ฟ้าหลัว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟ้าหลัว (Dry Haze) หมายถึง ลักษณะของอากาศที่ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (เช่น ฝุ่นควันจากไฟป่า ฝุ่นละอองจากยวดยานพาหนะในเมืองใหญ่ หรือไอเกลือจากทะเล) จำนวนมาก ล่องลอยอยู่ทั่วไป ทำให้มองเห็นอากาศเป็นฝ้าขาว ในบรรยากาศที่มีฟ้าหลัวเกิดขึ้นจะทำให้ทัศนวิสัยลดลง
[แก้] ความหมายของคำว่าหลัว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า หลัว มีถึง 3 ความหมาย
- มัว, ไม่แจ่ม, ไม่กระจ่าง เช่น ตอนเช้าใกล้สว่าง อากาศยังหลัวๆ อยู่ มองอะไรไม่ค่อยชัด ใช้ว่า สลัว ก็มี
- ฟืนหรือฟืนไม้ไผ่
- ภาชนะสานรูปทรงกระบอก ก้นสอบปากผาย มีหูที่ขอบปากทั้ง 2 ข้าง
[แก้] ความแตกต่างระหว่างหมอกกับฟ้าหลัว
หมอกนั้นเกิดจากการที่มีความชื้นสูงในอากาศ เช่น ตอนเช้า หรือหลังฝนตก แต่ฟ้าหลัวจะเกิดจากอนุภาคขนาดเล็ก และเกิดในขณะที่อากาศแห้ง บางครั้งจึงเรียกฟ้าหลัวว่า หมอกแดด