เจมส์ วัตต์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความนี้เกี่ยวกับ เจมส์ วัตต์ นักประดิษฐ์ สำหรับ วัตต์ ในความหมายอื่นๆ ดูที่ วัตต์ (แก้ความกำกวม)
เจมส์ วัตต์ |
---|
เจมส์ วัตต์
|
ชาตะ 19 มกราคม พ.ศ. 2279 (1736) |
มรณะ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2362 (1819) |
เจมส์ วัตต์ (James Watt) 19 มกราคม พ.ศ. 2279 (1736) - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2362 (1819) วิศวกรและนักประดิษฐ์ ชาวสก๊อตแลนด์ ผู้ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำ จนนำไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และเป็นที่มาของหน่วยกำลังไฟฟ้าในระบบเอสไอ
สารบัญ |
[แก้] ชีวิตช่วงต้น
เจมส์ วัตต์ เกิดใน กรีนนอค (Greenock) เมืองท่าของ อ่าวไคลด์ (Firth of Clyde) พ่อเป็นช่างต่อเรือผู้เป็นเจ้าของเรือและรับเหมา แม่เป็นผู้มีการศึกษาจากตระกูลผู้ดี ทั้งคู่เป็นคริสเตียนที่เคร่งครัด เขาเรียนแบบโฮมสคูลโดยแม่ของเขา เขาถนัดคณิตศาสตร์ และสนใจเทววิทยาของสก๊อตแลนด์ แต่อ่อนวิชาภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ [1]
แม่ตายเมื่อวัตต์อายุ 17 ปี และพ่อก็เริ่มสุขภาพไม่ดี เขาไปยังลอนดอนเพื่อเรียน การผลิตเครื่องชั่งตวงวัด (Measuring instrument making) อยู่ 1 ปี จึงกลับสก๊อตแลนด์ โดยไปที่กลาสโกว์ (Glasgow) ตั้งใจจะตั้งต้นธุรกิจเครื่องชั่งตวงวัดของตน แต่เนื่องจากไม่ได้ฝึกงานอย่างน้อย 7 ปี สมาคมช่างกลาสโกว์ (Glasgow Guild of Hammerman) จึงระงับใบอนุญาต แม้ว่าไม่มีช่างทำเครื่องชั่งตวงวัดที่มีความแม่นยำในสก๊อตแลนด์ก็ตาม
วัตต์พ้นทางตันโดยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ให้โอกาสทำงานในตำแหน่งพนักงานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทำหน้าที่ดูแล ประดิษฐ์และซ่อมบำรุงเครื่องมือ เครื่องจักร สื่อการสอน เขาตั้งต้นร้านและโรงงานขนาดเล็กภายในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2300 (1757) ซึ่งหนึ่งในศาสตราจารย์เหล่านั้น โจเซฟ แบล็ค (Joseph Black) นักฟิสิกส์เคมี ก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทและที่ปรึกษาของเขา
[แก้] ชีวิตครอบครัว
พ.ศ. 2307 (1764) วัตต์แต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเขา มาร์กาเรต มิลเลอร์ มีลูกด้วยกัน 5 คน แต่ตายตั้งแต่เด็ก 3 คน แล้วเธอก็ตายในการคลอด พ.ศ. 2316 (1773)
พ.ศ. 2319 (1776) เขาแต่งงานอีกครั้งกับ แอนน์ แม็คเกรเกอร์ ลูกสาวของช่างย้อมสีในกลาสโกว์ผู้ช่วยชีวิตเขา
[แก้] ชีวิตงานและผลงาน
หลังจากเปิดร้าน 4 ปี วัตต์เริ่มทำงานเกี่ยวกับ เครื่องจักรไอน้ำ จากการแนะนำของเพื่อนของเขา ศาสตราจารย์ จอห์น โรบินสัน (John Robison) ขณะนั้นเขายังไม่เคยรู้จักกลไกเครื่องจักรไอน้ำเลย แต่ก็สนใจมาก เขาพยายามลองสร้างจากเครื่องจักรต้นแบบ ซึ่งผลไม่น่าพอใช้ แต่ก็ทำงานต่อไปและเริ่มอ่านทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะทำได้ และค้นพบด้วยตนเองเกี่ยวกับ นัยสัมพันธ์ของ ความร้อนแฝง (latent heat) ในการทำงานของเครื่องจักร โดยไม่รู้ว่าแบล็คได้ค้นพบอย่างโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน
พ.ศ. 2306 (1763) วัตต์ได้รู้ว่า มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของ เครื่องจักรไอน้ำต้นแบบของ นิวโคเมน (Newcomen engine) ซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น แต่เครื่องต้นแบบถูกส่งไปซ่อมพัฒนาที่ลอนดอน เขาจึงร้องขอให้มหาวิทยาลัยนำมันกลับมาให้เขาซ่อมเองโดยไม่คิดค่าตอบแทน ทำให้เขาได้แนวทางที่จะสร้างเครื่องจักรที่กะทัดรัดขึ้น และทำงานได้แบบต่อเนื่องไม่มีจังหวะนิ่ง
และหลังจากทดลองหลายครั้ง เขาแสดงให้เห็นว่า ความร้อนจากไอน้ำถึงประมาณ 80% ถูกสิ้นเปลืองไปเป็นความร้อนใน กระบอกสูบ เพราะไอน้ำในนั้นถูกสันดาปจากการฉีดน้ำเย็น เขาแก้ปัญหาทำให้ไอน้ำสันดาปในห้องที่แยกจาก ลูกสูบ เพื่อรักษาอุณหภูมิในกระบอกสูบให้เท่ากับอุณหภูมิขณะอัดไอน้ำ ในไม่ช้าเขาก็สร้างเครื่องต้นแบบที่ทำงานได้จริงเมื่อปลาย พ.ศ. 2308 (1765) จดสิทธิบัตรในชื่อ เครื่องสันดาปแยก (separate condenser)
การผลิตเครื่องจักรเต็มรูปแบบ นอกจากความอุตสาหะยาวนาน ยังต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ทั้งยังต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อดำเนินการจดสิทธิบัตร เครื่องจักรกลหนัก (ground-breaking) ซึ่งเป็นข้อบังคับของพระราชบัญญัติในยุคนั้น ทุนส่วนหนึ่งมาจากภรรยา แต่ส่วนใหญ่มาจากแบล็ค ขณะที่การประกอบชิ้นส่วนได้รับสนับสนุนจาก จอห์น โรบัค (John Roebuck) ผู้ก่อตั้งโรงงานรีดเหล็กคาร์รอน ใกล้ฟัลเคิร์ค (Falkirk) ซึ่งช่วยจัดหาหุ้นส่วน แต่ความยากประการใหญ่อยู่ในการไสกลึงลูกสูบและกระบอกสูบให้เข้ากัน ทั้งคนงานรีดขณะนั้นก็เป็นช่างตีเหล็กมากกว่าเป็นช่างเครื่องจักรกล เมื่อใช้เวลาทดลองวิจัยนาน ผู้ให้ทุนจึงเลิกไป
เพื่อประหยัดเงินทุน วัตต์ถูกบีบคั้นให้เริ่มรับจ้างเป็นช่างรังวัดถึง 8 ปี ต่อมาโรบัคล้มละลาย และ มัทธิว โบลตัน (Matthew Boulton) เจ้าของโรงงานหล่อและเครื่องเคลือบโซโฮ ใกล้เบียร์มิงแฮม (Birmingham) ได้เข้าช่วยเหลือเป็นผู้ถือหุ้น จนประดิษฐ์เครื่องจักรสำเร็จตามเป้าหมาย และได้สิทธิบัตรอย่างถูกต้อง ในชื่อ เครื่องจักรไอน้ำแบบวัตต์ Watt Steam Engine ซึ่งทำงานเรียบกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า เครื่องจักรไอน้ำที่เขาสร้างเป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เป็นจุดเริ่มสู่พัฒนาการของเครื่องจักรต่างๆ และมีผลต่อเนื่องแก่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกแขนง
ในที่สุดวัตต์ก็ได้คนงานรีดที่ยอดเยี่ยม ขณะที่ความยากในการประกอบกระบอกสูบขนาดใหญ่ที่แน่นพอดีกับลูกสูบ ก็ถูกแก้ไขโดย จอห์น วิลคินสัน (John Wilkinson ผู้พัฒนาเทคนิคคว้านลำกล้องที่เที่ยงตรงสำหรับปืนใหญ่
และเมื่อ พ.ศ. 2319 (1776) เครื่องจักรไอน้ำตัวแรกก็ถูกติดตั้งและเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมพาณิชย์ เป็นเครื่องสูบแบบเคลื่อนไหวสวนทางเท่านั้น (only reciprocating motion)
การสั่งซื้อมากขึ้นเป็นเทน้ำเทท่า ตลอด 5 ปีถัดไป วัตต์ยุ่งอยู่กับการติดตั้งเครื่องจักรมากขึ้นๆ ส่วนใหญ่จาก คอร์นวอลล์ (Cornwall) เป็นเครื่องสูบน้ำในเหมือง วัตต์ได้ลูกจ้างคนสำคัญคือ วิลเลียม เมอร์ดอช (William Murdoch) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ และต่อไปภายหลังได้ร่วมถือหุ้นกับพวกเขา
ขอบข่ายงานประยุกต์สิ่งประดิษฐ์กว้างขวางขึ้นอย่างมาก หลังจากโบลตันแนะนำให้วัตต์แปลง การเคลื่อนไหวแบบสวนทาง ของลูกสูบ ให้ทำงานแบบหมุน เพื่อการโม่, การทอ และการสีข้าว แม้ว่า ข้อเหวี่ยง (crank) ดูเหมือนทางออกที่มีเหตุผลเพื่อแปลงหนี้ของห้างหุ้นส่วนวัตต์แอนด์โบลตันที่ถูกเบียดบังเพราะการจดสิทธิบัตรสิ่งนี้ โดยผู้ถือหุ้น จอห์น สตีด และเพื่อน ก็เสนอแนะให้จดสิทธิบัตรแบบพ่วง (cross-licensing) กับเครื่องสันดาปภายนอก (external condensor) แต่วัตต์คัดค้านเสียงแข็ง (เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้เครื่องจักรไอน้ำ) แล้วพวกเขาก็จำกัดเพียงสิทธิบัตรในชื่อ เฟืองทดโคจร (sun and planet gear) เมื่อ พ.ศ. 2524 (1781)
ตลอดกว่าหกปีต่อมา เขาปรับปรุงและประยุกต์สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้กับเครื่องจักรไอน้ำและอุปกรณ์เสริมอีกจำนวนหนึ่ง เช่น
- เครื่องจักรสองทาง (double acting engine) ที่ไอน้ำเข้ากระบอกสูบสองข้างในเครื่องเดียว
- ลิ้นควบคุมพลังงานไอน้ำ
- อุปกรณ์ควบคุมฝีจักรเหวี่ยงจากศูนย์กลาง (centrifugal governor) ที่ป้องกันไม่ให้มันหลุดออกจากกัน ซึ่งสำคัญมาก
- เครื่องจักรไอน้ำหลายสูบ (compound engine) สามารถเชื่อมต่อเครื่องจักรถึง 2 ตัวหรือมากกว่า เขาอ้างถึงวิธีใช้งานเครื่องจักรอย่างกว้างขวาง สิทธิบัตรมากกว่า 2 ใบ ได้รับอนุญาตเมื่อ (พ.ศ. 2324) (1781) และ (พ.ศ. 2325) (1782)
- หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่วัตต์ภูมิใจที่สุดคือ ข้อต่อประสานสามคาน หรือ การเคลื่อนที่แบบคู่ขนาน (three-bar linkage หรือ Parallel motion) ทำให้การเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงสำหรับ ก้านกระบอกสูบ (cylinder rod) ที่เชื่อมกับ คานส่งกำลัง (connected rocking beam) และสุดที่ โค้งครึ่งวงกลม ผลงานนี้ได้จดสิทธิบัตรเมื่อ พ.ศ. 2327 (1784) เมื่อผลิตประกอบกับเครื่องจักร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ถึง 5 เท่า เทียบกับเครื่องจักรของนิวโคเมนที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดียวกัน
- มาตรวัดแรงดันไอน้ำ (steam indicator diagram) ซึ่งชี้บอก ความดันในรูปกระบอกสูบ พร้อมกับ ปริมาตรของกระบอกสูบ ที่สเกลสวนทางกัน ซึ่งเขาเก็บเป็นความลับทางการค้า
และการปรับปรุงอื่นอีกมากที่ประดิษฐ์ง่ายกว่าและเพิ่มการติดตั้งไม่ขาดสาย
- วัตต์ยังได้ริเริ่ม วิธีคำนวณประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร โดยใช้ม้าที่แข็งแรง 1 ตัว สามารถยกของหนัก 33,000 ปอนด์ เป็นระยะทาง 1 ฟุต ในเวลา 1 นาที เรียกกำลังปริมาณนี้ว่า 1 แรงม้า ใช้เป็นค่ามาตรฐานเปรียบเทียบกับการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ
(ค่านี้อาจเทียบใหม่เป็น 33,00 ฟุต/1 ปอนด์/1 นาที ก็ได้ ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของ 1 แรงม้า ในปัจจุบัน)
เนื่องจากอันตรายจากหม้อน้ำระเบิดและรอยรั่วที่จะตามมา วัตต์จึงถูกคัดค้านในครั้งแรกที่จะใช้ไอน้ำความดันสูง ซึ่งจำเป็นสำหรับเครื่องจักรของเขาที่ใช้ไอน้ำใกล้ความดันบรรยากาศ (atmospheric pressure) (14.7 ปอนด์/นิ้ว2)
(แต่ความสำเร็จในการใช้ไอน้ำแรงดันสูงเกิดขึ้นในภายหลังโดย โอลิเวอร์ อีวานส์ (Oliver Evans) และ ริชาร์ด เทรวิทิค (Richard Trevithick) ในชื่อ เครื่องจักรไอน้ำแบบคอร์นิช (Cornish engines) ซึ่งใช้ วาล์วนิรภัย ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยความดันที่เกินออก)
เมื่อ พ.ศ. 2337 (1794) ทั้งสองได้จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบลตันแอนด์วัตต์ (Boulton & Watt) ซึ่งประกอบเครื่องจักรไอน้ำแต่เพียงผู้เดียว และประสบความสำเร็จมากตลอด 25 ปี กลายเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่
ประมาณ พ.ศ. 2367 (1824) ก็ได้ผลิต เครื่องจักรไอน้ำ 1164 (1164 steam engines) ที่มีกำลังแรงม้า(ตามนิยามในสมัยนั้น)ถึง 26,000 แรงม้า โบลตันพิสูจน์แล้วว่าเป็นนักธุรกิจที่ยอดเยี่ยม แล้วทั้งคู่ก็สร้างโชคชะตาได้ในที่สุด
วัตต์เป็นนักประดิษฐ์ที่กระตือรือร้น พร้อมกับจินตนาการเปี่ยมล้นซึ่งนำทางให้สำเร็จ เพราะเขาสามารถพบ"การปรับปรุงที่มากกว่าหนึ่ง"เสมอ เขาทำงานด้วยมืออย่างคล่องแคล่ว และยังสามารถใช้เครื่องวัดทางวิทยาศาสตร์อย่างมีระบบเพื่อตรวจผลการสร้างและปรับปรุงของเขา และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงกลไกที่กำลังทำงานด้วยอยู่
วัตต์เป็นสุภาพบุรุษที่ได้รับการนับถือจากผู้มีชื่อเสียงท่านอื่นในวงการปฏิวัติอุตสาหกรรม เขาเป็นสมาชิกสำคัญของสมาคมสังคมจันทรา (Lunar Society) และเป็นที่ต้องการตัวมากขึ้นอีกหลังจากได้พูดคุยคบหา มีผู้สนใจการขยับขยายขอบข่ายงานของเขาเสมอ เขาเป็นนักธุรกิจที่ค่อนข้างขัดสน เพราะเขาเกลียดการซื้อขายเอาเปรียบและทำสัญญากลโกงกับผู้ที่แสวงหาเครื่องจักรไอน้ำไปใช้งานเป็นอย่างมาก ทำให้เขาเกษียณตัวเองในเวลาต่อมา บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งเพื่อนฝูงและหุ้นส่วนชอบอัธยาศัยและคบหาได้นาน และมักวิตกแทนเรื่องปัญหาการเงินเสมอ
[แก้] ชีวิตบั้นปลาย
วัตต์เกษียณตัวเองเมื่อ พ.ศ. 2343 (1800) ปีเดียวกับที่สิทธิบัตรของเขาและทะเบียนห้างหุ้นส่วนที่ร่วมกับโบลตันหมดอายุ เขาโอนหุ้นของห้างหุ้นส่วนให้บุตร แล้วโบลตัน, เจมส์ วัตต์ จูเนียร์ กับ เมอร์ดอช ได้หาหุ้นส่วนเพิ่มและทำให้กิจการมั่นคง
เขาทำงานประดิษฐ์ติดพันต่ออีกหลังเกษียณ เช่น คิดค้นวิธีใหม่ในการวัดระยะทางด้วยกล้องโทรทรรศน์, ประดิษฐ์เครื่องคัดลอกจดหมาย, ปรับปรุงตะเกียงน้ำมันก๊าด, เครื่องจักรไอน้ำรีดผ้า (mangle) และเครื่องจักรแกะลอกงานแกะสลัก
เขาและภรรยาคนที่สองเดินทางท่องเที่ยวฝรั่งเศสและเยอรมนี แล้วซื้อบ้านและที่ดินในเวลส์ ซึ่งต้องบูรณะอย่างมาก
วัตต์ตายเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (1819) ที่บ้านของเขาในย่าน ฮีทฟิลด์ แถบ แฮนด์สวอร์ท (Handsworth) ของ เวสต์มิดแลนด์ส ใน สตัฟฟอร์ดไชร์ ขณะอายุ 83 ปี ภรรยาของเขาตายหลังจากนั้น 13 ปี
[แก้] บทวิจารณ์
วัตต์กับโบลตัน ต่อสู้แข่งขันกับวิศวกร เช่น โจนาทาน ฮอร์นโบลเวอร์ ผู้พยายามพัฒนาเครื่องจักรซึ่งไม่มีสิทธิบัตรให้วิจารณ์
แม้ว่าจะมีการประดิษฐ์เกิดขึ้นมากมายเพราะเขา แต่ก็มีผู้มีบางคนโต้แย้งว่า แท้แล้ววัตต์คิดค้นนวัตกรรมต้นฉบับเพียงอันเดียวจากสิทธิบัตรจำนวนมากที่เขาจด อย่างไรก็ตามไม่มีใครแย้งเรื่องที่นวัตกรรมเดียวนั้นเขาได้ประดิษฐ์จริง ก็คือ เครื่องสันดาปแยก (separate condenser) ซึ่งเป็นการฝึกหัดเพื่อเตรียมแนวความคิดที่สร้างชื่อแก่เขา เพราะเขาตั้งใจให้สิทธิบัตรเชื่อถือได้ในความปลอดภัย และทำให้แน่ใจได้ว่า ไม่มีใครได้ฝึกหัดและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นั้นได้อย่างเขา
ถ้อยคำในจดหมายที่ส่งให้โบลตันเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2327 (1784) กล่าวว่า:
...กระผมได้อธิบายถึงเครื่องจักรส่งกำลังเฟือง อย่างที่กระผมสามารถทำได้ในเวลาและขอบเขตที่กระผมยอมให้ตัวเองได้ แต่มันบกพร่องมากและเอามาใช้ได้เพียงปิดบังคนอื่นจากสิทธิบัตรที่คล้ายกัน...
บ้างก็อภิปรายว่า เขากีดกันลูกจ้างของเขา วิลเลียม เมอร์ดอช จากการทำงานกับไอน้ำแรงดันสูงในการทดลอง รถจักรไอน้ำ (steam locomotive) ทำให้ถ่วงการพัฒนามัน
วัตต์จดสิทธิบัตรการประยุกต์ เฟืองทดโคจร (sun and planet gear) กับเครื่องจักรไอน้ำเมื่อ พ.ศ. 2324 (1781) และกับรถจักรไอน้ำเมื่อ พ.ศ. 2327 (1784) ทั้งสองชิ้นได้ถูกโต้แย้งอย่างหนักว่า แท้แล้วคิดค้นขึ้นโดยลูกจ้างของเขา วิลเลียม เมอร์ดอช ซึ่งวัตต์บอกไว้เองในจดหมายที่ส่งให้โบลตันเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2325 (1782) กล่าวถึงการทดสอบเฟืองทดโคจรว่า:
...กระผมได้ลองรื้อฟื้นต้นแบบหนึ่งในบรรดาแผนการเก่าเกี่ยวกับเครื่องจักรเหวี่ยงของกระผม และสำเร็จได้โดย ว. ม. ซึ่งข้อดีของมันรวมอยู่ในรายการวิธีที่ห้า...
แต่วัตต์ไม่เคยจดสิทธิบัตรในชื่อเมอร์ดอช ลูกจ้างผู้ยังอยู่กับโบลตันแอนด์วัตต์เกือบทั้งชีวิตของเขา และโบลตันแอนด์วัตต์ก็ยืนยันจะใช้เฟืองทดโคจรต่อไปในเครื่องจักรเหวี่ยงของพวกเขา แม้ว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุเมื่อ พ.ศ. 2337 (1794)
[แก้] สรุปผลงาน
วัตต์ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำจากเครื่องจักรนิวโคเมน ซึ่งแทบไม่พัฒนามา 50 ปี ให้เป็นแหล่งพลังที่เปลี่ยนโลกแห่งงานอุตสาหกรรม และเป็นกุญแจนำมาซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถือเป็นมรดกแก่มนุษยชาติ
ความสำคัญนั้นอาจไม่เกินจริงที่ว่า มันมอบโลกยุคใหม่แก่พวกเรา กลไกสำคัญคือการนำเครื่องจักรพ้นจากงานถ่านหินที่ห่างไกลมาสู่งานอุตสาหกรรม ซึ่งมีกลศาสตร์ วิศวกร และช่างซ่อมจำนวนมาก ที่ได้รับโอกาสจากข้อดีและขีดความสามารถของมัน และเป็นเวทีให้กำเนิดนักประดิษฐ์ผู้พัฒนาปรับปรุง เครื่องจักรไอน้ำทำให้เกิดงานอุตสาหกรรมใหม่ๆ จากที่มีขึ้นอยู่กับพลังงานน้ำ(ที่ไม่สามารถทำงานได้ตลอดปีและต้องตั้งโรงงานใกล้แม่น้ำ) มาเป็นสามารถทำงานได้ทั้งปี และสามารถตั้งโรงงานได้เกือบทุกที่
เครื่องจักรไอน้ำได้เด่นชัดขึ้นเมื่อ ความดันสูงในหม้อน้ำที่ได้รับการปรับปรุง ทำให้สร้างเครื่องจักรได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำไปสู่การปฏิวัติการขนส่ง ในไม่ช้าก็ประกอบเป็นรูปเป็นร่างของ รถจักรไอน้ำ (locomotive) และ เรือกลไฟ (steamboat)
งานอุตสาหกรรมพ้นจากอุตสาหกรรมชนบท เป็นผลให้เศรษฐกิจเพิ่มมาตราส่วน เมืองหลวงสามารถทำงานได้ประสิทธิภาพมากขึ้น และกระบวนการผลิตก็ได้รับการพัฒนาขนานใหญ่ ทำให้เกิดการต่อยอดการคัดสรร เครื่องจักรกล(machine tools)ใหม่ๆ ที่ใช้ผลิตได้ดีกว่า รวมถึง เครื่องจักรไอน้ำของวัตต์ (Watt steam engine)
[แก้] เกียรติประวัติ
- เป็นสมาชิกของ สมาคมผู้ดีแห่งเอดินเบิร์ก (Royal Society of Edinburgh) และ สมาคมผู้ดีแห่งลอนดอน (Royal Society of London)
- เป็นสมาชิกของ สมาคมบัตตาเวียน (Batavian Society)
- เป็นชาวต่างชาติหนึ่งในเพียงแปดคน ที่ได้เป็นสมาชิกของ บัณฑิตสถานวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส (French Academy of Sciences)
- ชื่อสกุล ได้ถูกตั้งเป็นชื่อหน่วย วัตต์ หน่วยเทียบกำลังการทำงานของเครื่องไฟฟ้า ในระบบหน่วยเอสไอ
- ชื่อสกุล ได้ถูกตั้งเป็นชื่อถนน ทั้ง roads และ streets มากกว่า 50 สายในสหราชอาณาจักร
- ได้ถูกตั้งเป็นชื่อของ 1 ใน 8 พลอยอนุสรณ์ มูนสโตนแห่งสมาคมจันทรา (Lunar Society Moonstones) บนผิวถนนเควสเลตต์ [[:en:Queslett Road
|]] ในเบอร์มิงแฮม
- สถานที่และถนนหลายแห่งในกรีนนอคตั้งชื่อตามชื่อของเขา
- โบสถ์เซนต์แมรี (St. Mary's Church) ในเบอร์มิงแฮม ที่ฝังศพเขา ได้ขยายโบสต์เพื่อครอบหลุมศพของเขาไว้ภายใน
- ในเบอร์มิงแฮม มีรูปประติมากรรมของเขาที่ตั้งโดดๆ 3 แห่ง แห่งแรกเป็นรูปประติมากรรมสามสหาย (โบลตัน วัตต์ และเมอร์ดอช) แห่งที่สองอยู่ใน จตุรัสแชมเบอร์เลน (chamberlain) ใกล้หอสมุดกลางเบอร์มิงแฮม และอีกแห่งอยู่ภายนอก ศาล
- เอกสารต้นฉบับของเขาจำนวนมากได้รับการเก็บรักษาใน หอสมุดกลางเบอร์มิงแฮม (Birmingham Central Library)
- บ้านโซโฮ (Soho House) บ้านของมัทธิว โบลตัน ซึ่งขณะนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกผลงานของทั้งสอง
- ในกรีนนอค มีรูปประติมากรรมใกล้สถานที่เกิดของเขา
- หอสมุดวัตต์เมมโมเรียล ในกรีนนอค เริ่มจากการบริจาคหนังสือทางวิทยาศาสตร์ของวัตต์ เมื่อ พ.ศ. 2359 (1816)
การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ควบกิจการเมื่อ พ.ศ. 2517 (1974) เป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันวัตต์ ซึ่งก่อตั้งโดยลูกชายของเขา (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น วิทยาลัยเจมส์วัตต์ James Watt College) หอสมุดยังเก็บของสะสมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านและเอกสารสำคัญของ อินเวอร์ไคลด์ (Inverclyde) และมีรูปประติมากรรมนั่งขนาดใหญ่พร้อมกล่องรับบริจาคในโถงทางเข้า
- วิทยาลัยเจมส์วัตต์ (James Watt College) ในกรีนนอค ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาและเป็นสัญลักษณ์สถานที่เกิดของเขา โดยมีอนุสาวรีย์รูปประติมากรรมของเขาที่หน้าอาคาร
วิทยาลัยวัตต์ได้ขยายบริเวณจากเดิม ทั้งลานมหาวิทยาลัย ในกิลวินนิง Kilwinning (นอรธ เอียร์ไชร์), ถนนฟินนาร์ทกับทำนบกั้นน้ำ ในกรีนนอค, และลานกีฬา ในลาร์กส์ (Largs)
- มหาวิทยาลัยเฮอเรียต-วัตต์ (Heriot-Watt University) ใกล้เอดินเบิร์ก เดิมใช้ชื่อ สถาบันวัตต์และโรงเรียนศิลปะ แล้วรวมเข้ากับ โรงเรียนจอร์จ เฮอเรียต ในโรงพยาบาลจอร์จ เฮอร์เรียต โรงพยาบาลเด็กกำพร้ายากไร้ (George Heriot's Hospital for needy orphans) และเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเฮอเรียต-วัตต์ ต่อมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัย
- มีอาคารวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอีก 12 แห่ง (ที่ตั้งของภาควิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ได้ถูกตั้งชื่อตามชื่อของเขา
- มีบรรดารูปประติมากรรมของเขาทั้งใน จตุรัสจอร์จ (George Square), กลาสโกว์ (Glasgow) และ ถนนพริ้นเซส สตรีท (Princes Street) เอดินเบิร์ก (Edinburgh)
- ภาพวาดขนาดใหญ่ชื่อ เจมส์ วัตต์ พินิจเครื่องจักรไอน้ำ (James Watt contemplating the steam engine) โดย เจมส์ เอคฟอร์ด ลาวเดอร์ (James Eckford Lauder) ปัจจุบันเป็นของ หอศิลป์แห่งชาติสก๊อตแลนด์ (National Gallery of Scotland)
- วัตต์ได้อันดับที่ 1 เสมอกับ โทมัส เอดิสัน จากรายชื่อ 229 บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ในหนังสือ ความสำเร็จของมนุษย์ (human accomplishments) โดย ชาร์ลส เมอร์เรย์ (Charles Murray)
- และได้อันดับที่ 22 จากรายชื่อในหนังสือ 100 รายชื่อบุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่สุดในประวัติศาสตร์ โดย ไมเคิล ฮ. ฮาร์ท (Michael H. Hart's The 100, list of the most influential figures in history)
