มิตรารุณ เกษมศรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกที่มีความเป็นเลิศในการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีและสถาปัตยกรรมสากล ทั้งยังมีความชำนาญในการออกแบบผูกลาย ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2530
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2458 ที่บ้านสี่กั๊กพระยาศรี ริมถนนเจริญกรุง ตําบลพาหุรัด อําเภอพาหุรัด (ขณะนั้น) กรุงเทพมหานคร เป็นโอรสของ พันโทหม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี และหม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540 รวมอายุได้ 82 ปี
สารบัญ |
[แก้] ประวัติการศึกษา
- 2466 :ประถมศึกษา โรงเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม
- 2470 :มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
- 2475 :มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส
- 2478 :อนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[แก้] ประวัติการทํางาน
เมื่อสําเร็จอนุปริญญา ในปี พ.ศ. 2481 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ารับราชการที่กรมโยธาธิการได้ รับมอบหมายให้ ออกแบบอาคารราชการหลายหลังได้ขึ้นไปปฏิบัติงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายจะย้ายเมืองหลวงไปที่นั่น ได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมรุสําหรับเผาคนที่ตายเพราะพิษไข้ป่าเป็นจํานวนมาก นอกจากนั้นท่านก็ได้ทํางานส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน โดยออกแบบบ้านซึ่งเป้นที่นิยมชมชื่นของเจ้าของบ้านเป็นอันมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ทางกรมศิลปากรได้ ขอตัวหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ จากกรมโยธาธิการ ให้ไปสังกัดอยู่กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ช่วงเวลานี้ท่านได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดชลบุรี พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ปราสาทจําลอง ซึ่งนําไปแสดง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2501 นอกจากนั้นยังได้ออกแบบเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งใช้เป็นเมรุในการพระราชพิธีตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
ท่านยังได้รับเชิญให้ เป็นอาจารย์พิเศษสอนสถาปัตยกรรมไทยให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในระหว่างนี้ท่านได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทออกแบบเขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างที่ประทับแบบพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ตําหนักที่ประทับและที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ต่อมา
ในปี พ.ศ. 2504 หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณขอลาออกจากราชการเพื่อปฏิบัติงานส่วนตัว แต่เมื่อทรงทราบได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาปฏิบัติราชการ ในพระราชวัง สังกัดสํานักพระราชวัง ในตําแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็ก และปฏิบัติราชการในฐานะสถาปนิกพิเศษประจําสํานักพระราชวัง ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยตั้งแต่ออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ทั้งยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบพระตําหนักเพิ่มเติม ได้แก่ พระตําหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้งหอพระประจําราชนิเวศน์ด้วย นอกจากนั้นยังโปรดฯ ให้เป็นผู้ควบคุมตกแต่งสถานที่พระราชนิเวศน์แห่งนี้ทั้งหมด ส่วนที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ซ่อมแซมสระสรงที่ตําหนักที่ประทับต่อมาเมื่อมีพระราชประสงค์ สร้างพระตําหนักเพิ่มเติม เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมทั้งหมดส่วนที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อทรงมีพระราชประสงค์จะต่อเติมพระตําหนักส่วนใด ก็จะโปรดเกล้าให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เป็นผู้เขียนแบบและต่อเติมขึ้น พร้อมทั้งเขียนแบบการตกแต่งภายในทั้งหมดส่วนที่พระบรมมหาราชวัง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณได้รับผิดชอบ ในการบูรณะปฎิสังขรณ์ที่นั่งองค์ต่าง ๆในช่วงนี้
เมื่อหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ พอจะมีเวลาว่างมากขึ้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณไปช่วยงานด้านพระศาสนาออกแบบอาคารต่าง ๆ ในวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี งานที่สําคัญ ได้แก่ พระมหามณฑปพระพุทธบาท “ภปร” “สก” ศาลานาคเลนน้ํานานาชาติ
นอกจากงานออกแบบในวัดญาณสังวรารามแล้ว ยังได้ออกแบบพระอุโบสถ เจดีย์ ที่วัดตรีทศเทพฯ ศาลาที่ระลึกครบ 150 ปั ของวัดบวรนิเวศวิหารนอกเหนือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมแล้วหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณยังได้ออกแบบตรามหาวิทยาลัยมหิดล ตรามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตราสวนหลวง ร.9
และเมื่อหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ มีอายุครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติราชการต่อไปอีกจนถึงอายุ 65 ปี หลังจากนั้น จึงขอรับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยมิขอรับเงินเดือน และไปปฏิบัติราชการทุกวันในช่วงนี้ได้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างอาคารหลายๆ หลัง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้แก่ วัดญาณสังวราราม วัดตรีทศเทพฯ วัดบวรนิเวศน วิหาร วัดถ้ําผาปล้อง จังหวัดเชียงใหม จะเห็นได้ว่า หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี ได้ปฏิบัติงานออกแบบสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมสม่ำเสมอมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่จบการศึกษามา ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในการออกแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรมไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับนับถือในงานวิชาการสถาปัตยกรรมจนทุกวันนี้
- 2482 :ช่างตรีแผนกสำรวจกองผังเมืองและช่างสุขาภิบาล กรมโยธาธิการ
- 2484 :ช่างตรีแผนกออกแบบ กองสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการ
- 2485 :ช่างตรีแผนกสถาปัตยกรรม กองแบบแผนและผังเมือง
- 2492 :รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกแบบแผน กองแบบแผนและผังเมือง กรมโยธาธิการ
- 2494 :ผู้ช่วยโทแผนกแบบแปลน กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
- 2494 :ช่างโทหัวหน้าแผนกแบบแผน กรมศิลปากร
- 2495 :หัวหน้าแผนกตรวจงาน กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
- 2496 :นายช่างผู้ช่วยโท กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- 2498 :นายช่างโท กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- 2504 :นายช่างศิลปเอก กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- 2507 :หัวหน้ากองมหาดเล็ก สำนักพระราชวัง
[แก้] ผลงานดีเด่นระหว่างปฏิบัติราชการกรมศิลปากร
- วิหารพระพุทธสิหิงค์จังหวัดชลบุรี
- เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส
- ร่วมกับหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระตําหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งตกแต่งภายในพระตําหนัก และจัดตกแต่งสวนรอบพระตําหนัก
- เรือนรับรอง สําหรับผู้ติดตาม (State visit) ในพระบรมมหาราชวัง
- ออกแบบศาลาไทย โดยนําเค้าโครงจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปแสดงณ ประเทศเบลเยี่ยม กรุงบรัสเซลส์ในงาน World Exposition ปี พ.ศ. 2501
- ตกแต่งภายในห้องไทย ที่เจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า
[แก้] ผลงานส่วนตัว
- เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านพักอาศัยทั้งในแบบสากล และแบบบ้านไทย
- ออกแบบตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- ออกแบบอาคารไทยลายทอง เป็นการนําอาคารแบบไทยมาปรับปรุงใช็เป็นอาคารพาณิชย์ อาคารไทยลายทอง โรงแรมมณเฑียร ถนนสุรวงศ์
[แก้] รางวัลและเกียรติคุณ
- 2513 :ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2514 :ปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- 2530 :รางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- 2537 :ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2538 :ได้รับยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรม กรมกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย