อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ และเป็นที่บรรจุอัฐิของนักรบไทยเสียชีวิต และเพื่อเป็นการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ตั้งอยู่บริเวณสามแยกดอนเมือง ช่วงถนนวิภาวดีรังสิต บรรจบกับถนนพหลโยธิน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในพื้นที่ 38 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา ของกองทัพอากาศ อยู่ในความดูแลของกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
[แก้] ประวัติ
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เกิดขึ้นจากดำริของพลเอกสายหยุด เกิดผล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิ ของผู้เสียชีวิตในสงครามต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ทหารอาสา เป็นที่ระลึกสำหรับผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม การปราบปรามผู้ก่อการร้าย มีผู้เสียชีวิตทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพเป็นประจำทุกปี แต่อัฐิของผู้พลีชีพเพื่อชาติเหล่านี้ ยังคงเก็บรวบรวมไว้ และยังมิได้จัดสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นอนุสรณ์อย่างสมเกียรติ
กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติ เป็นส่วนรวม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 เวลา 16.30 น การก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทรงพระราชทานนามสถานที่นี้ว่า "อนุสรณ์สถานแห่งชาติ"
[แก้] สถาปัตยกรรม
เป็นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ คล้ายโดมแต่มียอดเรียวแหลมกว่า มีซุ้มประตู 4 ด้าน ตั้งอยู่บนฐานลอย มีเนินดินกว้างใหญ่รองรับฐานลอยก่อด้วยอิฐโปร่ง มีประตูเดินทะลุถึงกัน 4 มุม การออกแบบมุ่งประโยชน์ใช้สอยเอนกประสงค์ ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภายในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ นอกจะบรรจุอัฐิของวีรชนไทยแล้ว ยังบรรจุดินจากสมรภูมิสำคัญในอดีต รวม 10 แห่ง ได้แก่
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ที่ตำบลบางแก้ว ราชบุรี ในศึกบางแก้ว พ.ศ. 2317
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ที่ทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี ในสงคราม 9 ทัพ พ.ศ. 2328
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ในศึกถลาง พ.ศ. 2328
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ที่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2345
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ที่เมืองเชียงแสน พ.ศ. 2347
- ดินสมรภูมิไทยรบลาว ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ นครราชสีมา พ.ศ. 2369
- ดินสมรภูมิไทยรบเขมร สมัยสุโขทัย
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ในสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ในศึกบางระจัน พ.ศ. 2308
- ดินสมรภูมิไทยรบพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น พ.ศ. 2310
นอกจากอาคารอนุสรณ์สถานแล้ว ยังมีอาคารอื่นๆ เพื่อจัดแสดงจิตรกรรมฝาผนังเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภาพจำหลักนูนต่ำแสดงเรื่องการสร้างเมือง และหุ่นจำลองเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การสงครามของไทย ได้แก่
- อาคารพานอรามา
- อาคารนิทรรศการ
- อาคารประกอบพิธี
- สวนอนุสรณ์สถาน
นอกจากนี้ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ยังเคยเป็นสถานที่แข่งขันรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน ล้านที่ 29 อีกด้วย