เบญจมินทร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบญจมินทร์เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดังที่ได้รับฉายาว่า " ราชาเพลงรำวง" ในยุคที่วงการลูกทุ่งเพิ่งจะบุกเบิก นอกจากนั้นก็เคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ เขียนบทละครและภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งร่วมในการแสดงภาพยนตร์ด้วย ในวงการเพลง เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวง อย่าง "เมขลาล่อแก้ว" ,"รำวงแจกหมวก" ," แมมโบ้จัมโบ้ " ," อึกทึก " , "มะโนราห์ 1-2 " , " สาลิกาน้อย " , "รำวงฮาวาย" ," รำเต้ย" ,"อายจัง" และอีกมากมาย ส่วนเพลงลูกทุ่ง เบญจมินทร์ ก็โด่งดังจากเพลงแนวแนวเกาหลีอีกมากมายหลายเพลง เบญจมินทร์คือต้นฉบับแนวเสียงของ สุรพล สมบัติเจริญเจ้าของฉายา ราชาเพลงลูกทุ่ง และเบญจมินทร์ ยังถือได้ว่าเป็นคนเปิดศักราชของลูกทุ่งอีสาน และคนอีสานในวงการเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย
ครูเบญจมินทร์ ผู้ที่ถูกขนานนามว่า " ราชาเพลงรำวง " ทำไม " เบญจมินทร์ " จึงได้รับขนานนามว่า "ราชาเพลงรำวง" เมื่อ 60 ปี ที่แล้ว คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เพลงของครูเบญจมินทร์ ส่วนมากเป็นเพลง จังหวะรำวงแทบทั้งสิ้นเช่นเพลง โดยเฉพาะในช่วงที่ำกำลังรุ่งโรจา์ ระหว่าง พ.ศ. 2490-2495 แต่งเพลงอะไรออกมาก็จะได้รับความนิยม ส่วนมากเพลงจะสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น เพลง "ไปเสียได้ก็ดี" ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี 2495
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
เบญจมินทร์ มีชื่อจริงว่า " ตุ้มทอง โชคชนะ " (ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็น " คนชม " เกิดเมื่อ 23 พ.ค.2464 ที่จ.อุบลราชธานีเป็นบุตรสิบเอก บุญชู และนางคูณ โชคชนะ ผู้เป็นแม่นั้นเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ นับถือศาสนาคริสต์ และทำหน้าที่ต้นเสียงการขับร้องในโบสถ์ ทำให้เบญจมินทร์ได้รับมรดกด้านการร้องเพลงมาจากผู้เป็นแม่ และเขาเองก็ชื่นชอบการร้องเพลงอย่างมากด้วย
เบญจมินทร์จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนเบญจมมหาราชที่บ้านเกิด ซึ่งต่อมา เขาก็ได้นำชื่อโรงเรียนมาดัดแปลงเป็นชื่อในวงการบันเทิงของเขา สมัยที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่นี่ เบญจมินทร์ ชื่นชอบวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนอย่างมาก ระหว่างนั้น เขาเริ่มศึกษาเรื่องการแต่งเพลงโดยศึกษาจากผลงานของครูเพลงอย่าง"พราหมณ์" ,"นารถ ถาวรบุต" ,"พุฒ นันทพล" , "จำรัส รวยนิรันทร์" และ"มานิต เสนะวีนิน" โดยการนำเนื้อเพลงมาอ่านท่อง จนเกิดความรู้เรื่องการสัมผัสคำ อักขระ พยัญชนะ วรรคตอน โดยไม่มีครูที่ไหนมาสอน
หลังจบการศึกษา เบญจมินทร์สมัครเป็นตำรวจ และได้รับยศเป็นพลตำรวจ แต่ก็เป็นอยู่ได้แค่ปีเดียวก็ลาออก และเข้ากรุงเทพฯในปี 2480 ก่อนจะสมัครเป็นครูเทศบาล ได้สอนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนแถบปทุมวัน เขาเป็นครูอยู่ 2 ปี ก็อพยพมาอยู่นครนายก แต่ต่อมาก็ย้ายกลับเมืองหลวงอีกครั้ง และทำงานหลากหลาย ทั้งครู นักหนังสือพิมพ์ พนักงานที่ดิน พนักงานเทศบาล
[แก้] เข้าวงการ