(อย่างไรก็ตาม เขาไม่ติดอันดับ TIME 100 - บุคคลแห่งศตวรรษ หมวด 20 นักวิทยาศาสตร์และนักคิด ของ นิตยสารไทม์ และไม่ติดอันดับ Top 100 บุคคลผู้สร้างสรรค์สหัสวรรษ ของ นิตยสารไลฟ์)
- ข้อความที่จารึกบน อนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ของเขา ในอาราม เวสต์มินสเตอร์ (สร้างโดย ชองเทรอย์) กล่าวว่า :
มิใช่เพื่อเก็บชื่อไว้นานกาล ซึ่งยืนยาวเพียงชั่วสันติภาพศิลปวิทยายังโบกสะบัด แต่เพื่อแสดง ว่ามนุษยชาติได้รับรู้ เพื่อจะยกเกียรติยศแด่ ผู้ซึ่งสมควรได้รับการยกสำนึกคุณอย่างสูงสุด, กษัตริย์, รัฐมนตรี, เหล่าข้าขุนนางในพระองค์ แลปวงชนทั่วหล้า ขอยกอนุสาวรีย์นี้ขึ้นแด่
เจมส์ วัตต์
ผู้ซึ่งชี้นำแรงแห่งอัจฉริยะหามีใครเหมือน ฝึกฝนมาแต่วัยหนุ่ม ค้นคว้าศิลปะวิทยากร เพื่อพัฒนาปรับปรุง เครื่องจักรไอน้ำ ขยายทรัพยากรแห่งประเทศของเขา เพิ่มพูนขุมกำลังแห่งผู้คน แลอุทัยสู่สรวงอันสูงส่ง ท่ามกลางบรรดาผู้เจริญตามสุดเรืองนามแห่งวิทยาศาสตร์ และผู้ทำคุณประโยชน์แท้แห่งโลก ชาตะ กรีนนอค 1736 มรณะ ฮีธฟิล์ด, สตัฟฟอร์ดไชร์ 1819
[แก้] อ้างอิง
- Dickenson, H. W., "James Watt:Craftsman and Engineer" Cambridge University Press (1935).
- J. P. Muirhead, Origin and Progress of the Mechanical Inventions of James Watt (London, 1854)
- J. P. Muirhead, Life of Watt (London, 1858)
- Samuel Smiles, Lives of the Engineers, (London, 1861-62, new edition, five volumes, 1905)
- "Some Unpublished Letters of James Watt" in Journal of Institution of Mechanical Engineers (London, 1915)
- Carnegie, Andrew, James Watt University Press of the Pacific (2001) (Reprinted from the 1913 ed.), ISBN 0-89875-578-6.
- Hills, Rev. Dr. Richard L. James Watt, Vol 1, His time in Scotland, 1736-1774 (2002) Landmark Publishing Ltd, ISBN 1-84306-045-0.
- Marsden, Ben. "Watt's Perfect Engine" (2002) Columbia University Press (New York, 1893)
- ↑ Carnegie, ch.1
- ↑ สุมน อมรวิวัฒน์ และคณะ. คนดีที่ควรรู้จัก เล่ม3. ไทยวัฒนาพานิช. พิมพ์ครั้งที่3, 2539
[แก้] ดูเพิ่ม
- เหรียญเจมส์ วัตต์ อินเตอร์เนชันแนล
- James Watt International Medal
- เครื่องจักรไอน้ำ
- Watt steam engine
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- http://www.history.rochester.edu/steam/carnegie/ โดย แอนดริว คาร์เนกี (1905)
- http://www.history.rochester.edu/steam/marshall/ โดย โทมัส ฮ. มาร์แชลล์ (1925)
- http://jquarter.members.beeb.net/morejwatt.htm BirminghamJewelleryQuarter
- http://www.importantscots.com/james-watt.htm
- http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/watt_james.shtml BBC History:เจมส์ วัตต์
- http://www.revolutionaryplayers.org.uk/home.stm
เจมส์ วัตต์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ เจมส์ วัตต์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |