ของที่ระลึกเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ของที่ระลึก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ มีการจัดทำขึ้นมากมายโดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ซึ่งในที่นี้จะรวบรวมรายละเอียดของที่ระลึกที่สำคัญดังนี้
สารบัญ |
[แก้] สายรัดข้อมือ
สายรัดข้อมือสีเหลือง ด้านนอกมีข้อความ "เรา (รูปหัวใจ) พระเจ้าอยู่หัว" และ "LONG LIVE THE KING" ด้านในมีข้อความ "ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี" และ "ทรงพระเจริญ" จัดทำขึ้นสองครั้งโดยคิง เพาเวอร์ โดยครั้งแรกจัดทำขึ้นจำนวน 1 ล้านเส้น แต่ละเส้นมีหมายเลขกำกับไม่เหมือนกัน บริจาคเส้นละ 100 บาทที่ธนาคารไทยพาณิชย์ [1][2] ครั้งที่สองจัดทำจำนวน 10 ล้านเส้น ทุกเส้นหมายเลข ๙ เหมือนกันหมด บริจาคเส้นละ 100 บาทเช่นกันแต่มาพร้อมบัตรถวายพระพร บริจาค ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และที่ร้านคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา[3] ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
[แก้] เสื้อยืดสีเหลือง
จัดทำขึ้นโดยหลายหน่วยงาน ปักตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ บนหน้าอกด้านซ้ายของเสื้อ มีการรณรงค์ให้สวมในช่วงการเฉลิมฉลอง และทุกวันจันทร์ จนสิ้นสุดปี พ.ศ. 2549
[แก้] แสตมป์
แสตมป์ จัดพิมพ์โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีทั้งหมด 3 ชุด
[แก้] ชุดที่หนึ่ง
แสตมป์ที่ระลึก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (ชุด ๑) วันแรกจำหน่าย 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 หนึ่งชุดมี 6 ดวง ราคาดวงละ 3 บาท (หนึ่งแผ่นมี 20 ดวง) พิมพ์ทั้งหมด 1 ล้านชุด ชีทที่ระลึก (แสตมป์ครบ 6 แบบในแผ่นเดียว) พิมพ์ 2 แสนชุด ซองวันแรกจำหน่าย 17,000 ชุด (ชุดละ 2 ซอง) [4]
[แก้] ชุดที่สอง
แสตมป์ที่ระลึก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (ชุด ๒) หรือแสตมป์ทอง วันแรกจำหน่าย 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 หนึ่งชุดมีดวงเดียว (หนึ่งแผ่นมี 6 ดวง) ราคาดวงละ 100 บาท พิมพ์ทั้งหมด 1.2 ล้านชุด ซองวันแรกจำหน่าย 17,000 ซอง [5]
[แก้] ชุดที่สาม
แสตมป์ที่ระลึก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (ชุด ๓) วันแรกจำหน่าย 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หนึ่งชุดมี 6 ดวง ราคาดวงละ 5 บาท (หนึ่งแผ่นมี 20 ดวง) พิมพ์ 1.5 ล้านชุด มีชีทที่ระลึก (แสตมป์ครบ 6 แบบในแผ่นเดียว) 4 แสนชุด และซองวันแรกจำหน่าย 30,000 ชุด (ชุดละ 2 ซอง) [6]
[แก้] ธนบัตร
ธนบัตรชนิดราคา 60 บาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดรับแลกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พร้อมแผ่นพับ ในราคาฉบับละ 100 บาท ซึ่งส่วนต่างจำนวน 40 บาทต่อฉบับจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์ในส่วนแรกจำนวน 9,999,999 ฉบับ แต่ด้วยความนิยม จึงเปิดให้จองเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง หมายเลขบนธนบัตร มีตั้งแต่ ๙ธ๐๐๐๐๐๐๑ จนถึง ๙ธ๙๙๙๙๙๙๙ ส่วนภาษาอังกฤษใช้รหัส 9K (หมวดเสริมที่ใส่แทนธนบัตรชำรุด และส่วนที่จองเพิ่ม ใช้รหัส 9S) ซึ่งตัวอักษร ธ แทนพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับ K ซึ่งหมายถึง king [7]
[แก้] เหรียญ
สำหรับเหรียญที่กรมธนารักษ์จัดทำขึ้น มีทั้งเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ [8][9]
[แก้] เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก
- เหรียญทองคำธรรมดา ราคาหน้าเหรียญ 12,000 บาท
- เหรียญทองคำขัดเงาโฮโลแกรม ราคาหน้าเหรียญ 12,000 บาท ราคาจำหน่าย 16,000 บาท
- เหรียญเงินธรรมดา ราคาหน้าเหรียญ 600 บาท
- เหรียญเงินขัดเงาโฮโลแกรม ราคาหน้าเหรียญ 600 บาท ราคาจำหน่าย 1,500 บาท
- เหรียญคิวโปรนิกเกิลธรรมดา ราคาหน้าเหรียญ 20 บาท
- เหรียญคิวโปรนิกเกิลขัดเงา ราคาหน้าเหรียญ 20 บาท ราคาจำหน่าย 200 บาท
- เหรียญโลหะสองสี ราคาหน้าเหรียญ 10 บาท
[แก้] เหรียญที่ระลึก
- เหรียญที่ระลึกทองคำพ่นทรายธรรมดา ราคา 15,000 บาท
- เหรียญเงินพ่นทรายธรรมดา ราคา 500 บาท
- เหรียญทองแดงรมดำพ่นทราย ราคา 50 บาท
[แก้] เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ
เป็นเหรียญเงิน รูปไข่ มีชนิดบุรุษและสตรี ราคาเท่ากันคือ 600 บาท
[แก้] เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี "โครงการจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี"
สืบเนื่องจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เผยแพร่ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะบรรจบครบรอบในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ นี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายรองพล เจริญพันธุ์) จึงเห็นสมควรดำเนินโครงการ “จัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อให้ประชาชน ร่วมกับรัฐบาลน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดี รวมทั้งเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย โดยโครงการนี้ได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการนี้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีดังกล่าว โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายรองพล เจริญพันธุ์) เป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ จำนวน ๔ คณะ ดังนี้
๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายบริหารและสรรหาผู้ร่วมโครงการจัดทำเข็มที่ระลึก โดยมอบให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาดุร อภิชาตบุตร) เป็นประธานอนุกรรมการ
๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายรับสั่งซื้อและจัดจำหน่าย โดยมอบให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธีรภัทร สันติเมทนีดล) เป็นประธานอนุกรรมการ
๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายการเงินและบัญชี โดยมอบให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต) เป็นประธานอนุกรรมการ
๔. คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ โดยมอบให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นายปราโมช รัฐวินิจ) เป็นประธานอนุกรรมการ
สำหรับกระบวนการการผลิตเข็มที่ระลึกนั้น ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิต เพื่อให้สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยตั้งเป้าการผลิตไว้ ๑.๔ ล้านเข็ม และจัดจำหน่ายในราคาเข็มละ ๒๖๐ บาท ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายจำนวน ๑๕๐ ล้านบาท
รูปแบบของเข็มที่ระลึก จะมีขนาดสูงประมาณ ๔ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ด้านหลังมีตราสำนักนายกรัฐมนตรีตอกไว้เป็นรหัสเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ส่วนกล่องบรรจุ จะจัดทำด้วยหนังเทียมชนิดพิเศษสีน้ำเงิน ฝากล่องด้านหน้าจะเดินลายเส้นสีทองตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ด้านในมีตราสำนักนายกรัฐมนตรีและข้อความว่า “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” รวมทั้งจัดทำริบบิ้นสำหรับเสียบความหมายของตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ติดกับฝากล่อง เพื่อป้องกันมิให้แผ่นความหมายเสียดสีกับตัวเข็มที่ระลึก โดยจัดพิมพ์ความหมายตราสัญลักษณ์ฯ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษบน แผ่นกระดาษขนาดเล็กเสียบไว้ด้วย
ทั้งนี้ เข็มที่ระลึกดังกล่าวสามารถสื่อความหมายของตราสัญลักษณ์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนการผลิตที่ประณีตและพิถีพิถัน ประดับด้วยคริสตัลของ "สวารอฟสกี้" ซึ่งนำเข้าจากประเทศออสเตรีย จำนวน ๒๒ เม็ด นอกจากนี้ ตัวเข็มที่นำมาใช้ก็เป็นเข็มที่ใช้กับเครื่องประดับอัญมณีราคาสูง จึงทำให้สามารถกลัดบนเสื้อผ้าได้โดยไม่ทำให้เสื้อผ้าเป็นรอย ซึ่งการประดับเข็มที่ระลึกนี้สามารถประดับได้บนเสื้อผ้าที่สุภาพทุกรูปแบบ และยังประดับได้ในทุกโอกาสที่เหมาะสม
อนึ่ง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขอเรียนให้ทราบว่า เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติที่ผลิตโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ สามารถสั่งจองได้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่มีการวางจำหน่ายเข็มที่ระลึกฯ นอกสถานที่จึงไม่ควรสนับสนุนผู้ที่ฉกฉวยโอกาสนี้ เนื่องจากเป็นการแสวงหากำไรอันมิควร
(ข้อมูลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ๑๙ ก.ค. ๔๙)