สา ปุสสเทวะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สามเณรสา ปุสสเทวะ
สารบัญ |
[แก้] ประวัติส่วนตัว
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) เคยเป็นสามเณร นาคหลวง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นผู้สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ขณะยังเป็นสามเณร รูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยท่านสอบได้สมัยรัชกาลที่ ๓ สมัยนั้น ยังแปลกันด้วยปากเปล่า กล่าวคือแปลกันสดๆ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น สามเณรอัจฉริยะ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมท่านเป็นชาวบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี เกิดสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2356 ปีระกา บ้านเดิมอยู่บางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อจัน เคยอุปสมบทและชำนาญในคัมภีร์มิลินทปัญหาและมาลัยสูตรมาก จึงได้ฉายาจากประชาชนว่า จันมิลินทมาลัย มารดาชื่อสุข มีพี่น้องเกิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน คืออวบ, ช้าง, สา, สัง,และอิ๋ม น้องชายของสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีชื่อว่าสัง ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้สมณศักดิ์สูงสุดที่ตำแหน่งพระสมุทรมุนี แต่ภายหลังก็ลาสิกขา ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีนามสกุลเดิมว่าอย่างไร แต่คนทั่วไปนิยมใช้ฉายาของท่านเป็นนามสกุล ผู้คนจึงนิยมเรียกท่านว่าสามเณรสา ปุสสเทวะ มาเรื่อยๆ
[แก้] การศึกษา
เริ่มบวชเป็นสามเณรที่วัดใหม่ คลองบางขุนเทียน แล้วย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เมื่ออายุได้ ๑๔ ได้เข้าสอบแปล พระปริยัติธรรม ครั้งแรกสอบได้ ๒ ประโยค ตกประโยค ๓ จึงไม่ได้เป็นเปรียญ แต่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ทรงตั้งให้เป็นเปรียญวังหน้า หมายถึงเปรียญที่ท่านรับเป็นโยมอุปถัมภ์เพื่อสนับสนุนให้การศึกษาต่อไปเพื่อให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น
ต่อมา สามเณรสาได้สมัครเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยนั้น ทรงยังผนวชและ เสด็จพำนักที่วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาสวิหาร เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์ว่าทรงปราดเปรื่องเรื่องภาษาบาลีจนหาผู้เทียบได้ยาก เมื่อได้สมัครเป็นศิษย์ พระจอมเกล้าฯ หรือ วชิรญาโณ ภิกฺขุ ก็ถ่ายทอดความรู้ภาษาบาลีให้สามเณรสา จนกระทั่งเมื่อสามเณรสาอายุได้เพียงแค่ 18 ปีก็สามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ถึง ๙ ประโยค เป็นที่อัศจรรย์ในความฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก สมัยนั้นยังแปลพระปริยัติธรรมกันด้วยปากเปล่า (หมายถึงแปลสดๆให้กรรมการฟัง แล้วแต่กรรมการว่าจะให้แปลคัมภีร์อะไร หน้าเท่าไหร่) เป็นที่โจษจรรไปทั่วพระนคร สามเณรสาจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
[แก้] อุปสมบทเป็นนาคหลวงแล้วก็สึก
หลังจากสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคแล้ว ท่านคอยจนกระทั่งอายุครบ 21 ปี กล่าวคือปีมะเส็ง พ.ศ. 2376 จึงได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสมอราย(วัดราชาธิวาส)ในฐานะสามเณร นาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระสุเมธาจารย์ (ซาย พุทฺธวํโส) ซึ่งเป็นพระมอญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระวชิรญาโณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ปุสฺโส นักวิชาการหลายท่านเข้าใจว่าสามเณรสา สอบเปรียญ ๙ ประโยค ได้ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งไม่ใช่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2379 หลังจากสอบได้แล้วและอุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามวชิรญาโณ ภิกขุซึ่งทรงย้ายจากวัดราชาธิวาสมาพำนักที่ วัดบวรนิเวศวิหารตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 พระมหาสา ปุสฺโส จึงเป็นสามเณร นาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกที่จำพรรษาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพียงแต่ไม่ได้สอบบาลีได้ในสำนักนี้เท่านั้น (ผู้สอบได้เปรียญ ๙ ขณะเป็นสามเณร ณ สำนักวัดบวรนิเวศวิหารรูปแรกคือ สามเณรปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ส่วนผู้สอบไล่ได้เปรียญ ๙ ประโยค ขณะเป็นสามเณรเป็นท่านแรกหลังจากที่มีการเปลี่ยนวิธีสอบจากสอบปากเปล่าสดๆ มาเป็นข้อเขียนในกรุงรัตนโกสินทร์คือสามเณร เสฐียรพงษ์ วรรณปก แห่งสำนักวัดทองนพคุณ ธนบุรี) หลังจากนั้นไม่นาน พระมหาสาก็เบื่อหน่ายเพศพระภิกษุแล้วลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพเยี่ยงฆราวาสวิสัยระยะหนึ่ง ก่อนจะเข้ามาบรรพชาอุปสมบทใหม่อีกครั้งหนึ่ง
[แก้] อุปสมบทใหม่อีกครั้ง ที่มาของ พระมหาสา 18 ประโยค
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงรับสั่งให้นำนายสา มาเข้าเฝ้า แล้วทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า จะบวชอีกมั้ย? นายสาก็กราบบังคมทูลว่า อยากจะบวช พระองค์จึงได้ทรงจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้ ท่านจึงได้อุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๓๙ ปี ตกพ.ศ. ๒๓๙๔ ณ พัทธสีมา วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรงเทพมหานคร โดยมีกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว
ต่อมา หลังจากที่บรรพชาอุปสมบทใหม่แล้วและอยู่จำพรรษาที่ วัดบวรนิเวศวิหาร พระสาได้สมัครเข้าสอบแปลปริยัติธรรมอีกครั้ง และท่านก็สามารถแปลประโยคภาษาบาลีปากเปล่าต่อหน้ากรรมการจนได้เปรียญ ๙ ประโยคอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ ท่านจึงมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วพระนครในชื่อ ‘พระมหาสา ปุสฺสเทโว เปรียญ ๑๘ ประโยคแห่งสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร’ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้าง วัดราชประดิษฐ์ หรือ วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดแรกที่ตั้งขึ้นใหม่ของนิกายธรรมยุตขึ้น แล้วโปรดให้พระมหาสา สมัยนั้น ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ พร้อมด้วยพระภิกษุติดตามจากวัดบวรนิเวศวิหารอีก ๒๐ รูป แล้วเมื่อถึงปีพ.ศ. 2434 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สถิต ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม จนตลอดพระชนมชีพ
[แก้] สมณศักดิ์
- พระอมรโมลี (หลังจากย้ายจาก วัดราชาธิวาส มาอยู่ วัดบวรนิเวศวิหารได้ 2 ปี)
- พระสาสนโสภณ (ตำแหน่งสมณศักดิ์ใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริขึ้นเพื่อพระมหาสา ผู้กลับมาบวชใหม่และสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ณ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งโดยเฉพาะ) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้เมื่อปีมะเมีย (พ.ศ.2401) เดิมที ทรงพระราชดำริจะใช้ตำแหน่งว่า
‘พระสาสนดิลก’ แต่พระมหาสาได้ถวายพระพรว่าสูงเกินไป จึงทรงใช้ว่า ’พระสาสนโสภณ’
- พระธรรมวโรดม (พ.ศ. 2415)
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พ.ศ. 2422)
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (พ.ศ. 2434) และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2442
[แก้] หนังสืออ้างอิง
- ประวัติการพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ ของสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง