เกาะพะลวย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านเกาะพะลวย อยู่ในหมู่ที่ 6 ของตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองรองจากเกาะวัวตาหลับซึ่งบางส่วนของเกาะอยู่ใน เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประมาณครึ่งเกาะ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 กรมอุทยาน ได้ประกาศหมู่เกาะอ่างทองเป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นแห่งที่ 21 ของประเทศ ส่วนเหลือเป็นที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
สารบัญ |
[แก้] ที่ตั้ง
เกาะพะลวยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเกาะสมุย อยู่ห่างจากเกาะสมุยประมาณ 20 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากอำเภอดอนสักประมาณ 10 กิโลเมตร
[แก้] ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพของเกาะพะลวยส่วนมากเป็นเขาหินปูนเกือบทั้งหมด จะมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างรุนแรง รวมทั้งการกร่อนทางกายภาพและดินฟ้าอากาศ ทำให้เกิดถ้ำและหน้าผาและรูปร่างของเกาะมีลักษณะแปลก ๆ เช่น บางแห่งคล้ายกับปราสาทหินพิมาย หรือนครวัดอันเก่าแก่
[แก้] ลักษณะภูมิอากาศ
มีลมมรสุมพัดผ่านทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส
[แก้] ลักษณะประชากร
ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มาประมาณ 8 รุ่น โดยอพยพมาจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวอำเภอเกาะสมุย อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น มีครัวเรือน 102 ครัวเรือน ประชากร 438 คน นับถือศาสนาพุทธ มีสำนักสงฆ์ 2 แห่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาะพะลวย ลักษณะการประกอบอาชีพ อาชีพของชาวเกาะพะลวยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก อาชีพหารังนกนางแอ่น อาชีพทำสวนยาง มีประมาณ 300 ไร่ อาชีพสวนมะพร้าว สวนผลไม้ อาชีพปศุสัตว์เลี้ยงโค ประมาณ 200 ตัว
[แก้] ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของหมู่บ้าน
เป็นผลิตภัณฑ์ปลากระบอกร้าซึ่งมีชื่อเสียงมากของเกาะพะลวย ปลาแห้ง ปลาหมึกแห้ง เป็นต้น
[แก้] สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เกาะพะลวยมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ถ้ำสามบ่อซึ่งเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่สวยงามมาก ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร แต่เดิมถ้ำแห่งนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะ เนื่องจากมีธารน้ำจืดไหลมาจากหุบเขาที่เป็นทางน้ำ ชาวบ้านอาศัยแหล่งน้ำนี้ใช้อุปโภคและบริโภค ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะมีหาดทรายขาวสะอาดขนาดเล็กหลายแห่ง เช่น หาดสองพี่-น้อง หาดตาโย หาดสน เป็นต้น นอกจากถ้ำและหาดทรายที่สวยงามแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติอีก ดังนี้
- ป่าดิบแล้ง เป็นป่าขนาดใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ มีไม้ที่สำคัญ เช่น พลอง จิกเขา รักเขา เซียด เต่าร้าง หวาย และกล้วยไม้นารีช่องอ่างทอง เป็นต้น
- ป่าชาดหาด เป็นป่าโปร่งขนาดเล็กตามชายหาดและชายทะเลทั่วไป
- ป่าเขาหินปูน พบในบริเวณเขาหินปูนที่มีชั้นดินน้อย
- ป่าชายเลน พบอยู่บางแห่งตามซอกหินที่มีหาดทรายหรือหาดเลน
- สัตว์ป่าที่พบเห็นทั่วไป เช่น นากใหญ่หัวปลาดุก ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงแสม หมูป่า และวาฬ
- นกมีไม่น้อยกว่า 50 ชนิด เช่น นกยางเขียว เหยี่ยวแดง นกออก นกเต้าดิน นกแอ่นกินรัง
นกแก๊ก เป็นต้น
- สัตว์เลื้อยคลาน เช่น แย้ ตะกวด เต่าตนุ งูเหลือม งูจงอาง เป็นต้น
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น คางคกบ้าน กบบัว กบหนอง ปาด เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกาะพะลวย คือ หมู่เกาะอ่างทอง
[แก้] การคมนาคม
การเดินทางสู่เกาะพะลวยสามารถไปได้โดยทางเรือโดยสารประจำทาง ซึ่งมีเฉพาะวันคู่ โดยออกจากฝั่งท่าเรือดอนสัก เวลา 14.00 น. ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง และออกจากท่าเรือเกาะพะลวย เวลา 08.00 น. อัตราค่าโดยสารเรือคนละ 100 บาท หรือเดินทางโดยเรือของชาวประมงที่นำผลผลิตมาจำหน่ายที่อำเภอดอนสักก็ได้ ร้านอาหารบนเกาะพะลวยขณะนี้มีแห่งเดียว คือ พะลวยซีฟู้ด สถานที่พักแรม จะเป็นแบบ Home Stay หรือกางเต็นท์นอน เพื่อจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตชาวบ้านและธรรมชาติอย่างแท้จริง