สมเด็จพระเอกาทศรถ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า พระองค์ขาว เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในสมเด็จพระมหาธรรมราชา กับพระวิสุทธิกษัตรี ทรงเป็นพระอนุชาของพระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สารบัญ |
[แก้] ก่อนขึ้นครองราชสมบัติ
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปีพ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้เสด็จออกร่วมทำการรบคู่กับสมเด็จพระนเรศวร ได้โดยเสด็จในการทำศึกสงครามด้วยทุกครั้งนับแต่นั้นมาจนสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นจำนวนถึง ๑๗ ครั้ง
ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระเอกาทศรถ เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่พระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดินและให้ประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์เกษม
[แก้] หลังขึ้นครองราชสมบัติ
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ พระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนเรศวร ในปีเดียวกันในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองเป็นปกติสุข เป็นที่เคารพยำเกรงแก่ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นผลจากการที่สมเด็จพระนเรศวร และพระองค์เองได้ทรงสร้างอานุภาพ ของราชอาณาจักรอยุธยาไว้อย่างยิ่งใหญ่ มีพระราชอาณาเขตแผ่ออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่ายุคใดๆของไทย พระองค์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาทำศึกมาตลอดการครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรจึงไม่มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาเขตออกไปอีกและมาเน้นทางการปกครองบ้านเมืองแทน
ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีชาวต่างประเทศอาศัยในกรุงศรีอยุธยาอยู่มากจึงมีการยอมรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทหาร เรียกว่า ทหารอาสา โดยได้จัดแบ่งออกเป็นพวก ๆ ตามเชื้อชาติ และตามความชำนาญในการรบ เกิดหน่วยทหารอาสาขึ้นหลายหน่วย เช่น กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาจาม กรมทหารแม่นปืน(โปรตุเกส) นอกจากนั้นในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีชื่อเสียงในด้านความสามารถหล่อปืนใหญ่สำริดที่มีคุณภาพสูง ซึ่งน่าจะได้เรียนรู้มาจากโปรตุเกสและฮอลันดา เมื่อมาผสมผสานกับขีดความสามารถ ในด้านการหล่อโลหะของไทยที่มีการหล่อ ระฆังและพระพุทธรูป ที่มีมาแต่เดิม จึงทำให้การหล่อปืนใหญ่ของไทยในครั้งนั้นเป็นที่ยกย่องชมเชยไปถึงต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่โชกุนของญี่ปุ่น ได้มีหนังสือชมเชยคุณสมบัติของปืนใหญ่ไทยเป็นอันมาก พร้อมกับขอให้ไทยช่วยหล่อปืนใหญ่ให้อีกด้วย
[แก้] การสงคราม
ในสมัยของพระองค์ยังมีการไปตีทัพเมืองอังวะของพระเจ้าสีหสุธรรมราชา(พระอนุชาของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง) ที่มายึดไทยใหญ่ และทวายมาเป็นของอังวะ
[แก้] พระราชโอรสและพระราชธิดา
สมเด็จพระเอกาทศรถมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสี สององค์คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์ และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ และมีพระราชโอรสที่ประสูติจากพระสนม อีกสามองค์คือ พระอินทรราชา พระศรีศิลป์ และพระองค์ทอง ไม่ทรงมีพระธิดา
ทรงเสด็จสวรรคตเนื่องจากตรอมพระทัยที่พระโอรสเจ้าฟ้าสุทัศน์เสวยยาพิษฆ่าตัวตายจึงทรงเสด็จสวรรคตเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๓ พระชนม์พรรษาได้ ๕๐ พรรษาเศษ ครองราชย์ได้ห้าปีพระองค์ที่ครองราชย์ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์พระโอรสองค์รอง
[แก้] ดูเพิ่ม
รัชสมัยก่อนหน้า: สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราชวงศ์สุโขทัย |
พระมหากษัตริย์ไทย อาณาจักรอยุธยา ราชวงศ์สุโขทัย ๒๑๔๘ – ๒๑๕๓ |
รัชสมัยถัดไป: สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ราชวงศ์สุโขทัย |
สมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ สมเด็จพระเอกาทศรถ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |