โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
ชื่อ | โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
(ย.ว.) |
ชื่อ (อังกฤษ) | Yupparaj Wittayalai School
(y.r.c) |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2442โรงเรียนประจำมนฑลพายัพพ.ศ. 2448โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย |
ประเภทโรงเรียน | โรงเรียนรัฐบาล |
คำขวัญ | สุภาพ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ |
เพลงประจำสถาบัน | ยุพราช - บานเย็น |
สีประจำสถาบัน | บานเย็น |
ที่อยู่ | 238 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50200 |
เว็บไซต์ | http://www.yupparaj.ac.th/ |
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนรัฐแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6
[แก้] ประวัติ
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2448 ตามพระบรมราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการขยายการศึกษาออกสู่หัวเมือง โดยได้ออก"ประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง" เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ความว่า "…ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดแต่ความประพฤติชอบ และการเลี้ยงชีวิตโดยชอบเป็นที่ตั้ง ครั้นทั้งหลายจะประพฤติชอบ แลจะหาเลี้ยงชีวิตโดยชอบนั้นเล่า ก็ย่อมอาศัยการได้ศึกษาวิชา ความรู้ ในทางที่จะให้บังเกิดประโยชน์ มาแต่ย่อมเยาว์ และฝึกซ้อมสันดานให้น้อยในทางสัมมาปฏิบัติและเจริญปัญญา สามารถในกิจการต่างๆ อันเป็นเครื่องประกอบการหาเลี้ยงชีพเมื่อเติบใหญ่ จึงเชื่อว่าได้เข้าสู่ทางความเจริญ… บัดนี้การฝึกสอนในกรุงเทพฯเจริญแพร่หลายมากขึ้นแล้ว สมควรจะจัดการฝึกสอนให้หัวเมืองได้เจริญขึ้นตามกัน…" สำหรับเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ของมณฑลพายัพนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงมี พระราชประสงค์ จะให้จัดเป็นโรงเรียนตัวอย่างและฝึกอบรมกุลบุตรกุลธิดา ให้รู้ธรรมเนียมการหนังสือ และฝึกหัดลายมือ ให้ใช้เป็นเสมียนได้ วิชาคิดเลขและวิชาช่างที่เป็นประโยชน์ และธรรมเนียมต่างๆ ที่เป็นคุณแก่แผ่นดิน ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ก็ยังมีพระราชประสงค์จะปลูกฝังคุณสมบัติ ให้นักเรียนเป็นคนขยันขันแข็ง สะอาดทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ซื่อสัตย์สุจริตมีอุปนิสัยใจคอดี และเป็นพลเมืองดีในที่สุด
เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งนั้น โรงเรียนมีที่ตั้งอยู่ที่ศาลากลางสวน ในจวนของพระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพในขณะนั้น ลักษณะการก่อตั้งโรงเรียนเป็นไปตามแนวพระดำริ ของสมเด็จกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ที่ต้องการให้โรงเรียนหลวงตั้งอยู่ริมจวนข้าหลวง หรือในวัด ที่อยู่ไกล้จวนข้าหลวง เพื่อจะได้ช่วย เป็นธุระดูแลและให้ครูได้ตั้งใจสั่งสอนนักเรียน โรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้นมีจุดประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เพื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่าง แก่โรงเรียนอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่ จึงมีชื่อเป็นที่รู้จักของคนสมัยนั้นว่า โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ หรือโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ เริ่มต้นจากการสอนภาษาพื้นเมือง ภาษาไทย และวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งการอบรมความประพฤติ ให้รู้จักรับผิดชอบ ในระยะแรกเริ่มนั้นจัดการศึกษาเป็นแบบสหศึกษา มีนักเรียนชาย หญิง พระภิกษุ สามเณร เรียนรวมกัน มีขุนอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ ข้าหลวงธรรมการมณฑล เป็นครูใหญ่คนแรก
[แก้] สรุปเหตุการณ์สำคัญในอดีต
พ.ศ. 2442 ตั้งโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ มีสถานที่เรียนอยู่ที่ศาลากลางสวน ในจวนของพระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีขุนอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ เป็นครูใหญ่คนแรก
พ.ศ. 2444 ย้ายสถานที่เรียน ไปอยู่ที่โรงละครของเจ้าอนิทวโรรสสุริยวงค์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 คือ บริเวณที่ดินที่บริจาค และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบันนี้
พ.ศ. 2447 ย้ายสถานที่เรียนจากโรงละคร ไปเรียนที่พระวิหารวัดกู่หลวง หรือวัดเจดีย์หลวง
พ.ศ. 2448 ย้ายสถานที่เรียนจากโรงละครไปเรียนที่พระวิหารวัดพันเตา วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่6 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอิสริยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมารเสด็จพระพาสมณฑลพายัพ และได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียน
พ.ศ. 2448 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกัชกาลที่6 ยังทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระยุพราช สยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ในปี พ.ศ. 2448 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงค์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณโรงละครของ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 บริเวณทิศเหนือวัดหมื่นคอง ซึ่งเป็นที่มรดกของ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงค์ แด่สมเด็จพระยุพราชฯ เพื่อพระราชทาน ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน และพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย"
วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2449 ทำพิธีเปิดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยมีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เป็นประธานในพิธี มีที่ตั้งโรงเรียนอยู่ที่แยกกลางเวียงในปัจจุบันน ี้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในช่วงนี้ บางทีประชาชนเรียกว่า "โรงเรียนกลางเวียง"
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 เริ่มเปิดโรงเรียนฝึกหัดครู โดยใช้สถานที่เดียวกันที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กำหนดการเปิดปิดโรงเรียนเหมือนกัน นักเรียนทั้งสองฝ่ายจะเรียนปนกัน โดยมีครูใหญ่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเป็นครูใหญ่ทั้งสองโรงเรียน
พ.ศ. 2455 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เปิดทำการสอน 8 ระดับชั้น คือชั้นมูล 1-2 ระดับชั้นประถม 1-3 และระดับชั้นมัธยม 1-3 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 86 คน แต่จำนวนยอดรวมนักเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดปี ปรากฏหลักฐานว่าโรงเรียน เปิดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ และลูกเสือ ส่วนการหยุดเรียนจะหยุดเรียนทุกวันพระและวันโกน
พ.ศ. 2456 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้ยกเลิกการสอนระดับชั้นมูล เหลือแต่ระดับชั้นประถม 1-3 และชั้นมัธยม 1-6 และให้นักเรียนชั้นประถม 1-2 ไปเรียนที่วัดดวงดี ปีนี้มีนักเรียนรวม 9 ระดับชั้นเรียน จำนวน 162 คน และตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน เป็นต้นไป โรงเรียนได้เปลี่ยนวันหยุดเรียน มาเป็นหยุดเรียนวันเสาร์-อาทิตย์
พ.ศ. 2458 อาคารเรียนยุพราชได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นตึกก่ออิฐ ถือปูน 2 ชั้น มีห้องรวม 6 ห้อง สร้างจากเงินบริจาคของเจ้านาย และข้าราชการมณฑล รวมทั้งพ่อค้าประชาชน จำนวนเงินทั้งสิ้น 20,000 บาท และตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน เป็นต้นไป เริ่มการเรียนการสอนที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ณ ที่ตั้งในปัจจุบันนี้
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2462 เริ่มทดลองการสอนแบบสหศึกษา ที่โรงเรียนสตรียุพราชวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายจะให้สตรี ได้เรียนรวม กับนักเรียนชาย โดยจัดนักเรียนชายที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีเรียนรวมกับนักเรียนหญิง และมีครูผู้หญิงเป็นผู้สอน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463 ได้สร้างถนนภายในบริเวณโรงเรียน โดยใช้แรงงานจากนักโทษมาทำการขุดพื้น แล้วใช้อิฐและทรายอัดให้แน่น
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 เริ่มเปิดการเรียนการสอน ในระดับชั้นมัธยมปีที่ 7
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2464 ได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนที่สำคัญ คือได้มีการแยกโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเป็น 2 แผนก ได้แก่ (1) โรงเรียนประจำมณฑลพายัพยุพราชวิทยาลัย (แผนกชาย) เปิดวิชาสามัญ รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนกลาง และตอนปลาย (ม.4-ม.7) กับนักเรียนฝึกหัดครู จำนวนนักเรียนเมื่อแรกตั้งครั้งอยู่ข้างวัดดวงดี 49 คน เมื่อย้ายมาอยู่ที่ ตึกปัจจุบัน (ตึกยุพราช) มีนักเรียน 197 คน และ (2) โรงเรียนสตรี ประจำมณฑลพายัพ ยุพราชวิทยาลัย(ปัจจุบัน คือ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ) เปิดสอนวิชาสามัญสตรี ระดับชั้นประถม ชั้นมัธยมตอนต้นและตอนกลาง (ขณะนั้นมีสอนระดับชั้นประถม 1 ถึงมัธยม 4) เมื่อย้ายนักเรียนชายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันแล้ว จึงย้ายนักเรียนหญิง ไปเรียนที่วัดดวงดีแทน และย้ายกลับมาอยู่ ณ ที่ตั้ง ซึ่งต่อมา คือที่ตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ในปัจจุบันนี้นั่นเอง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นบทความเกี่ยวกับ สถานศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |