มหาวิทยาลัยชิคาโก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago) หรือที่เรียกโดยย่อว่า UC หรือ UofC ตั้งอยู่ในชุมชนไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) ซึ่งอยู่ทางใต้ของใจกลางเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประมาณ 6 ไมล์ เป็นมหาวิทยาลัยเน้นการวิจัย (Research University) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาและของโลก โดยเฉพาะในด้านวิชาการ และผลงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาที่มีผู้เกี่ยวข้องได้รับ รางวัลโนเบลเป็นจำนวนมากที่สุด
สารบัญ |
[แก้] ประวัติมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยชิคาโกก่อตั้งในปี ค.ศ. 1890 โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก จอห์น ดี. ร็อคกะเฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) มหาเศรษฐีน้ำมันชาวอเมริกัน ส่วนที่ดินได้รับบริจาค จาก มาแชล ฟิวล์ (Marshall Field) ผู้เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งเมืองชิคาโก เริ่มมีการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 1892 โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมระหว่าง การศึกษาแบบเสรี (Liberal Arts Education) ในระดับปริญญาตรี และการศึกษาวิจัยตามแนวเยอรมันในระดับบัณฑิตศึกษา โดยมีอธิการบดีคนแรกคือ วิลเลี่ยม เรนนี่ ฮาร์เปอร์ (William Rainey Harper)
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ภายใต้การนำของอดีตอธิการบดี โรเบิร์ต เมนาร์ด ฮัทชิน (Robert Maynard Hutchins)มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้สร้างเอกลักษณ์ในทางวิชาการจากการสอนนักศึกษา ปริญญาตรีในวิชา "core curriculum" ที่ถือว่ายากและหนักโดยเน้นให้นักศึกษาเรียนจากตำราคลาสสิก ต้นฉบับต่าง ๆ (The Great Books) การเน้นการอภิปรายในชั้นเรียนมากกว่าจากการบรรยาย มหาวิทยาลัยอีกแห่งที่ใช้ประเพณีนี้คือมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ย่านไฮด์ปาร์ค ซึ่งเดิมเป็นย่านของคนชั้นกลาง เริ่มจะเสื่อมลง บนถนนสาย 55th มีร้านขายเหล้าถึง 22 ร้าน มหาวิทยาลัยจึงได้มีโครงการเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ให้มีความน่าอยู่มากขึ้น เช่น การจัดทำถนนใหม่ การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของมหาวิทยาลัย (University Park Condominiums, UPC) ซึ่งออกแบบโดย ไอ.เอ็ม. เป (I.M. Pei) ปัจจุบันนี้มีบาร์อยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือร้าน Woodlawn Tap ซึ่งเป็นเป็นแหล่งสังสรรค์ของนักศึกษา
[แก้] ชื่อเสียงทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยชิคาโกได้ชื่อว่าเป็น "teacher of teachers" (อาจารย์ของหมู่อาจารย์) เนื่องจากมีศิษย์เก่าประมาณหนึ่งในเจ็ด ที่ประกอบอาชีพเป็นครูอาจารย์ตามสถาบันต่าง ๆ
มหาวิทยาลัยชิคาโกได้ให้กำเนิดสำนักความคิด (School of Thought) ในหลายสาขาวิชา อาทิ สำนักเศรษฐศาสตร์ชิคาโก (The Chicago School of Economics) สำนักวรรณคดีวิจารณ์ชิคาโก (The Chicago School of Literary Criticism) สำนักสังคมวิทยาชิคาโก (The Chicago School of Sociology) และการบุกเบิกในด้าน กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) ในทางวิทยาศาสตร์ ได้มีการคิดค้นปฏิกิริยานิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในโลกในบริเวณมหาวิทยาลัย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ศ. เอนริโก เฟอมิ (Enrico Fermi) ภายใต้โครงการแมนฮัตตัน
[แก้] สำนักเศรษฐศาสตร์ชิคาโก
คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโก มีชื่อเสียงในฐานะเป็นสำนักคิดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงผ่านเข้ามานับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน อาจารย์รุ่นบุกเบิกอาทิ แฟรงค์ ไนค์, จาคอบ ไวเนอร์, พอล ดักลาส (เจ้าของ Cobb-Douglas function) เฮนรี่ ไซมอนส์ จนมาถึงยุคของ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman), โรนัล โคสต์ (Ronald Coase) , จอร์จ สติกเลอร์ (George Stigler), แกรี่ เบกเกอร์ (Gary Becker), โรเบิร์ต ลูคัส (Robert Lucas), เจมส์ เฮกแมน (James Heckman), โรเบิร์ต โฟเกล (Robert Fogel)
ณ ปัจจุบันนี้ อาจารย์รางวัลโนเบล 4 คนหลังสุดยังทำหน้าที่สอนประจำอยู่
[แก้] สำนักสังคมวิทยาชิคาโก
ในสาขาสังคมวิทยา (Sociology) ชิคาโกถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแรกในโลกที่มีคณะสังคมวิทยา บุคคลากรผู้มีชื่อเสียงในอดีตอาทิ Albion Small, George Herbert Mead, Robert E. Park, W.I.Thomas, Ernest Burgess
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังมีชื่อเสียงในการศึกษาแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) ทั้งในทางวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงเช่น Committee on Social Thought ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงทั้งในทางด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์หลายท่าน อาทิ Hannah Arendt, T.S. Eliot, Leo Strauss, Allan Bloom, Nathan Tarcov, Friedrich Hayek, Leon Kass, Mark Strand, Wayne Booth และ J.M. Coetzee
[แก้] รางวัลโนเบล
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยชิคาโกมีความเกี่ยวข้องกับผู้ได้ัรับรางวัลโนเบลเป็นจำนวน 79 คน ทั้งในฐานะเป็นศิษย์เก่า อาจารย์ หรือนักวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยรวมแล้วถือว่าเป็นโรงเรียนที่ผลิตผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวนมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา
[แก้] มหาวิทยาลัยชิคาโกกับประเทศไทย
ในอดีตที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชิคาโกที่เป็นชาวไทย อาทิ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา, ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย, ดร. มนตรี เจนวิทย์การ, ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัตร ฯลฯ
ใน พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโก-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (University of Chicago-UTCC Research Center) มีคณะทำงานประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ชาวไทยจากสำนักชิคาโกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันมีชาวไทยจำนวน 7 ท่านที่สำเร็จปริญญาเอกจากคณะเศรษฐศาสตร์ชิคาโก
[แก้] ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยชิคาโก
- Proof (2005) – เรื่องเีกี่ยวกับศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก
- When Harry Met Sally... (1989) - ตัวเอกเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชิคาโก มีฉากมหาวิทยาลัย ว่ากันว่าเป็นเรื่องที่แสดงความเป็นนักเรียนของชิคาโกได้ดีที่สุด มีการนำมาฉายเป็นภาพยนตร์กลางแจ้งในช่วงเปิดภาคเรียนทุกปี
- Raiders of the Lost Ark (Indiana Jones, 1981) - อินเดียน่า โจนส์ เรียนหรือทำงานที่สถาบันตะวันออกศึกษา (The Oriental Institute) ของมหาวิทยาลัย
- The Core (2003) - เรื่องเกี่ยวกับศาสตราจารย์ทางธรณีฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยชิคาโก
- Chain Reaction (1996) - เกี่ยวกับการทดลองทางด้านปฏิกิริยานิวเคลียร์ภายในมหาวิทยาัลัย