ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมาได้เป็นวิทยากรให้กับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายซึ่งนำมาซึ่งคำสั่ง 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เกิดที่ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรนายมี-นางเกต ทรัพย์สุนทร สมรสกับนางสาวอรพิน สัมฤทธิ์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน
นายประเสริฐจบมัธยม 8 จากโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นที่ 2 ระหว่างศึกษาเป็นสารณียกรรับผิดชอบการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย และได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ
เมื่อจบการศึกษา นายประเสริฐเข้ารับราชการเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นจึงลาออกไปสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงย้ายไปเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร (วังจันทร์เกษม) เมื่อ พ.ศ. 2489 จึงลงสมัครอีกครั้ง และได้รับเลือกในสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ระหว่างเป็น ส.ส. ได้มีส่วนในการยกเลิก พ.ร.บ. การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476
[แก้] ร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ประเสริฐสมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และได้รับคัดเลือกไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์ที่ประเทศจีน ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางพรรค และได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพสากล 3 ครั้งระหว่าง พ.ศ. 2494-95
นายประเสริฐเกิดความขัดแย้งทางแนวความคิดกับพรรค จึงเดินทางกลับเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2501 และถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 6 ปี ในระหว่างถูกคุมขังได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการปฏิวัติไทยโดยสันติตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นแนวทางที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เห็นด้วย และมีคำสั่งให้ยกฟ้อง จากนั้นนายประเสริฐได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกแก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหลายครั้ง
[แก้] ก่อตั้งพรรคแรงงาน
เขาได้สนับสนุนให้ก่อตั้งศูนย์กรรมกรแห่งประเทศไทยขึ้น ผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายแรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2515 ส่งผลเกิดสหภาพแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นในประเทศไทย พ.ศ. 2517 ได้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคแรงงาน ซึ่งต่อมาพรรคนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2518 มีนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นหัวหน้าพรรค
[แก้] คำสั่ง 66/2523
ในปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย นายประเสริฐได้เขียนบทความเรื่อง "ลัทธิประชาธิปไตย" ลงในนิตยสาร "ตะวันใหม่" ได้ผลักดันแนวคิดในรูปของแถลงการณ์และคำชี้แจงโดยผ่านทาง "ทหารประชาธิปไตย" เพื่อต่อสู้กับแนวคิดสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2523 ขณะที่การต่อสู้รุนแรงมากขึ้น รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยพลตรีชวลิต ยงใจยุทธ เจ้ากรมยุทธการทหารบก เป้นผู้ร่าง โดยมีแนวคิดหลักมากจากแนวคิดของนายประเสริฐ มีการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง กองอาวุธพากันวางอาวุธและหันมาร่วมพัฒนาชาติไทย ส่งผลให้สงครามกลางเมืองซึ่งดำเนินติดต่อกันมา 17 ปี ยุติลง
[แก้] สภาปฏิวัติแห่งชาติ
วันที่ 28-29 เมษายน พ.ศ. 2530 มีการประชุมผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ จัดตั้งสภาปฏิวัติแห่งชาติขึ้นเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตยของนายประเสริฐ และออกคำสั่งสภาปฏิวัติแห่งชาติที่ 1/2532 เรื่องการโอนอำนาจจากรัฐสภามาสู่สภาปฏิวัติแห่งชาติ และแถลงการณ์สภาปฏิวัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 นายประเสริฐถูกจับด้วยข้อหาทำลายความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกับพวกรวม 14 คน
ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2537
นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในหัวใจตีบตัน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2537 อายุ 81 ปี
ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |