ศาสนาเปรียบเทียบ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิชาศาสนาเปรียบเทียบ (Comparative religion) เป็นการศึกษาศาสนาทั่วโลกในด้านวิเคราะห์และตีความหมาย
[แก้] ประวัติความเป็นมาของหลักวิชา
วิชาศาสนาเปรียบเทียบในประเทศตะวันตก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยการบุกเบิกสอนและทำวิจัยของ ศ.ดร. มักซ์ มึลเลอร์ (Max Mueller) นักปราชญ์ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีสันสกฤต ซึ่งมาปักหลักสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยสังกัดอยู่กับวิทยาลัยไครซ์เชิร์ช ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ยุคสมัยนั้นกระแสสังคมได้มองศาสนาว่าขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ มักซ์ มึลเลอร์จีงได้พยายามศึกษาศาสนาในแนววิทยาศาสตร์ ในที่สุด ก็ได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Introduction to the Science of Religion นับเป็นครั้งแรกที่ชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่าศาสนาต่างๆ นั้น สามารถศึกษาโดยใช้วิธีศึกษาตามแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีศึกษาโดยใช้ศรัทธา (Faith) นำหน้า วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ก็คือเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างกันภายในประเทศและทำให้อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีและปรองดองได้ในที่สุด
[แก้] การศึกษาและวิจัยศาสนาเปรียบเทียบในประเทศไทย
หลักวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ได้มีการบุกเบิกใช้สอนในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ อดีตเลขาธิการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเริ่มบุกเบิกนำวิชาศาสนาเปรียบเทียบมาใช้สอนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2489 หนังสือเล่มแรกว่าด้วยศาสนาเปรียบเทียบสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงเป็นหนังสือที่อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้เขียนและจัดพิมพ์เผยแพร่ ก่อนหน้านั้น ก็มีท่านเสฐียรโกเศสซึ่งเขียนสารคดีศาสนาต่างๆ ไว้บ้างแล้ว หลังจากนั้น ก็มี สมเด็จพระญาณวโรดมซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ มหามกุฏราชวิทยาลัย ถัดจากท่านร่วมสอนด้วย ต่อมาสาขานี้มีแพร่หลายไปยัง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุ ซึ่งเริ่มเปิดเรียนไล่หลังมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวคือเปิดเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยมีท่าน ศ.พิเศษ เสฐียร พันธรังษี เป็นอาจารย์สอนในรุ่นบุกเบิก
ส่วนในมหาวิทยาลัยของรัฐฝ่ายฆราวาส ผู้ที่บุกเบิกท่านแรกคือท่าน รศ.ดร.พินิจ รัตนกุล ซึ่งบุกเบิกก่อตั้งภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรปริญญาโทเพื่อเน้นทำวิจัยทางศาสนาเปรียบเทียบโดยเฉพาะมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยรัฐฝ่ายฆราวาสเกิดการตื่นตัวศึกษาวิชานี้เพิ่มมากขึ้น ก่อนหน้าที่ท่านจะดำเนินการก่อตั้ง วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อให้สาขาวิชานี้มีเปิดสอนอย่างแพร่หลายในระดับปริญญาตรีด้วย
ท่านรศ.ดร.พินิจ รัตนกุลได้ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ว่า ‘พยายามทำหลักสูตรให้เข้มแข็ง เพื่อสามารถเกื้อหนุนความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างศาสนาให้มากขึ้น อันจะยังผลให้ยอมรับและเคารพต่อลักษณะพหุนิยมทางศาสนา (Religious pluralism) ที่ช่วยลดมูลเหตุอันอาจก่อความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างชุมชนศาสนาต่างๆ ซึ่งหากไม่ยับยั้งเสียก็จะเกิดอันตรายต่อการยึดพหุนิยมทางศาสนาของไทย’
กล่าวได้ว่า อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ, สมเด็จพระญาณวโรดม, ศ.พิเศษ เสฐียร พันธรังษีและรศ.ดร.พินิจ รัตนกุลคือกลุ่มคณาจารย์ผู้วางรากฐานสาขานี้ในประเทศไทย
[แก้] อ้างอิง
- ดูบทความ ‘‘องค์ความรู้วิชาศาสนาเปรียบเทียบกับการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา: ประสบการณ์จากภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล’’ โดย พิเชฏฐ์ กาลามเกษตร์ ในหนังสือประกอบการสัมมนาชื่อ สันติวิธีจากมุมมองศาสนา จัดพิมพ์โดยภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2548, หน้า 113-124.
- ดูบทความ ‘‘แนะนำภาควิชามนุษยศาสตร์: ศาสนาเปรียบเทียบและจริยศาสตร์สำคัญต่อสังคมอย่างไร?’’ ของ ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ในหนังสือประกอบการสัมมนาชื่อ สันติวิธีจากมุมมองศาสนา จัดพิมพ์โดยภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,2548, หน้า 166-172.
- Richard Synolds, Oxford and Empire: The Last Lost Cause. Hampshire: The Macmillan Press Ltd, 1956.