เบญจมินทร์ ทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ รุ่นเดียวกับ อิศรา อมันตกุล ต่อมาย้ายมาอยู่ หนังสือพิมพ์เอกราช และเมื่อมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน เขาก็หาโอกาสแสดงความสามารถด้านการร้องเพลงและแต่งเพลง(ในวงเหล้า)จน อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม เห็นแวว จึงชวนมาร้องเพลงสลับฉากในละครที่เขาทำ เบญจมินทร์ ได้ร้องเพลงสลับฉากในเรื่อง " ดัชนีไฉไล " เป็นเรื่องแรก (บางตำราบอกว่าเขาร้องเพลงแรกในชีวิต ชือเพลง "ชายฝั่งโขง" ประพันธ์โดย "จำัรัส รวย นิรันดร์ )"จากนั้นเขาก็ร้องเพลงเรื่อยมา เบญจมินทร์เริ่มเป็นที่รู้จัก และชื่นชอบของแฟนเพลงจากเพลง " ชายฝั่งโขง" ขณะที่ร้องอยู่กับวงดนตรีดุริยโยธิน แต่มาโด่งดังสุดขีดหลังจากหันมาร้องเพลงรำวงอย่างจริงจัง เขาจึงจับแนวเพลงประเภทนี้มาตลอด จนถึงยุคที่เพลงรำวงเสื่อมความนิยม และถูกเพลงลูกทุ่งเข้ามาแทนที่ นักร้องคนอื่นๆหันไปร้องเพลงลูกทุ่งกันหมด เบญจมินทร์ ก็ยังคงร้องเพลงรำวงอยู่เช่นเดิม
[แก้] แต่งเพลง
ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เบญจมินทร์หลงไหลเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก ทั้งยังเคยเข้าร่วมร้องเพลงในวงรำวง - รำโทนแถวบ้านด้วย ทำให้เขาเชี่ยวชาญเรื่องบทเพลงทำนองนี้อย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทแผ่นเสียง เขาจึงนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้อย่างจริงจัง
เบญจมินทร์ บอกว่า การแต่งเพลงของเขาได้รับอิทธิพลมาจาก " พรานบูรพ์ " (จวงจันทร์ จันทรคณา) ที่เขาชื่นชอบอย่างมาก
เพลงแรกที่เขาแต่งอย่างเป็นจริงเป็นจังมีชื่อว่า " กล่อมขวัญใจ " แต่ไม่ได้ถูกนำไปบันทึกเสียง หากแต่หลังแต่งเสร็จ เขานำไปร้องกล่อมเด็กข้างบ้านให้นอน
เบญจมินทร์หันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังราวปี 2488 ซึ่งช่วงนั้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามให้การสนับสนุนเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก เพลงที่เขาแต่งจึงเป็นเพลงรำวง โดยชุดแรกมีอยู่ 10 เพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือเพลง "เมฆขลาล่อแก้ว" ในช่วงแรกเขาแต่งให้กับห้างแผ่นเสียง บริษัท กมลสุโกศล ในสนนราคาเพลงละ 500 บาท เพลงรำวงในยุคแรกๆของเขา ยังใกล้เคียงกับของเดิม คือเป็นเพลงสั้นๆ ประมาณ 2 ท่อน เป็นการหยิบเอามรดกดั้งเดิมของรำโทนอีสานมาปรับปรุงตกแต่งให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ปี 2491 เมื่อเริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงรำวง - รำโทน เบญจมินทร์จึงเร่งผลิตผลงานอย่างเอาจริงเอาจัง เขาแต่งเพลงให้ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ราว 50 เพลงในสนนราคาเพลงละ 500 บาทในช่วงนี้ เขาได้สร้างแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาอย่างโดดเด่น จากเพลงรำวงแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 ท่อน เขาก็เพิ่มเป็น 3 - 4 ท่อน รวมทั้งใส่พล็อตเรื่องลงไปในเพลง มีการเพิ่มเครื่องดนตรีลงไป แทนที่จะมีแต่กลองโทนเป็นหลัก และก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จน สาหัส บุญหลง (พฤหัส บุญหลง) เพื่อนร่วมคณะละคร ตั้งฉายาให้เขาว่า ราชาเพลงรำวง
จากนั้น เบญจมินทร์ก็มีผลงานตามมาอีกมาก โดยมีทั้งประเภทแต่งเองร้องเอง ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยเพลงดังที่สุดของเขาในยุคนั้นก็คือเพลง " รำเต้ย " ที่ขึ้นต้นว่า " สวยก็จริงนะสาว ขาว ก็จริงนะน้อง....." นอกจากนั้นก็ยังมีเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นด้วย
แม้กระทั่งบริษัทอัศวินแผ่นเสียงและการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็ยังรับสั่งให้ช่วยแต่เพลงให้ เป็นความปราบปล้มของเบญจมินทร์อย่าง
[แก้] เป็นทหาร - บุกแดนอารีดัง
ตอนที่ร้องเพลงสลับฉาก โชคชะตาทำให้เขาได้เจอกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเขาไปร่วมในงานวันเกิดของท่าน และเพราะความเมาประกอบกับน้ำเสียงในการร้องเพลง ทำให้จอมพลเกิดถูกชะตา และรับเขาเข้าเป็นทหาร ต่อมาเขาก็ตัดสินใจสมัครไปสมรภูมิเกาหลีตามคำชวนของนายทหารกองดุริยางค์ทหารในปี 2499 เบญจมินทร์ไปอยู่ที่เกาหลีนาน 6 เดือน เมื่อกลับมา เขาก็แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง " อารีดัง " , " เสียงครวญจากเกาหลี " " รักแท้จากหนุ่มไทย " และ "เกาหลีแห่งความหลัง" ซึ่งต่างก็ได้รับความนิยมสูงสุด เบญจมินทร์รับราชการทหารอยู่ 5 ปีก็ ลาออกจากกองทัพ
[แก้] ปั้น ทูล ทองใจ
นอกจากเพลงรำวงสนุกสนานแล้ว เบญจมินทร์ ยังประพันธ์เพลงช้า หรือเพลงหวานได้ในระดับดีเยี่ยม และในช่วงปี 2499 - 2500 เขาเป็นคนสร้างให้ ทูล ทองใจ โด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทยจากเพลงช้าของเขาหลายเพลง เช่น " โปรดเถิดดวงใจ " , "นวลปรางนางหอม " , " ในฝัน " และ " เหนือฝัน "
และด้วยความทรนง อันเป็นนิสัยสำคัญของเขา เมื่อความนิยมในผลงานเพลงของเขาสู้กับนักร้องรุ่นใหม่อย่าง สุรพล สมบัติเจริญไม่ได้ รวมทั้งเกิดกรณีการแต่งเพลงตอบโต้กัน โดยเบญจมินทร์ เขียนเพลง " อย่าเถียงกันเลย " ต่อว่าว่าสุรพลกรณีที่ร้องเพลงตำหนิ ผ่องศรี วรนุช ที่ลาอกจากวงไป และสุรพล ก็แต่งเพลงตอบโต้เขาชื่อ " สิบนิ้วขอขมา " ซึ่งเสียงตอบรับของแฟนเพลงก็หันไปทางสรุพลมากกว่า ดังนั้น เบญจมินทร์ ก็จึงยกกิจการวงดนตรี " เบญจมินทร์และสหาย " ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี 2507 ให้กับลูกศิษย์รักคนที่ 2 กุศล กมลสิงห์ เจ้าของฉายา ขุนพลเพลงรำวง และหันหลังให้กับวงการเพลงทันทีโดยไม่แยแส ในปี 2508 ก่อนจะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่
[แก้] ทำหนัง - ละคร , งานเขียน
เบญจมินทร์หันมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง " เสือเฒ่า " , " ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ " และ " แสนงอน " เคยเป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง " เพื่อนตาย" และพระรองเรื่อง " สุภาพบุรุษเสือไทย " และเคยเป็นตัวประกอบในเรื่อง " ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น " เคยเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง " ไอ้โต้ง " , " แผลหัวใจ " เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง " ขุนแผนผจญภัย " นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเขียนเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง
[แก้] ชีวิตครอบครัว
เบญจมินทร์ สมรสกับนางทองขาว มีบุตรธิดารวม 5 คน ได้แก่ เบญจมินทร์ , มณเฑียร ,ขวัญทิพย์ , มณฑล และ อาริยา และตลอดชีวิต เขาไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองแม้แต่หลังเดียว จนกระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาไปขอเจียดที่ดินเจ้าของที่ดินย่านคลองประปา เจ้าของร้านข้าวแกงที่เขาติดอกติดใจ ปลูกบ้านหลังเล็กๆ บนพื้นที่ขนาด 3 คูณ 4 เมตร เพื่อใช้อาศัยอยู่ตามลำพัง แยกจากครอบครัว แม้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอัมพฤกษ์
[แก้] ลาลับ
เบญจมินทร์ ทิ้งชีวิตและผลงานมากมายประดับวงการบันเทิงไปเมื่อ 10 มีนาคม 2537 บนรถแท็กซี่ระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ระบุว่าเขาเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว