สัทธรรมปุณฑรีกสูตร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (สัด-ทำ-มะ-ปุน-ดะ-รี-กะ-สูด) เป็นพระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนิกชนมหายานโดยเฉพาะชาวจีนและประเทศในเอเชียตะวันออก เวลาการแต่งพระสูตรนั้น ไม่มีมติที่แน่นอน บ้างก็ว่าหลายร้อยปีหลังพุทธปรินิพพาน บ้างก็ว่าแต่งขึ้นในราว พ.ศ. 300 เป็นอย่างเร็ว แต่ต้นฉบับสันสกฤตที่ค้นพบในเนปาลล้วนมีอายุหลังพุทธกาลราว 1,500 ปีทั้งสิ้น แม้ฉบับแปลของทิเบตก็มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 วินเตอร์นิตซ์ได้เสนอความเห็นว่า พระนาคารชุนได้อ้างถึงข้อความจากสัทธรรมปุณฑรีกสูตรอยู่หลายตอน เพราะฉะนั้นต้นฉบับเดิมย่อมต้องมีอยู่แล้วในพ.ศ.693 จึงสันนิษฐานได้ว่าสัทธรรมปุณฑรีกสูตรน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ความคิดแบบมหายานพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วในอินเดีย
[แก้] ชื่อ
คำว่า "ปุณฑรีก" นั้นเป็นภาษาสันสกฤต (อักษรเทวนาครี : सद्धर्मपुण्डरीकसूत्र, อักษรโรมัน : Saddharmapundarīka-sūtra) หมายถึง บัวขาว ในภาษาจีนจึงเรียกพระสูตรนี้ว่า "พระสูตรบัวขาว" (妙法蓮華經) ; เมี่ยวฝ่า เหลียนฮฺวา จิง) สำหรับในภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า "เมียวโฮ เรงเงะ เคียว" (妙法蓮華経)
ในภาษาอังกฤษก็เรียกตามความหมายว่า "Lotus Sutra", "White Lotus Sutra", "Sutra of the White Lotus", หรือ Sutra on the White Lotus of the Sublime Dharma"
[แก้] เนื้อหา
พระสูตรนี้มีด้วยกัน 3 ภาค หรือยาน ได้แก่ สาวกยาน (ศฺราวกยาน), ปัจเจกพุทธยาน (ปฺรตฺเยกพุทฺธยาน) และโพธิสัตวยาน (โพธิสตฺตฺวยาน) แต่มิใช่หนทางที่ต่างกัน 3 สาย อันจะนำไปสู่เป้าหมาย 3 อย่างต่างกัน ทว่าเป็นหนทางหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่เป้าหมายหนึ่งเดียว
ภาษาต้นฉบับนั้นก็ไม่ปราฏชัด มีข้อเสนอว่า อาจแต่งเป็นภาษาถิ่นปรากฤต จากนั้นจึงแปลเป็นภาษาสันสกฤต ทำให้มีเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และมีการแปลเป็นภาษาจีนถึง 6 สำนวน แต่สามฉบับแรกต้นฉบับสาบสูญไปแล้ว เหลือเพียงสามฉบับหลัง ที่หลงเหลือในปัจจุบันฉบับพระภิกษุธรรมรักษ์มีความเก่าที่สุดแปลในปี พ.ศ.829 แต่ฉบับที่ได้รับความนิยมว่าแปลได้สละสลวยที่สุดคือฉบับของพระกุมารชีพชาวเอเชียกลาง แปลเมื่อพ.ศ.934 และฉบับแปลโดยท่านชญานคุปตะและท่านธรรมคุปตะ แปลในพ.ศ.1144 เนื้อความของแต่ละฉบับมีความแตกต่างกันในบางส่วน สัทธรรมปุณฑรีกสูตรถือเป็นคัมภีร์หลักอีกเล่มหนึ่งที่มีการแปลเป็นภาษาจีน ทั้งยังเป็นพระสูตรยุคแรกสุด ที่ระบุคำว่า "มหายาน"ด้วย
ท่านวสุพันธุ ได้รจนาอรรถกถาพระสูตรนี้เป็นฉบับย่อ ให้ชื่อว่า สัทธรรมปุณฑรีกสูตรอุปเทศ ในประเทศจีนได้มีคัมภีรชั้นฎีกาเกิดขึ้นมากมาย เช่น ของท่านเต้าเซิง, ฝ่าอวิ่น, จื้ออี, จี้จ้าง และกุยจี เป็นต้น แม้แต่ท่านจื้ออี (มหาคุรุเทียนไท้) ผู้สถาปนานิกายเทียนไท้ ก็ได้อาศัยพื้นฐานจากพระสูตรเล่มนี้ ในญี่ปุ่น เจ้าชายโชโตกุ ก็ทรงแต่งอรรถาธิบายพระสูตรนี้ในชื่อว่า "ฮอกเกกิโช" พระสูตรนี้ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยหลายฉบับ อาทิ ฉบับแปลโดย ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปลจากภาษาอังกฤษ, ฉบับ อ.ชะเอม แก้วคล้าย ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย แปลจากฉบับสันสกฤต, ฉบับ ดร.จำลอง สารพัดนึก แปลจากสันสกฤต (ไม่จบเล่ม), ฉบับ อ.เลียง เสถียรสุต (บทสมันตมุขปริวรรต)แปลจากภาษาจีน
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ฉบับแปลภาษาอังกฤษ โดย Burton Watson
- ฉบับแปลภาษาอังกฤษ โดย H. Kern, 1884
- ฉบับแปลของอเมริกาฉบับแรก โดย Henry David Thoreau และ Elizabeth Palmer Peabody ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1844
- ห้องสมุด Ida B. Wells Memorial Sutra Library ทั้งเนื้อหาและอรรถาธิบาย
- ศูนย์ศึกษาพระสูตรบัวขาว
- บทความว่าด้วยสัทธรรมปุณฑรีกสูตร รวมทั้งต้นฉบับ และพระสูตรอื่นในยุคเดียวกัน
- การตีความพระสูตร
- The Art, 13 volumes of illuminated manuscripts inspired by the Lotus Sutra
- อ่านเนื้อหา
- 妙法蓮華經 觀世音菩薩普門品 สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรต แปลสู่ภาคจีน โดย พระตรีปิฏกาจารย์กุมารชีวะ แปลเป็นไทย โดย เลียง เสถียรสุต เรียบเรียงโดย กิตติ ตันทนะเทวินทร์ (เย็นหงวน) ลิขสิทธิ์ของวัดโพธิ์แมนคุณาราม