จังหวัดสระบุรีเสียโดยมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ได้เคยเสด็จไปเที่ยวประพาสตามหัวเมือง ต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิสเรศรังสรรค์แล้ว เพราะทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า การเสด็จประพาสหัวเมืองเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ด้วยสามารถทรงทราบทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาชนได้เป็น อย่างดีซึ่งดีกว่ารายงานในกระดาษมากนัก
[แก้] พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว 10 ปี พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ เสด็จสู่สวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับ วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 พระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในอุปราชาภิเษกสมบัติทั้งสิ้น 15 พรรษา
[แก้] พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ กับการทหารเรือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในวิชาการด้านจักรกลมาก และเพราะเหตุที่พระองค์โปรดการทหาร จึงทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นพิเศษ เท่าที่ค้นพบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ นั้น ก็มักจะ ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร และเป็นเครื่องแบบทหารเรือด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีการบันทึกพระราชประวัติ ในส่วนที่ทรงสร้างหรือวางแผนงานเกี่ยวกับ กิจการทหารใด ๆ ไว้บ้างเลย แม้ในพระราชพงศาวดาร หรือในจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็ ไม่มีการบันทึกผลงานพระราชประวัติใน ส่วนนี้ไว้เลย และแม้พระองค์เองก็ไม่โปรดการบันทึก ไม่มีพระราชหัตถเลขา หรือมีแต่ไม่มีใครเอาใจใส่ทอดทิ้ง หรือทำลายก็ ไม่อาจทราบได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีงานเด่น ที่มีหลักฐานทั้งของฝรั่ง และไทย กล่าวไว้ แม้จะน้อยนิดแต่ก็แสดงให้เห็นถึงการริเริ่มที่ ล้ำหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ผลงานนั้นคือการทหารเรือ การทหารเรือ ของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ : ช่วง บุนนาค) ด้วยทั้ง 2 ท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือในสมัยนั้น เป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น
ต่อมาได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือ วังหน้า ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในยามปกติทั้ง 2 ฝ่าย นี้ ไม่ขึ้นแก่กันแต่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และ ยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไร สู่แผ่นดินด้วยมิใช่สร้าง แต่เรือรบเพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงนำเอาวิทยาการ สมัยใหม่ของยุโรป มาใช้ฝึกทหารให้มีสมรรถภาพเป็นอย่างดี ทรงให้ร้อยเอก น็อกส์ (Thomas George Knox) เป็นครูฝึกทหารวังหน้า ทำให้ทหารไทยได้รับวิทยาการอันทันสมัยตามแบบ ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป
การฝึกหัดใช้คำบอกทหารเป็น ภาษาอังกฤษทั้งหมดเริ่มมีเรือรบกลไฟเป็นครั้งแรก ชื่อเรืออาสาวดีรส3 และเรือยงยศอโยชฌิยา4 (หรือยงยศอโยธยา) ซึ่งเมื่อครั้งเรือยงยศอโยชฌิยา ได้เดินทางไปราชการที่สิงคโปร์ ก็ได้รับคำชมเชยจากต่างประเทศเป็นอันมาก ว่าพระองค์มี พระปรีชาสามารถทรงต่อเรือได้ และการเดินทางในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการไปอวดธงไทยในต่างประเทศ ธงไทยได้ถูกชัก ขึ้นคู่กับธงอังกฤษ ที่ฟอร์ทแคนนิ่งด้วย และแม้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ก็ทรงโปรด ฯ ให้เป็นทหารเรือเช่นกัน ประวัติของเรือที่พระองค์ทรงมีใช้ในสมัยนั้น ตามที่พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ได้รายงานเล่าไว้ในหนังสือ ประวัติทหารเรือไทย มีดังนี้
- เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 200 ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ 10 กระบอก เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)
- เรือราชฤทธิ์ (Sir Walter Scott) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือแบบเดียวกันกับพุทธอำนาจ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน
- เรืออุดมเดช (Lion) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 300 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ใช้ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ. 2387 ได้นำสมณทูตไปลังกา
- เรือเวทชงัด (Tiger) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2386 เป็นเรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 200 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
- เรือพุทธสิงหาศน์ (Cruizer) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 เป็นเรือชนิดชิพ ขนาด 400 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ
- เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2400 เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 100 ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์
เกียรติประวัติของการทหารเรือไทยสมควรจะต้องยกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์เป็น ผู้ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีเรือรบต่างประเทศเข้ามาเยี่ยม ประเทศไทยคราวใดพระองค์ก็มักหาโอกาสเสด็จไปเยี่ยมเยียนเรือรบเหล่านั้นเสมอ เพื่อจะได้ทรงทราบว่าเรือรบต่าง ประเทศเขาตกแต่งและจัดระเบียบเรือกันอย่างไร แล้วนำมาเป็นแบบอย่างให้กับเรือรบของไทยในเวลาต่อมา
จากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำในเรื่องเรือสมัยใหม่ ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าเหล็กจะลอยน้ำได้แต่พระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏ ทรงต่อเรือรบ กลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงแตกฉานเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษจนสามารถติดต่อ กับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดีพระสหาย และพระอาจารย์ เป็นชาว อเมริกันเสียเป็นส่วนมากทรงหมกมุ่นกับกิจการทหารเรือมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็น ผู้บัญชาการ ทหารเรือ พระองค์แรก และควรถวายพระนามว่า ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า สมควรได้รับการถวายพระเกียรติยศขั้นสูงสุด จากเราชาวกองทัพเรือ ตั้งแต่นี้และตลอดไป
[แก้] พระโอรส-ธิดา
[แก้] ประสูติก่อนบวรราชาภิเษก
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2378) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2380) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามาลัย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร (พ.ศ. 2381-2428) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม ทรงบวรราชาภิเษกเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. 2408
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2381) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากุหลาบ
- พระองค์เจ้าหญิงดวงประภา (พ.ศ. 2381-2438) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามาลัย
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2381) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตาด
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2382) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาใย
- พระองค์เจ้าหญิงบุปผา (พ.ศ. 2382) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2382) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง
- พระองค์เจ้าชายสุธารส (พ.ศ. 2383-2436) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากุหลาบ ทรงเป็นต้นสกุล สุธารส
- พระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์ (พ.ศ. 2383-2455) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามาลัย
- พระองค์เจ้าชายวรรัตน์ (พ.ศ. 2384-2449) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเกด ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ เมื่อ พ.ศ 2424 ในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นต้นสกุล วรรัตน์
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2384) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบัว
- พระองค์เจ้าหญิงตลับ (พ.ศ. 2384) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าชายปรีดา (พ.ศ. 2385) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2387) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2387) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพื่อน
- พระองค์เจ้าชายภาณุมาศ (พ.ศ. 2388-2431) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอี่ยม ทรงเป็นต้นสกุล ภาณุมาศ
- พระองค์เจ้าชายหัสดินทร์ (พ.ศ. 2388-2429) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหนู ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2424 ในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นต้นสกุล หัสดินทร
- พระองค์เจ้าชายเนาวรัตน์ (พ.ศ. 2388-2433) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นสถิตย์ธำรงศักดิ เมื่อ พ.ศ. 2424 ในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นต้นสกุล นวรัตน์
- พระองค์เจ้าชายเบญจางค์ (พ.ศ. 2388-2419) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพื่อน
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2390) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาด๊า
- พระองค์เจ้าชายยุคนธร (พ.ศ. 2391) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแย้ม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นต้นสกุล ยุคนธรานนท์
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2391) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าหญิงราษี (พ.ศ. 2391-2442) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเยียง
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2392) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอี่ยม
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2392) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาด๊า
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2392) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเท้ย
- พระองค์เจ้าชายกระจ่าง (พ.ศ. 2392) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพื่อน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5
- พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์ (พ.ศ. 2393-2459) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม
- พระองค์เจ้าชายวัชรินทร์ (พ.ศ. 2393) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตาด
- พระองค์เจ้าหญิงจำเริญ (พ.ศ. 2393-2450) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าหญิงถนอม (พ.ศ. 2393-2428) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพัน
[แก้] ประสูติเมื่อบวรราชาภิเษกแล้ว
- พระองค์เจ้าชายโตสินี (พ.ศ. 2394-2458) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ ทรงเป็นต้นสกุล โตษะณีย์
- พระองค์เจ้าชายเฉลิมลักษณวงศ์ (พ.ศ. 2396-2456) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขลิบ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร เมื่อ พ.ศ. 2446
- พระองค์เจ้าชายนันทวัน (พ.ศ. 2396-2434) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหนู ทรงเป็นต้นสกุล นันทวัน
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2396) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจัน
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2396) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2397) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพลับ
- พระองค์เจ้าชายวัฒนา (พ.ศ. 2397) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาลำภู
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2397) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าหญิงภัควดี (พ.ศ. 2398) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพลอย สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2483 ในรัชกาลที่ 8
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2398) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาช้อย
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2398) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าหญิงวรภักตร์ (พ.ศ. 2398-2427) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาส่วน
- พระองค์เจ้าหญิงวิลัยทรงกัลยา (พ.ศ. 2398) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขลิบ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5
- พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม (พ.ศ. 2399-2489) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสีดา
- พระองค์เจ้าหญิงประโลมโลก (พ.ศ. 2399-243) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแก้ว
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2399) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพลับ
- พระองค์เจ้าชายพรหเมศ (พ.ศ. 2399-2434) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพรหมา ทรงเป็นต้นสกุล พรหเมศ
- พระองค์เจ้าหญิงโศกส่าง (พ.ศ. 2399) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหงส์
- พระองค์เจ้าหญิงพิมพับสรสร้อย (พ.ศ. 2399-2468) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาวันดี
- พระองค์เจ้าชายจรูญโรจน์เรืองศรี (พ.ศ. 2399-2451) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาช้อย ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ เมื่อ พ.ศ. 2439 ในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นต้นสกุล จรูญโรจน์
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2400) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลีบ
- พระองค์เจ้าชายสนั่น (พ.ศ. 2400) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่อน ทรงเป็นต้นสกุล สายสนั่น
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2400) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาช้อย
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2401) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสายบัว
- พระองค์เจ้าหญิงสอางองค์ (พ.ศ. 2403-2465) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาวันดี
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
รัชสมัยก่อนหน้า: สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ |
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ราชวงศ์จักรี พ.ศ. 2394 - 2408 |
รัชสมัยถัดไป: กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ |
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |