งานราชพฤกษ์ 2549
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ หรือ งานราชพฤกษ์ 2549 เป็นงานจัดแสดงพืชสวนจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ งานนี้เป็นงานมาตรฐานโลก ระดับ A1 (มาตรฐานมหกรรมขั้นสูงสุด) จากการรับรองจาก สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) และสำนักงานมหกรรมโลก (BIE) โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองนี้
สารบัญ |
[แก้] ระยะเวลาการจัดงาน
งานราชพฤกษ์ 2549จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่รวม 470 ไร่ จะมีการแสดง ความหลากหลายของพืชพรรณไม้ต่างๆ กว่า 2,200 ชนิด จำนวนกว่า 2 ล้าน 5 แสนต้น ซึ่งนับว่าเป็นมหกรรมพืชสวนโลกเขตร้อนชื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก
ผู้บริหารจัดงานหลักคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมวิชาการเกษตร, สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และสมาพันธ์ดอกไม้โลก
และเป็นหนึ่งในโครงการ ไทยแลนด์แกรนด์อินวิเตชั่น (Thailand Grand Invitation) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย[1]
[แก้] วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์หลักของงาน เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯพระมหากษัตริย์ผู้เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย การจัดงานครั้งนี้ จึงกำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่ โดยมุ่งเน้นการเผยแผ่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพในด้านการเกษตรกรรม และโครงการในพระราชดำริ ซึ่งได้ทรงคิดค้นและก่อตั้ง เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทย
[แก้] การแบ่งพื้นที่จัดแสดง
งานราชพฤกษ์ 2549 แบ่งพื้นที่จัดแสดง เป็น 3 ส่วนคือ สวนเฉลิมพระเกียรติประเภทองค์กร (Corporate Garden), สวนนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ (International Garden) และสวนพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้น (Tropical Garden) ภายใต้แนวคิด "เพื่อนำความรักสู่มนุษยชาติ" (to Express the Love for Humanity") ส่วนนิทรรศการหอคำหลวง (Royal Pavilion) เป็นส่วนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระมหากษัตริย์นักการเกษตรของโลก และยังเป็นอาคารหลักของงาน ส่วนประกอบย่อยๆ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
- หอคำหลวง
- สวนไทยประเภทต่างๆ
- สวนพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้น
- สวนนานาชาติภายในอาคาร
- สวนนานาชาติภายนอกอาคาร
- นิทรรศการแสดงพันธุ์ไม้ภายในอาคาร
- สวนเฉลิมพระเกียรติประเภทองค์กร
- เวทีในสวน
- ลานกิจกรรมกลางแจ้ง
กิจกรรมในงานมีความหลากหลาย เช่น การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงวัฒนธรรมนานาชาติ ดนตรีในสวน ขบวนพาเรด งานแสดงน้ำพุดนตรี การสัมมนาทางวิชาการ การบริการต่างๆ ได้แก่ ศูนย์อาหาร การสื่อสาร การพยาบาล การท่องเที่ยว เป็นต้น
สวนองค์กรแสดง "แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว |
[แก้] ประเทศที่เข้าร่วมงาน
ประเทศไทยได้รับการยืนยันเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการแล้วจาก 32 รัฐบาลประเทศจาก 5 ทวีป ได้แก่ ทวีปยุโรป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย โดยมีประเทศต่างๆ ดังนี้
ญี่ปุ่น · เกาหลีใต้ · เวียดนาม · มาเลเซีย · กัมพูชา · ลาว · อินโดนีเชีย · อินเดีย · เนปาล · ภูฏาน · ปากีสถาน · จีน · บรูไน · ตุรกี · สเปน · เบลเยียม · เนเธอร์แลนด์ · บัลแกเรีย · มอริเตเนีย · เคนยา · ไนจีเรีย · กาบอง · ซูดาน · โมร็อกโก · ตูนิเซีย · แอฟริกาใต้ · บุรุนดี · กาตาร์ · อิหร่าน · เยเมน · ตรินิแดดและโตเบโก · แคนาดา · บังกลาเทศ
[แก้] ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของงาน
ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของงาน (mascots) มีอยู่ 9 ตัวคือ
- น้องคูน เป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์งานมหกรรมพืชสวนโลก นำทีมตุ๊กตาราชพฤกษ์ออกทัวร์ทั่วไทย เชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งเป็นศูนย์รวมจัดแสดงพืชพรรณไม้ดอกไม้ประดับเขตร้อนกว่า 2,200 ชนิด กว่า 2 ล้าน 5 แสนต้น สู่สายตานานาประเทศทั่วโลก "ผมชื่อ "น้องคูน" ส่วนชื่อจริงนั้นเรียกว่า "ราชพฤกษ์" ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ผมขอรับอาสาเป็นหัวหน้าทีมพาเพื่อนๆเที่ยวงาน "ราชพฤกษ์ 2549" อันที่จริงเห็นผมตัวแค่นี้ แต่ผมเป็นคนที่รักการผจญภัย และรักธรรมชาติมาก แถมยังชอบความผาดโผน และใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยความที่ชอบคิดอะไรใหม่ๆ ผมจึงชอบคิดหาวิธีเล่นแผลงๆ ให้กับเพื่อนๆอยู่เสมอ"
- น้องกุหลาบ ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ดอกกุหลาบควีนสิริกิติ์" ดอกกุหลาบลูกผสมระหว่าง Colour Wonder และ Golden Giant เป็นกุหลาบประเภทดอกใหญ่ (Hybrid Tea) มีลำต้นแข็งแรง ตัวกลีบดอกสีเหลืองขอบสีแดงระเรื่อ ลักษณะซ้อนกันหลายชั้น และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ "กุหลาบ" เป็นสาวสวยประจำกลุ่มที่มีความอ่อนหวาน เฉลียวฉลาด อ่อนน้อมถ่อมตน ใจเย็นและรอบคอบ เป็นหญิงสาวสมัยใหม่ทันสมัย แต่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของกุลสตรีไทยที่ชอบทำกับข้าวและเย็บปักถักร้อย
- นารี ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน ดอกกล้วยไม้รองเท้านารี เป็นเจ้าหญิงน้อยจอมซนซึ่งอาศัยอยู่ข้างบ้านของ"กุหลาบ" ความที่ "นารี" มีบุคลิกที่ค่อนข้างซุกซนจึงมักจะก่อเรื่องวุ่นวายให้กับคนรอบข้าง แต่ด้วยความเฉลียวฉลาด หรือบางทีเป็นการฉลาดแกมโกง "นารี" จึงมีเรื่องตลกมาให้เพื่อนๆ พี่ ๆ ได้หัวเราะกันเสมอ
- บัว ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน ดอกบัว "ราชินีแห่งไม้น้ำ" สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และคุณงามความดีในพุทธศาสนา "บัว" จึงมีบุคลิกของสาวสวยที่คงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยไว้อย่างเคร่งครัดทุกกระเบียดนิ้ว การที่ "บัว" เติบโตอยู่ในตระกูลผู้ดีเก่าจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำอาหาร-ขนม การร้อยมาลัย และการแกะสลักผักผลไม้ ฯลฯ มาจากในวัง "บัว" เป็นหญิงไทยเต็มร้อย จึงมีนิสัยอ่อนแอ ชอบร้องไห้ ขี้หวาดกลัว ในกลุ่มเพื่อนบัวจะสนิทกับกุหลาบ เพราะเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นทั้งคู่มักจะอยู่ด้วยกันเสมอ
- ก้านยาว ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ทุเรียน" ผลไม้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาของผลไม้ "ก้านยาว" เป็นหนุ่มเมืองจันท์ มีร่างกายที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ และด้วยความที่เป็นหนุ่มอารมณ์ดี ขี้เล่น มองโลกในแง่ของความเป็นจริง และเป็นตัวตลกประจำกลุ่มที่สร้างรอยยิ้มให้เพื่อนๆ ได้เสมอ จึงเป็นที่รักของทุกคนที่ได้พูดคุยด้วย นอกจากนี้ก้านยาวยังเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ รักการเรียนรู้ทางการเกษตรและพันธุ์พืช เขาจึงชอบเข้าไปคุยกับตาทุ่ง ซึ่งทำให้เขามีความรู้ด้านการเกษตรมากขึ้นอีกด้วย
- มังคุด ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "มังคุด" ราชินีของผลไม้ เป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีรสชาติหวานอร่อย เนื้อในมีสีขาวสะอาด " มังคุด" เป็นขวัญใจของหนุ่มก้านยาว เป็นสาวไฮโซที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ชอบความหรูหรา รสนิยมทันสมัย และหลงตัวเอง ชอบการแสดงออกทั้งการร้องเพลง รวมไปถึงการถ่ายแบบและมีวิธีการพูดจาเป็นภาษาสมัยใหม่ประเภทไทยคำฝรั่งคำ
- ฝักบัว ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ฝักบัวรดน้ำ" เป็นหนุ่มน้อยผู้คอยดูแลสวน รักการปลูกต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ ในแต่ละวันจะคอยรดน้ำ พรวนดินและคอยดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ ดอกไม้ทั้งหลายให้เติบโตและเบ่งบาน เวลาเพื่อนๆทะเลาะกัน ฝักบัวจะเป็นคนคอยห้ามเสมอๆ จึงเป็นที่รักของผองเพื่อน
- จ้อน ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ผักกาด" ที่มีต้นกำเนิดอยูในทวีปเอเชีย "จ้อน" เป็นเด็กน้อยจากยอดดอยผู้รักการผจญภัย และใฝ่ฝันจะเดินทางรอบโลก เพื่อให้จอผักกาดได้เป็นอาหารระดับโลก "จ้อน" มีนิสัยขี้หงุดหงิดและชอบโวยวาย ชอบทำตัวเปิ่นๆ เชยๆ พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ชอบคิดว่าตัวเองเท่ห์และเก่งกล้า แต่เวลาพอเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา จ้อนก็มักจะหลบหนีไปก่อนอยู่เรื่อย "จ้อน" มีปฏิญาณว่าจะต้องแกล้งนารีให้ได้สักครั้ง แต่ทว่าจ้อนก็ต้องแพ้ภัยตัวเองอยู่เสมอ
- ตาทุ่ง คุณตาใจดี ที่ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "หุ่นไล่กา" ซึ่งเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของชาวนา ทำหน้าที่ยืนตากแดด ตากลม สู้ฝน เพื่อไล่ฝูงนกกาไม่ให้ลงมาทำลายแปลงนาข้าว "ตาทุ่ง" มักจะมีเรื่องราวมากมายมาเล่าให้หลานๆ ฟังจึงเป็นที่รักของเด็กๆ เพราะนอกจากนิทานสนุกๆ แล้ว ตาทุ่งยังเป็นแหล่งความรู้และที่ปรึกษาชั้นเยี่ยมอีกด้วย โดยเฉพาะกับ "ก้านยาว" หนุ่มเมืองจันท์ ที่มักจะแวะเวียนมาหาตาทุ่ง เพื่อขอความรู้ในด้านทำการเกษตรและเรื่องของความรัก ซึ่งตาทุ่งไม่เคยทำให้ก้านยาวผิดหวัง
[แก้] ของที่ระลึก
- แสตมป์พืชสวนโลก - บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกแสตมป์เป็นรูปของดอกไม้นานาพรรณ 9 ชนิด
[แก้] บุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน
- กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : หน่วยงานผู้จัดงาน
- บริษัท ช.การช่าง : บริษัทผู้รับเหมา
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ที่ปรึกษาโครงการ
- บริษัทสวนนงนุช ของนายกัมพล ตันสัจจา : บริษัทที่ปรึกษา
- บริษัทฟิลกรีน ของนายธนพล เจตวรัญญู : บริษัทผู้ออกแบบวางผังภูมิสถาปัตยกรรม
- บริษัทริ๊ดเทรด เด๊กซ์ (นายปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ): บริษัทผู้รับสัมปทานการจัดงาน
- บริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด (ของนายคะแนน สุภา พ่อตานายเนวิน ชิดชอบ [2])
[แก้] ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับโครงการ
- โครงการนี้เป็นหนึ่งใน 14 โครงการ [3] ว่าเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ (เมกกะโปรเจค) ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำลายสภาพแวดล้อมและนิเวศวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่
- มีผู้ทรงคุณวุฒิทางพืชสวน ออกมาแสดงความเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพันธุ์ และบุคคลที่ได้รับการยอม รับในเรื่องกล้วยไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย, และนายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [4] ประเด็นที่เป็นปัญหา ได้แก่ เรื่องที่ตั้งของโครงการ ที่อาจมีผลต่อการกลายพันธุ์ของพืชป่าบริเวณใกล้เคียง จากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศ, การได้รับเหมาในจัดงาน/และการก่อสร้างเพียงเจ้าเดียว, คุณภาพของงานว่าได้มาตรฐานดีพอในระดับ เอ 1 หรือไม่, การปรับพื้นที่และการออกแบบวางผังได้คำนึงถึงธรรมชาติและผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่, และเนื่องจากโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเมกกะโปรเจคในจังหวัดเชียงใหม่หลายโครงการ ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันนี้
- โครงการนี้เป็นหนึ่งใน 8 โครงการที่นายอนันต์ ดาโลดม อดีต ส.ว.สุราษฎร์ธานี ในฐานะนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ได้ยื่นเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่ามีหลักฐานการกระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และ 12 หรือไม่ การกระทำดังกล่าวโปร่งใสหรือไม่ มีการทุจริตเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย โดยเฉพาะการจ้างเหมาก่อสร้างภูมิสถาปัตยกรรมและระบบสาธารณูปโภค โดยกิจการร่วมค้า CKNNL ชนะการประมูลในราคา 1,199 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินดำเนินงานอยู่ 300,000 บาท และต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 1,259,850,100 บาท ซึ่งเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน [5]
- นอกจากนี้ยังมีเอ็นจีโอทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายคนออกมาเคลื่อนไหวถึงขั้นตอนการเร่งรีบอนุมัติและจัดงานโดยละเลยเรื่องผลกระทบ เช่น นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน ได้เตรียมเรื่องนี้ฟ้องศาลปกครอง จากการใช้เนื้อที่ 470 ไร่ที่ใช้ในการจัดงานนี้ ว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย มีการดัดแปลงเอาอุทยานฯไปก่อสร้าง ก่อนผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังไม่ตรวจสอบไม่ได้ว่ามีการนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาด้วยหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศไทยได้ [6]
[แก้] อ้างอิง
- ↑ เว็บไซต์โครงการไทยแลนด์แกรนด์อินวิเตชั่น
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
- ↑ บทความของสิริมงคล จันทร์ขาว
- ↑ "อนันต์" จวกพืชสวนโลก-ชี้ "ระพี" พูดจริง มติชน 10 ก.ย. 2549
- ↑ อดีต ส.ว.หอบหลักฐานส่ง คตส.ฟันทุจริต ก.เกษตรฯ 1.7 แสน ล. ผู้จัดการออนไลน์ 6 ต.ค. 2549
- ↑ ข่าวหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2549 "หน่อย"เร่งล้างฉาว"พืชสวนโลก" แจกปกขาวทั่วม.เกษตรระบุส่อฮั้ว
[แก้] ดูเพิ่ม
งานจัดแสดง ที่ใกล้เคียงกัน
- งาน Floriade ที่กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย เว็บไซต์ทางการของงาน Floriade 2006
- งานเทศกาลสวนและภูมิทัศน์ LAMAN ของประเทศมาเลเซีย
- The International Garden and Greenery Exposition ในปี 1990,โอซะกะ,ญี่ปุ่น
- The International Gardening and Landscaping Exhibition Japan Flora ในปี 2000, Awaji-shima,Hyogo, ญี่ปุ่น
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์งานราชพฤกษ์ 2549
- แนะนำการเดินทางไปยังงานพืชสวนโลก จังหวัดเชียงใหม่
- รายละเอียดสัญลักษณ์ของงานแต่ละตัว
- พืชสวนโลก : ในความสว่างมีความมืด บทความงานพืชสวนโลก จาก โอเพ่นออนไลน์