ลัทธิ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลัทธิ (Doctrine) คือคำสั่งสอน ที่มีผู้เชื่อถือและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่นลัทธิทางการเมือง ลัทธิเศรษฐกิจ ลัทธิปรัชญา ลัทธิทางศาสนา เป็นต้น ลัทธิทางศาสนาจะมีความหมายแคบกว่าศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนเฉพาะกลุ่มของผู้นับถือศาสนาเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ เช่น พุทธศาสนา มีลัทธิมหายาน ลัทธิหินยาน(เถรวาท) หรือใช้คำว่า นิกาย แทนก็ได้ ลัทธิที่แสดงถึงความเชื่อหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อเพื่อความมั่นคงทางจิตใจของมนุษย์แต่ไม่มีลักษณะที่เรียกว่าศาสนาได้ เช่น ลัทธิบูชาบรรพบุรุษ ลัทธินับถือผีสางเทวดา เป็นต้น ลัทธิเหล่านี้มีแต่คำสั่งและพิธีกรรม แต่ไม่มีหลักคำสอนทางจริยธรรม ไม่มีคัมภีร์หรือองค์ศาสดา จึงไม่อาจเรียกว่าศาสนาได้
[แก้] ความแตกต่างระหว่าง ลัทธิ กับ ศาสนา
- ลัทธิ อาจไม่มีคำสั่งสอนเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาเหมือนอย่างศาสนาก็ได้ เช่นลัทธิความเชื่อของเผ่าต่าง ๆ ในสังคมบรุพกาล ที่เน้นแต่การทำพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า ภูตผีปีศาจ แต่ไม่มีหลักคำสอนทางศีลธรรมจรรยา
- ลัทธิ มีคำสอนเรื่องจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตที่แตกต่างจากศาสนา กล่าวคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ที่ศาสนากำหนด คือ ความสุขในทางธรรม ความสงบสุขทางจิตใจและมุ่งแก้ปัญหาที่เป็นลักษณะปัญหาสากลของมนุษย์ เช่น ความทุกข์ ความผิดหวัง และพฤติกรรมความดี ความชั่ว เป็นต้นแต่จุดมุ่งหมายของลัทธิ จะเน้นความสุขทางโลก มุ่งแก้ปัญหาของมนุษย์และสังคมและมีความเหมาะสมเฉพาะสังคมบางท้องถิ่นและเฉพาะสมัยเท่านั้น เช่น ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ เป็นต้น
- ลัทธิอาจมีพิธีกรรมหรือไม่ก็ได้ แต่ศาสนาต้องมีพิธีกรรม
- คำสอนของลัทธิ เกิดจากความคิดและทัศนะส่วนตัวของเจ้าลัทธิเอง แต่สำหรับศาสนา คำสอนเกิดจากพระบัญชาของพระเจ้า โดยมีโองการผ่านทางศาสดา ศาสดามิได้คิดขึ้นเอง (ยกเว้น พุทธศาสนา ถือว่าคำสอนเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบและนำมาเผยแพร่ เนื่องด้วยเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า)
- คำสอนของลัทธิไม่มีลักษณะความศักดิ์สิทธิ์ แต่ศาสนามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะบูชาของศาสนิกชนผู้นับถือ ไม่พอใจเมื่อถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม
- ลัทธิไม่มีสถาบันที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสอนและไม่มีคัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ แต่ศาสนามีนักบวชทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนของศาสดาและมีคัมภีร์รวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร ลัทธิอาจมีหนังสือที่เจ้าของลัทธิแต่งขั้น แต่มิใช่คัมภีร์ เช่น ลัทธิเศรษฐกิจ ลัทธิการเมือง เป็นต้น
[แก้] อ้างอิง
- สวลี บุญมูล [[1]]