ลานพระบรมรูปทรงม้า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลานพระบรมรูปทรงม้า หรือ ลานพระรูป เป็นลานกว้าง อยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งอนันตสมาคม และ สวนอัมพร ในเขตพระราชวังดุสิต ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และเป็นที่ตั้งของ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมรูปทรงม้า (ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Royal Plaza)
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนำแบบอย่างมาจากพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ด้วยฝีมือนายช่างชาวฝรั่งเศส บริษัท ซุซเซอร์ เฟรสฟอร์เดอร์ ในวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอย่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระองค์เสด็จประทับ ให้ช่างปั้น เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๕๐ พระบรมรูปสำเร็จเรียบร้อยส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ วันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ อันเป็น เวลาพอดีกับงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ๔๐ ปี เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองหน้าพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง
พระบรมรูปทรงม้า หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ เป็นที่ม้ายืน หนาประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ประดิษฐานบนแท่นรอง ทำด้วยหินอ่อน สูงประมาณ ๖ เมตร กว้าง ๒ เมตรครึ่ง ยาว ๕ เมตร
พระบรมรูปทรงม้าสร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุน ส่วนเงินที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำไปสร้างมหาวิทยาลัยขึ้น มีนามตามพระปรมาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[แก้] เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ดูเพิ่ม : การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎร ประกอบด้วย ทหารบก, ทหารเรือ และ พลเรือน รวมทั้งสิ้น ๑๑๕ นาย นำโดย นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ลุกขึ้นก่อการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ ๒๐๐๐ คน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๕ นาฬิกา จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน แถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป
หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า
[แก้] กิจกรรม
งานพิธีการ ที่จัดบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
- ๒๕ มกราคม - พิธีสวนสนาม และพิธีกระทำสัตย์ปฏิญานตนต่อธงชัยเฉลิมพล ของทหาร ๓ เหล่าทัพ เนื่องในวันกองทัพไทย ปัจจุบันแต่ละเหล่าทัพแยกย้ายไปกระทำพิธีภายในหน่วยทหาร โดย
- กองบัญชาการทหารสูงสุด ทำพิธีที่กองพันทหารสื่อสาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
- กองทัพบก ทำพิธีที่กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
- กองทัพเรือ ทำพิธีที่โรงเรียนนายเรือ [1]
- กองทัพอากาศ ทำพิธีที่โรงเรียนนายเรืออากาศ [2]
- ๒๓ ตุลาคม - พิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันปิยมหาราช
- ๒ ธันวาคม - พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทุกเย็นวันเสาร์ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จะเป็นจุดนัดพบของกลุ่มผู้รักรถโบราณ เช่น รถโฟล์กสวาเกน รถเวสป้า
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก WikiMapia or Google Map
- แผนที่ จาก Multimap or GlobalGuide
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก TerraServer
สถานที่ภายในพระราชวังดุสิต |
---|
วัดประจำพระราชวัง | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร |
เขตพระราชฐานปัจจุบัน | พระที่นั่งอนันตสมาคม · พระที่นั่งอัมพรสถาน ·พระที่นั่งวิมานเมฆ· พระที่นั่งอภิเศกดุสิต · พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน · วังปารุสกวัน · วังสวนกุหลาบ · ลานพระบรมรูปทรงม้า · สวนอัมพร · สนามเสือป่า · พระตำหนักในพระราชวังดุสิต |
เขตพระราชฐานในอดีต | พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต · พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา · พื้นที่สำนักงานกรมป้องกันและบรรเทาภัยฝ่ายพลเรือน · พื้นที่สำนักงานกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น · ท่าวาสุกรี |