พระราชพิธี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
[แก้] การพระราชพิธีฉัตรมงคล
วันพระราชพิธีฉัตรมงคล คือวันพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชาภิเษก ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล จะเปลี่ยนวันกันไปตามวันพระบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคม
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ที่ใช้ในพระราชพิธีมี ๕ อย่าง เรียกว่าเบญจกกุธภัณฑ์ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ชัยศรี ๑ ธารพระกร ๑ พัดวาลวิชนี ๑ พระแส้จามรี ๑ ฉลองพระบาทเชิงงอน ๑ ดังมีโคลงทำแต่โบราณว่า
ราชาภิเษกด้วย สำคัญ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ อย่างห้า กรอบพักตร์และพระขรรค์ ฉลองบาท คำเฮย ธารพระหัตถ์สุวรรณอ้า อีกแส้จามรี
คำว่า "อภิเษก" แปลได้ความว่าการรดน้ำ ราชาภิเษกก็หมายความว่า การรับแต่งตั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยการรดน้ำ ในพิธีการแต่งตั้งต่าง ๆ สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเรานี้ มีพระราชพิธีสืบเนื่องมาแต่โบราณกาลว่า ต้องมีพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกเสียก่อน คือการรดด้วยน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ละเหนือผู้รับการอภิเษกนั้น ๆ ส่วนน้ำที่จะใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษกนั้น คือน้ำที่ได้จากสถานที่ต่างๆ อันทางราชการถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นน้ำในแม่น้ำใดแล้วแต่ความเชื่อถือ และกำหนดเอาเป็นยุคเป็นสมัยไป การอภิเษกเท่าที่ปรากฏมีดังนี้
อุปราชาภิเษก คือ การสรงน้ำมูรธาภิเษกในคราวที่เลื่อนเป็นพระมหาอุปราชา อุปภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในคราวมงคลสมรส ราชาภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในคราวเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์สืบสันติวงศ์ โดยเหตุการณ์ปกติ ปราบดาภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในคราวเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ โดยเหตุการณ์ ที่ต้องทำศึกปราบปรามศัตรูลุล่วงไป อินทราภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในคราวเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์สืบสันติวงศ์ โดยอาการที่บ้านเมืองเสี่ยงรถมาจำเพาะเจาะจงตัวเข้า (ราชรถมาเกย) โภคภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในคราวเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์สืบสันติวงศ์ โดยฐานะที่เป็นผู้กอปรด้วยโภคสมบัติอันสมบูรณ์ยิ่ง และทางบ้านเมืองเจาะจงเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มังคลาภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในมงคลสมัยที่ได้มีเวลาอยู่ในราชสมบัติ มาแล้วนานที่สุดเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งที่ล่วงลับไปแล้ว ในพระราชวงศ์เดียวกัน ทวีธาภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในมงคลสมัยที่ได้มีเวลาอยู่ในราชสมบัติ มาแล้วนานเป็นสองเท่าของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง ในพระราชวงศ์เดียวกัน รัชฎาภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในมงคลสมัยที่ได้มีเวลาอยู่ในราชสมบัติ มาแล้วครบ ๒๕ ปีบริบูรณ์ สุวรรณาภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในมงคลสมัยที่ได้มีเวลาอยู่ในราชสมบัติ มาแล้วครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ วชิรภิเษก คือ พิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ในมงคลสมัยที่ได้มีเวลาอยู่ในราชสมบัติ มาแล้วครบ ๗๕ ปีบริบูรณ์
[แก้] อ้างอิง
- ต่วย' ตูน เล่มที่ ๑๗ ปีที่ ๒๕ ปักษ์แรก พฤษภาคม ๒๕๓๘ อ.ประจักษ์ ประภาพิทยากร ชานล เพ็ชรฉ่ำ รวบรวม ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๑
![]() |
พระราชพิธี เป็นบทความที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ พระราชพิธี ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |