ทำเนียบรัฐบาล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทำเนียบรัฐบาล (อังกฤษ: Royal Thai Government House) เป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญระดับผู้นำชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยือนประเทศไทย และยังใช้เป็นสถานที่จัดรัฐพิธี อาทิ งานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ
ทำเนียบรัฐบาล ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
ทำเนียบรัฐบาล เดิมชื่อ "บ้านนรสิงห์" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่พลเอก พลเรือเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวยทั้งมื้อกลางวันและกลางคืนตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง
ชื่อบ้านนรสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นชื่อพระราชทาน หรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง คาดว่าเนื่องจากเจ้าพระยารามราฆพเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งมีตราเป็นรูปนรสิงห์ เป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ แต่เดิมบ้านนรสิงห์เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึก ปัจจุบันไม่ทราบว่าได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด
พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เจรจาขอซื้อหรือเช่าบ้านนรสิงห์ ด้วยเห็นว่ามีความสวยงาม เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ต่อมาในเดือนมีนาคม 2484 พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้าน ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี พนมยงค์ เสนอขายบ้านนรสิงห์ให้แก่รัฐบาลในราคา 2 ล้านบาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะและเสียค่าบำรุงรักษาสูง กระทรวงการคลังปฏิเสธ
ถึงเดือนกันยายน ปีเดียวกัน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรซื้อบ้านนรสิงห์ทำเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดตกลงซื้อขาย กันได้ในราคา 1 ล้านบาท โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) ได้ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้รัฐบาลใช้เป็นสถานที่สำหรับรับรองแขกเมืองและใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา "บ้านนรสิงห์" จึงเปลี่ยนเป็น "ทำเนียบสามัคคีชัย" และ "ทำเนียบรัฐบาล" โดยลำดับ สำนักนายกรัฐมนตรีก็ย้ายจากวังสวนกุหลาบมาอยู่ ณ ที่นี้
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการซื้อทำเนียบรัฐบาล ได้ทำสัญญาซื้อขายกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในราคา 17,780,802.36 บาท และโอนกรรมสิทธิ์กัน ณ สำนักงานที่ดิน จังหวัดพระนคร เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2512
[แก้] อาคารในทำเนียบรัฐบาล
- ตึกไทยคู่ฟ้า เดิมชื่อตึกไกรสร เป็นอาคารสูง ๒ ชั้นสถาปัตยกรรมเป็นแบบกอทิกตอนปลาย ( Neo Venetain Gothic ) ที่มีศิลปะของไบแซนไทน์ผสม ผนังนกเจาะช่องโค้งปลายแหลมทรงสูงประดับลวดลายปูนปั้น บางส่วนเขียนสีแบบปูนแห้ง ( Fresco Secco ) มีบันไดขึ้นด้านหน้าสู่ห้องโถงกลาง ชั้นล่างทางด้านซ้ายมือเป็นห้องรับรองสีม่วงและโดมสีม่วง
- ตึกนารีสโมสร เดิมชื่อตึกพระขรรค์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการส่วนราชการของทำเนียบรัฐบาล
- ตึกสันติไมตรี เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมล้อมสนามน้ำพุตรงกลางอาคารเปิดโล่ง ตึกด้านหน้าสร้างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใช้เป็นที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกจำนวนมากรวมทั้งประชุมสัมมนาของหน่วยราชการ ส่วนอาคารด้านหลัง สร้างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรีใช้ในกิจการเช่นเดียวกับตึกหน้า ออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
[แก้] หน่วยงานในทำเนียบรัฐบาล
- สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
- สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภาพ และประวัติ ของอาคารอื่นๆในทำเนียบรัฐบาล
- สกุลไทย หงส์ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ นรสิงห์ โดย กาญจนา นาคสกุล
- pantip.com ประวัติเจ้าพระยารามราฆพ
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก WikiMapia or Google Map
- แผนที่ จาก Multimap or GlobalGuide
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก TerraServer