การ์ดสะสม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การ์ดสะสม คือการ์ดที่มีการพิมพ์ลวดลายและข้อความที่สวยงาม เพื่อให้ผู้คนที่สนใจสะสมและัเก็บรักษาไว้เพื่อความเพลิดเพลินและเป็นงานอดิเรก ปกติจะทำจากกระดาษชนิดแข็งและมีขนาด 2.5 X 3.5 นิ้ว ซึ่งวิธีการได้การ์ดสะสมมีการขายทั้งในรูปแบบของซองที่มีการ์ดในชุดนั้นๆอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น 6 ใบต่อ 1 ซอง และการ์ดแถมหรือแลกซื้อร่วมกับสินค้าต่างๆ แต่โดยมากแล้วจะมีการสุ่มการ์ดที่จะได้ (Random) ตามอัตราส่วนและที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุด ซึ่งจะทำให้ผู้สะสมไม่ทราบว่าจะได้การ์ดอะไรก่อนที่จะซื้อ รวมถึงการ์ดสะสมบางประเภทที่จะระบุเลขรหัสลงบนการ์ดและมีการผลิตในจำนวนจำกัด จึงทำให้เกิดความหายากของการ์ดขึ้นมา การ์ดที่ไม่ได้รับความนิยมและผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก จะหาได้ง่ายราคาจะต่ำ การ์ดที่ได้รับความนิยม ผลิตออกมาน้อยจะราคาจะสูง โดยส่วนใหญ่แล้วการ์ดสะสมจะทำการผลิตในจำนวนจำกัดหรือช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การ์ดสะสมจึงเป็นสิ่งที่ต้องการของนักสะสมโดยทั่วไป ซึ่งเป้าหมายของนักสะสมแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน บางคนก็ต้องการเก็บสะสมให้ครบชุดนั้นๆ บางคนก็ต้องการเฉพาะการ์ดพิเศษที่มีการผลิตเป็นจำนวนจำกัดในชุดต่างๆ หรือบางคนก็ต้องการเก็บสะสมเฉพาะการ์ดที่มีตัวบุคคลหรือตัวละครที่ชื่นชอบเท่านั้น และหัวใจที่สำคัญที่สุด คือการแลกเปลี่ยนหรือตามหาการ์ดใบที่ยังขาดเหลือเพื่อเก็บสะสมให้ครบชุดกับกลุ่มผู้ที่สะสมการ์ดในชนิดเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การสะสมการ์ดมีความสนุกสนาน มีความท้าทายและเป็นความรู้ผสมความบันเทิง (Edutainment) อีกด้วย โดยบริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตการ์ดสะสมในปัจจุบันก็มีอย่างเช่น Upperdeck จากสหรัฐอเมริกา Konami จากประเทศญี่ปุ่นเป็นต้น
สารบัญ |
[แก้] ประวัติของการ์ดสะสม
จุดเริ่มต้นของการ์ดสะสมนั้นเริ่มที่ “บัตรสินค้า” ซึ่งเป็นบัตรกระดาษที่มีขนาดเท่านามบัตรหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยในยุโรปจะเรียกว่า โครโม (Chromos) ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 120 ปีมาแล้ว พิมพ์โดยเทคนิคพิมพ์หิน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในการแถมในขนมและอาหารต่างๆ หลังจากนั้นเป็นต้นมา โครโมก็ ได้รับความนิยมกันมาเรื่อยๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการ์ดสะสมในประเทศไทยคือการผลิต “รูปยาซิกาแรต” ที่เริ่มนำเข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงปี 2437-2441 โดยการนำเข้ามาและผลิตในไทยจากผู้ผลิตหลายๆบริษัท และในช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมนั้นถึงขนาดมีการขออนุญาตจัดตลาดนัดรูปยาซิกาแรตในทุกวันอาทิตย์ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อให้นักสะสมได้แลกเปลี่ยนและทำการซื้อขายกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปีเลยทีเดียว ซึ่งจะแถมมากับซองบุหรี่ซองละ 1 รูป โดยมากแล้วจะผลิตเป็นชุด ชุดละ 50 ใบโดยมีการผลิตมากกว่า 200 ชุด เช่น ชุดพยัญชนะไทย ชุดสถานที่สำคัญ เป็นต้น จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเลิกผลิตกันไปเพราะเหตุผลทางด้านการขาดแคลนกระดาษ และการที่กิจการยาสูบตกเป็นของรัฐเกือบทั้งหมดในปี 2482 ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแข่งขันโดยการผลิตรูปยาเพื่อดึงดูดลูกค้าออกมาอีก การ์ดสะสมจึงได้มีการพัฒนารูปแบบอีกครั้งหลังภายหลังสงครามสงบลง จากการ์ดที่แถมในหมากฝรั่ง จนกระทั่งแยกขายเป็นซองจนเป็นรูปแบบในปัจจุบันหรือที่เรียกกันว่าการ์ดสะสม หรือ Trading Card
[แก้] ประเภทของการ์ดสะสม
การผลิตการ์ดที่มีเนื้อหาแตกต่างกันมากมายหลายก็เพื่อตอบสนองต่อความต้องการต่อผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องราวที่แตกต่างกัน ตามแต่เนื้อหาที่ต้องการจะใส่ลงไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถแยกประเภทของ Trading Card ได้ดังต่อไปนี้
[แก้] 1. การ์ดกีฬา (Sports Card)
เป็นการ์ดที่นำเอาภาพของนักกีฬาประเภทต่างๆมาเป็นการ์ด ด้านหน้าของการ์ดจะเป็นภาพนักกีฬา พร้อมชื่อและตำแหน่ง ด้านหลังจะเป็นสถิติและข้อมูลต่างๆ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ ตัวอย่างของการ์ดในประเภทนี้ เช่น การ์ดฟุตบอล การ์ดอเมริกันฟุตบอล NFL การ์ดบาสเกตบอล NBA เป็นต้น การ์ดประเภทนี้ในช่วงแรกของการผลิต มักนำมาแถมในหมากฝรั่งหรือของขบเคี้ยวซึ่งวางจำหน่ายในสนามแข่งขัน จึงเป็นเหตุที่ทำให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในราคาสูงโดยวิธีการต่างๆ เช่นการประมูล การ์ดกีฬา มักจะมีการ์ดพิเศษหรือที่เรียกกันว่าเจอร์ซี่ (Jersey) คือการ์ดที่มีชิ้นส่วนเครื่องแต่งกายของนักกีฬาคนนั้นมากับการ์ดด้วย และการ์ดลายเซ็น (Autograph) ของนักกีฬา รวมถึงการ์ดที่ใช้แลกสิทธิพิเศษต่างๆ ที่เรียกกันว่า Redemption Card การ์ดพิเศษเหล่านี้มักจะมีการกำกับหมายเลขระบุจำนวนและมีราคาสูงตามความมีชื่อเสียงและความหายาก และมีบริษัทตัวกลางในสหรัฐอเมริกาที่รับบริการตรวจสอบสภาพ รับประกันสภาพความสมบูรณ์ และเก็บรักษาการ์ดสะสมประเภทกีฬาที่ผลิตจากทุกบริษัทในสหรัฐอเมริกาเพื่อนักสะสมทั่วโลก
[แก้] 2. การ์ดภาพยนตร์ (Movie Card)
เป็นการ์ดที่นำเอาภาพมาจากภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้านหน้าของการ์ดมักจะเป็นภาพของผู้แสดงหรือภาพเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่ในเรื่อง ด้านหลังจะเป็นข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์หรือคำบรรยายเหตุการณ์ที่อยู่ในเรื่อง และการ์ดชนิดนี้มักจะมีการ์ดชนิดพิเศษเช่นเดียวกับการ์ดสะสมกีฬา ซึ่งถือว่า จัดอยู่ในการ์ดสะสมประเภทนี้ด้วย ตัวอย่างของการ์ดในกลุ่มนี้เช่น The Lord of the Rings, Superman, Batman หรือของไทยที่เคยมีการผลิตออกมา อย่างเช่นการ์ดสะสมภาพยนตร์เรื่อง “ต้มยำกุ้ง” เป็นต้น
[แก้] 3. การ์ดดารา นักร้อง นางแบบ (Idol Card)
เป็นการ์ดที่นำเอารูปภาพของดารา นักร้อง นางแบบชื่อดังมาทำเป็นการ์ด เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ชื่นชอบบุคคลนั้นๆโดยเฉพาะกลุ่มที่ติดตามความคืบหน้าของศิลปินที่ชื่นชอบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยรุ่น สำหรับตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประเทศไทยเห็นจะเป็นการ์ดของนางแบบ-นักร้องในสังกัด Dojo City ในเครือ Bakery (ปัจจุบันอยู่ภายใต้กลุ่มของ Sony BMG) ที่เคยผลิต เพื่อแถมกับนิตยสารในกลุ่ม อันได้แก่ Katch และ Manga Katch ในปี 2544-2545
[แก้] 4. การ์ดจากเกม การ์ตูนและแอนิเมชัน (Game ,Cartoon ,Animation Card)
เป็นการ์ดที่สร้างมาจากเกม การ์ตูน แอนิเมชันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลักษณะการทำจะใกล้เคียงกับการ์ดภาพยนตร์ โดยลักษณะของการ์ดพิเศษจะนำเอาสิ่งที่มีความสำคัญและของที่อยู่ในขั้นตอนการสร้าง เช่น ต้นฉบับการ์ตูน ต้นฉบับฟิล์มแอนิเมชัน เป็นต้น หรืออีกประเภทหนึ่งซึ่งนิยมใช้กันมากกับการ์ดสะสมที่มาจากการ์ตูนญี่ปุ่นคือการใช้วัสดุที่ต่างจากเดิม เช่นกระดาษเคลือบ Bromide หรือใช้แผ่นพลาสติคในการพิมพ์ ซึ่งจะมีความสวยงามมากขึ้น และจะมีราคาที่สูงกว่าการ์ดสะสมปกติ เมื่อสมัยยุคปี 90 ในประเทศไทยมักจะนำมาแถมกับขนม ที่ดังที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการ์ดสะสม “โอเดงย่า ดรากอนบอล” แต่ในปัจจุบันส่วนมากแล้วการ์ดประเภทนี้ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยจะเป็นการนำเข้ามาซะมากกว่า ยกเว้นการ์ดที่มักจะแถมมากับอาหารเช้าแบบซีเรียลต่างๆ หรือ Pactio Card ที่ได้รับลิขสิทธิ์และผลิตในไทยเพื่อเป็นของแถมสำหรับ DVD การ์ตูนเรื่อง “คุณครูจอมเวท เนกิมะ”
[แก้] 5. การ์ดประเภทอื่นๆ
การ์ดลักษณะอื่นๆ ที่มีการผลิตออกมา เช่น การ์ดที่ใช้ในการแจกเพื่อการประชาสัมพันธ์ขององค์กร การ์ดที่เป็นข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ การ์ดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น
[แก้] การแบ่งสภาพของการ์ดสะสม
การ์ดสะสมจะมีชื่อเรียกในการแบ่งสภาพของการ์๋ดดังต่อไปนี้
[แก้] ประเภทของการ์ด
- M/NM -- Mint/Near Mint เป็นการ์ดที่สมบูรณ์และไม่มีความผิดพลาดอะไรเลย ตัวอย่างเช่น รอยยับของการ์ด การพิมพ์ผิดพลาด เป็นต้น
- Excellent -- เป็นการ์ดที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ แต่มีตำหนิเล็กน้อยหรือมีขอบการ์ดที่เป็นขุย
- Very Good -- เป็นการ์ดที่จะพบข้อผิดพลาดมากขึ้นเื่มื่อมีการสังเกตและมีตำหนิเป็นจำนวนมาก
- Good -- เป็นการ์ดที่มีร่องรอยการเขียน การพิมพ์เบี้ยวจากจุดศูนย์กลาง มีคราบเล็กน้อยและขอบมีรอยมาก
- Fair -- เป็นการ์ดที่มีร่องรอยความเสียหายมาก เช่นคราบอย่างหนักและขอบมีการลอก
- Poor -- เป็นการ์ดที่แย่ที่สุด สภาพเหมือนโดนทำลาย
[แก้] ประเภทของซองการ์ด
- Pack Fresh -- เป็นการ์ดหรือซองที่พึ่งนำออกมาจากซอง กล่องหรือลังแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นประเภท M/NM เสมอ
- Factory Fresh -- เป็นการ์ดหรือซองการ์ดที่ยังไม่ได้มีการแกะออกมาตั้งแต่การส่งมาจากผูผลิต และเรียกอีกอย่างว่า unused