สนามกีฬาแห่งชาติ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนามกีฬาแห่งชาติ (National Stadium) หรือ กรีฑาสถานแห่งชาติ ตั้งอยู่เลขที่ 154 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2478
[แก้] ประวัติ
แต่เดิมการแข่งขันกรีฑานักเรียนจะจัดอยู่ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมานาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ได้ย้ายสนามแข่งขันไปแข่งขันที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2477 และในปีเดียวกันก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณตำบลวังใหม่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินเซอร์ ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อสร้างสนามกีฬา และโรงเรียนพลศึกษากลาง สนามกีฬาแห่งใหม่นี้ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน เริ่มงานตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484
กรมพลศึกษาย้ายมาอยู่ที่สนามกีฬาแห่งใหม่นี้ เมื่อ พ.ศ. 2481 พร้อมทั้งย้ายการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 จากสนามหลวงมาจัดที่นี่ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถาน เป็นครั้งแรก
เมื่อ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ
ปัจจุบัน กรมพลศึกษาได้คืนสถานที่บางส่วนให้เป็นสถานที่เรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้สถานที่บางส่วนเป็นที่ทำการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน สมาคมเกี่ยวกับการกีฬา และนันทนาการอื่นๆ
[แก้] อาคารกีฬาในสนามกีฬาแห่งชาติ
- สนามศุภชลาศัย (Supachalasai Stadium) เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง มีลู่วิ่งสังเคราะห์เพื่อจัดการแข่งขันกรีฑา มีอัฒจันทร์โดยรอบ มีหลังคาหนึ่งด้าน ความจุรวม 35,000 ที่นั่ง ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นาวาโทหลวงศุภชลาศัย ร.น.
- สนามเทพหัสดิน (Thephasadin Stadium) เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง มีลู่วิ่งจัดการแข่งขันกรีฑา ใช้ฝึกซ้อมกรีฑาและกีฬาทั่วไป ความจุ 6378 ที่นั่ง ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา
- สนามวอร์ม 200 ม. เป็นสนามฝึกซ้อมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ระหว่างสนามศุภชลาศัย และสนามเทพหัสดิน
- สนามจินดารักษ์ ใช้แข่งขันฟุตบอลนัดย่อย และเป็นที่ฝึกซ้อม
- อาคารนิมิบุตร หรือ ยิมเนเซียม 1 เป็นสนามกีฬาในร่ม
- อาคารจันทนยิ่งยง หรือ ยิมเนเซียม 2
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- รายละเอียดสนามกีฬาแต่ละสนาม จากเว็บไซต์สำนักพัฒนาการกีฬา