เจ้าพระยาวิชาเยนทร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) (กรีก:Κωνσταντίνος Γεράκης โคนสตันตินอส เกราคิส อังกฤษ: Constantine Phaulkon โดยคำว่า เกราคิส เป็นภาษากรีก แปลว่า เหยี่ยว หรือ falcon หรือในภาษาอังกฤษ) เป็นนักผจญภัยชาวกรีก ผู้กลายมาเป็นสมุหนายกในรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
[แก้] ประวัติ
ฟอลคอนเกิดที่แคว้นเซฟาโลเนีย (ประเทศกรีซ) โดยมีเชื้อสายของชาวกรีกและเวนิซ ฟอลคอนเข้าทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออก ของอังกฤษ และเดินทางมายังสยามในฐานะพ่อค้าในปี พ.ศ. 2218 เนื่องจากฟอลคอนมีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างง่ายดาย (อนึ่ง นอกจากภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาแม่ และภาษาไทยแล้ว ฟอลคอนมีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปรตุเกส ภาษามลายู) ฟอลคอนจึงเรียนรู้การใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่กี่ปีและเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่าม ฟอลคอนได้กลายมาเป็นสมุหเสนาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในเวลาอันรวดเร็ว
ความใกล้ชิดระหว่างเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และสมเด็จพระนารายณ์ทำให้เกิดความริษยาขึ้นในหมู่ราชนุกูล ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียต่อตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เองในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต ก็มีข่าวลือว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ต้องการใช้องค์รัชทายาทเป็นหุ่นเชิดและเข้ามาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเสียเอง ซึ่งแม้เหตุดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็เป็นมูลเหตุให้พระเพทราชา ซึ่งเป็นพระอนุชาบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก่อการรัฐประหาร และลักลอบจับกุมเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และผู้ติดตามรวมถึงราชนุกูลองค์ต่าง ๆ และนำไปประหารในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ที่เมืองลพบุรี เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบถึงเหตุดังกล่าว พระองค์ทรงกริ้วมาก แต่ไม่มีพระวรกายแข็งแรงเพียงพอที่จะทำการใด ๆ และเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่วันต่อมา สมเด็จพระเพทราชาทรงเสด็จขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษกและปกครองโดยมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการขับไล่ชาวต่างชาติแทบทั้งหมดออกจากราชอาณาจักรสยาม
การตีความกันไปต่างๆ นานา ถึงเหตุจูงใจที่ทำให้พระเพทราชาสั่งจับกุมและประหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นผลให้จุดยืนของกรีกในประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่ยังหาข้อสรุปมิได้ นักประวัติศาสตร์ที่เห็นด้วยกับการกระทำของพระเพทราชามองเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ว่าเป็นชาวต่างชาติที่ฉวยโอกาสมาใช้อิทธิพลเข้าควบคุมราชอาณาจักรในนามของผลประโยชน์จากชาติตะวันตก แต่นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นแพะรับบาป เป็นช่องว่างให้พระเพทราชาสามารถเข้ายึดอำนาจได้จากองค์รัชทายาทโดยนำเอาความริษยาและความระแวงที่มีต่อฟอลคอนมาเป็นมูลเหตุสนับสนุน
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |