ประเทศไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-
บทความนี้เกี่ยวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับความหมายอื่น ดูที่ ไทย (แก้ความกำกวม)
|
|||||
คำขวัญ: ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (ไม่เป็นทางการ) |
|||||
เพลงชาติ: เพลงชาติไทย | |||||
เมืองหลวง | กรุงเทพมหานคร |
||||
เมืองใหญ่สุด | กรุงเทพมหานคร | ||||
ภาษาราชการ | ภาษาไทย | ||||
รัฐบาล | ประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข | ||||
- พระมหากษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช | ||||
- นายกรัฐมนตรี | พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ | ||||
- ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ | พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน | ||||
สถาปนาเป็น • สุโขทัย • อยุธยา • กรุงธนบุรี • ราชวงศ์จักรี |
จากอาณาจักรขอม พ.ศ. 1781–1911 1893–2310 2310–6 เมษายน 2325 6 เมษายน 2325–ปัจจุบัน |
||||
เนื้อที่ - ทั้งหมด - พื้นน้ำ (%) |
514,000 กม.² (อันดับที่ 49) 198,457 ไมล์² 0.4% |
||||
ประชากร - 2548 ประมาณ - 2543 - ความหนาแน่น |
62,418,054 (อันดับที่ 19) 60,916,441 122/กม² (อันดับที่ 59) {{{population_densitymi²}}}/ไมล์² |
||||
GDP (PPP) - รวม - ต่อประชากร |
2548 ค่าประมาณ $559.5 billion (อันดับที่ 20) $8,542 (อันดับที่ 72) |
||||
HDI (2546) | 0.778 (อันดับที่ 73) – ปานกลาง | ||||
สกุลเงิน | ฿ บาท (THB ) |
||||
เขตเวลา | (UTC+7) | ||||
รหัสอินเทอร์เน็ต | .th | ||||
รหัสโทรศัพท์ | +66 |
ประเทศไทย หรือ ราชอาณาจักรไทย ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดลาวและกัมพูชา ทิศใต้ติดอ่าวไทยและมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและพม่า และทิศเหนือติดพม่าและลาวโดยมีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เอเปค และ อาเซียน มีศูนย์รวมการปกครองอยู่ที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ยาวนานที่สุดในโลก
ในปี พ.ศ. 2550 นี้ ประมาณการว่า ประเทศไทยจะมีประชากรรวม 64,631,595 คน
ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยเผด็จการทหาร ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ได้ใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
สารบัญ |
[แก้] ประวัติศาสตร์
- ดูบทความหลักที่ ประวัติศาสตร์ไทย
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากนับเริ่มแต่การล่มสลายของราชอาณาจักรขอม-จักรวรรดินครวัต นครธม เมื่อต้นๆ คริสต์ศตวรรษที่ 13 [1]โดยมีความสืบเนื่องและคาบเกี่ยวระหว่างอาณาจักรโบราณหลายแห่ง เช่น อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ เขมร ฯลฯ โดยเริ่มมีความชัดเจนในอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 1781 อาณาจักรล้านนาทางภาคเหนือ กระทั่งเสื่อมอำนาจลงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 แล้วความรุ่งเรืองได้ปรากฏขึ้นในอาณาจักรทางใต้ ณ กรุงศรีอยุธยา โดยยังมีอาณาเขตที่ไม่แน่ชัด ครั้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินจึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี
ภายหลังสิ้นสุดอำนาจและมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 อาณาจักรสยามเริ่มมีความเป็นปึกแผ่น มีการผนวกดินแดนบางส่วนของอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรลาว-ล้านช้าง-ฝั่งขวาแม่น้ำโขงครั้นในรัชกาลที่ 5 ได้ผนวกดินแดนของเมืองเชียงใหม่ หรืออาณาจักรล้านนาส่วนล่าง (ส่วนบนอยู่บริเวณเชียงตุง) เป็นการรวบรวมดินแดนครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ต้องรออีกถึง 41 ปี กว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา หลังจากนั้นมีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยอีกสองครั้งคือ เหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ล่าสุดได้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2549
[แก้] ชื่อประเทศไทย
คำว่า ไทย มีความหมายในภาษาไทยว่า อิสระ เสรีภาพ เดิมประเทศไทยใช้ชื่อ สยาม แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ใช้ชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติว่า "ไทย" โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในช่วงเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อมา ช่วงแรกเปลี่ยนเฉพาะชื่อภาษาไทยเท่านั้น ชื่อภาษาฝรั่งเศส[2]และอังกฤษคงยังเป็น "Siam" อยู่จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จึงได้เปลี่ยนชื่อภาษาฝรั่งเศสเป็น "Thaïlande" และภาษาอังกฤษเป็น "Thailand" อย่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
[แก้] การเมืองการปกครอง
เดิมประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยแบ่งอำนาจเป็นสามฝ่าย ได้แก่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และ ฝ่ายตุลาการ โดยฝ่ายบริหารจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลซึ่งมากจากการแต่งตั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และฝ่ายตุลาการ คือ ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองซึ่งมาจากการปฏิรูปทางเมืองจึงเกิดศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ[3]
[แก้] เขตการปกครอง
ประเทศไทยแบ่งเขตการบริหารออกเป็นราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่จังหวัด 75 จังหวัด นอกจากนั้นยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนสุขาภิบาลนั้นถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2542
- รายชื่อจังหวัดทั้งหมดดูเพิ่มเติมที่ จังหวัดในประเทศไทย
[แก้] เมืองใหญ่ / จังหวัดใหญ่
นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว มีหลายเมืองที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก (ข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ) โดยเรียงลำดับตามตารางด้านล่าง โดยดูจากจำนวนประชากรในเขตเทศบาลและกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะแสดงประชากรในเขตเมืองได้อย่างแท้จริง
อันดับ | เมือง / เทศบาล | จำนวนประชากร | จังหวัด |
---|---|---|---|
1 | กรุงเทพมหานคร | 5,689,370 | กรุงเทพมหานคร |
2 | นนทบุรี | 266,941 | นนทบุรี |
3 | ปากเกร็ด | 167,138 | นนทบุรี |
4 | หาดใหญ่ | 156,456 | สงขลา |
5 | เชียงใหม่ | 150,805 | เชียงใหม่ |
6 | นครราชสีมา | 149,938 | นครราชสีมา |
7 | อุดรธานี | 142,670 | อุดรธานี |
8 | สุราษฎร์ธานี | 124,665 | สุราษฎร์ธานี |
9 | ขอนแก่น | 121,283 | ขอนแก่น |
10 | นครศรีธรรมราช | 106,293 | นครศรีธรรมราช |
นอกจากนี้ยังมีการเรียงลำดับประชากรตามจังหวัดได้ดังต่อไปนี้
อันดับ | จังหวัด | จำนวนประชากร | ภาค |
---|---|---|---|
1 | กรุงเทพมหานคร | 5,672,721 | ภาคกลาง |
2 | นครราชสีมา | 2,546,763 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
3 | อุบลราชธานี | 1,774,808 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
4 | ขอนแก่น | 1,747,542 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
5 | เชียงใหม่ | 1,650,009 | ภาคเหนือ |
6 | บุรีรัมย์ | 1,531,430 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
7 | อุดรธานี | 1,523,802 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
8 | นครศรีธรรมราช | 1,504,420 | ภาคใต้ |
9 | ศรีสะเกษ | 1,443,975 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
10 | สุรินทร์ | 1,374,700 | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
- ดูข้อมูลทั้งหมดที่ เมืองใหญ่ของประเทศไทยเรียงตามจำนวนประชากร และ จังหวัดในประเทศไทยเรียงตามจำนวนประชากร
[แก้] ภูมิอากาศและภูมิประเทศ
[แก้] ภูมิประเทศ
ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ภาคเหนือประกอบด้วยเทือกเขาจำนวนมาก จุดที่สูงที่สุด คือ ดอยอินทนนท์ (2,576 เมตร) ในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงโคราชติดกับแม่น้ำโขงทางด้านตะวันออก ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสายน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ภาคใต้มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระแล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู
- เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ของประเทศไทย กับ ประเทศอื่น จะได้ดังนี้
- ประเทศพม่า ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 1.3 เท่า
- ประเทศอินโดนีเซีย ใหญกว่าประมาณ 3.7 เท่า
- ประเทศอินเดีย ใหญ่กว่าประมาณ 6.4 เท่า
- ประเทศจีน และ สหรัฐอเมริกา ใหญ่กว่าประมาณ 19 เท่า
- ประเทศรัสเซีย ใหญ่กว่าประมาณ 33 เท่า
- ขนาดใกล้เคียงกับ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวีเดน และ ประเทศสเปน
วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้มีเหตุการณ์คลื่นสึนามิเกิดขึ้นก่อความเสียหายในเขตภาคใต้ของประเทศไทย
[แก้] ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน อากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยจะมีฝนตกและเมฆมากจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม อากาศแห้ง และหนาวเย็นจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นภาคใต้ที่มีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี
[แก้] เศรษฐกิจ
[แก้] เศรษฐกิจหลักของประเทศ
เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ และ ทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจอ้างอิงเมื่อ พ.ศ. 2546 มี GDP 5,930.4 พันล้านบาท ส่งออกมูลค่า 78.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้า 74.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ[4]
ในด้านเกษตรกรรม ข้าว ถือเป็นผลผลิตที่สำคัญที่สุด พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ ยางพารา ผักและผลไม้ต่างๆ มีการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์เช่น วัว สุกร เป็ด ไก่ สัตว์น้ำทั้งปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็มในกระชัง นากุ้ง เลี้ยงหอย รวมถึงการประมงทางทะเล
อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเช่น ดีบุก ก๊าซธรรมชาติ จากข้อมูลปี พ.ศ. 2547 มีการผลิตสิ่งทอมูลค่า 211.4 พันล้านบาท แผงวงจรรวม 196.4 พันล้านบาท อาหารทะเลกระป๋อง 36.5 พันล้านบาท สับปะรดกระป๋อง 11.1 พันล้านบาท รถยนต์ส่วนบุคคล 2.99 แสนคัน รถบรรทุก กระบะ และอื่นๆ รวม 6.28 แสนคัน จักรยานยนต์ 2.28 ล้านคัน ดีบุก 694 ตัน ก๊าซธรรมชาติ 789 พันล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบ 31.1 ล้านบาร์เรล [5]
ส่วนด้านการท่องเที่ยว การบริการและโรงแรม ในปี พ.ศ. 2547 มีนักท่องเที่ยวรวม 11.65 ล้านคน 56.52% มาจากเอเชียตะวันออกและอาเซียน (โดยเฉพาะมาเลเซียคิดเป็น 11.97% ญี่ปุ่น 10.33%) ยุโรป 24.29% ทวีปอเมริกาเหนือและใต้รวมกัน 7.02% [6] สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ กรุงเทพมหานคร พัทยา ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดเชียงใหม่
[แก้] การคมนาคม
การคมนาคมในประเทศไทย ส่วนใหญ่ประกอบด้วย การเดินทางโดยรถยนต์ และ จักรยานยนต์ ทางหลวงสายหลักในประเทศไทย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) และถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) และยังมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ใน 2 เส้นทางคือ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี (ทางหลวงหมายเลข 7) และถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร - ทางหลวงหมายเลข 9) นอกจากนี้ระบบขนส่งมวลชนจะมีการบริการตามเมืองใหญ่ต่างๆ ได้แก่ระบบรถเมล์ และรถไฟ รวมถึงระบบที่เริ่มมีการใช้งาน รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน และในหลายพื้นที่จะมีการบริการ รถสองแถว รวมถึงรถรับจ้างต่างๆ ได้แก่ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และ ตุ๊กตุ๊ก ในบางพื้นที่ ที่อยู่ริมน้ำจะมีเรือรับจ้าง และแพข้ามฟาก บริการ
สำหรับการคมนาคมทางอากาศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่มีขนาดตัวอาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลกด้วยความสูง 132.2 เมตร ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี โดยเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 ทดแทนท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ (ดอนเมือง) ที่เปิดใช้งานมานานถึง 92 ปี
ส่วนการคมนาคมทางน้ำ ประเทศไทยมีท่าเรื่อหลักๆ คือ ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และท่าเรือแหลมฉบัง
[แก้] การสื่อสาร
- ระบบโทรศัพท์ในประเทศไทยมีโทรศัพท์พื้นฐาน 7.035 ล้านหมายเลข (2548) และโทรศัพท์มือถือ 27.4 ล้านหมายเลข (2548)[7]
- สถานีวิทยุ: คลื่นเอฟเอ็ม 334 สถานี , คลื่นเอเอ็ม 204 สถานี และ คลื่นสั้น 6 สถานี (2542) โดยมีจำนวนผู้ใช้วิทยุ 13.96 ล้านคน(2540)[7]
- สถานีโทรทัศน์ มี 6 ช่องสถานี (โดยทุกช่องสถานีแม่ข่ายอยู่ในกรุงเทพ) มีสถานีเครือข่ายทั้งหมด 111 สถานี และจำนวนผู้ใช้โทรทัศน์ 15.19 ล้านคน (2540) [7]
- รหัสโดเมนอินเทอร์เน็ตใช้รหัส th
[แก้] สังคม
[แก้] ชนชาติ
ประชากรประมาณ 3 ใน 4 มีเชื้อสายไทยประกอบไปด้วย ชาวลาว ชาวมอญ ชาวเขมร นอกจากนี้ยังมี ชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนไทยเชื้อสายมลายูในภาคใต้ตอนล่าง และชาวเขาเผ่าต่างๆ
- ดูเพิ่มที่ ชาวไทย
[แก้] ศาสนา
ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4 (ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง) ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นประมาณร้อยละ 1
- ดูเพิ่มใน พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
[แก้] การศึกษา
ในทางกฎหมาย รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาให้ขั้นพื้นฐานสิบสองปี แต่การศึกษาขั้นบังคับของประเทศไทยในปัจจุบันคือเก้าปี บุคคลทั่วไปจะเริ่มจากระดับชั้นอนุบาล เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนตามหลักสูตรพื้นฐาน ต่อเนื่องด้วยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้น สามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือเลือกศึกษาต่อสายวิชาชีพ ในวิทยาลัยเทคนิค หรือพาณิชยการ หรือเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักได้แก่ โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน และ มหาวิทยาลัยรัฐบาล และมหาวิทยาลัยเอกชน โดยโรงเรียนรัฐบาลและมหาวิทยาลัยรัฐบาล จะเสียค่าเล่าเรียนน้อยกว่า โรงเรียนเอกชนและมหาวิทยาลัยเอกชน
ดูเพิ่มที่ รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
[แก้] ภาษา
- ดูบทความหลักที่ ภาษาในประเทศไทย
ภาษาไทยมาตรฐาน หรือภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาราชการในประเทศไทย โดยเริ่มเคร่งครัดจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5เมื่อกำหนดให้โรงเรียนต่างๆ สอนหนังสือด้วยภาษาไทยมาตรฐาน และพูดภาษาไทยมาตรฐานในโรงเรียน ขณะที่แต่ละภาคของประเทศไทย ภาษาไทยมีการแบ่งแยกออกไปตามสำเนียงต่างๆ ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน ภาษาไทยถิ่นเหนือภาษาลาว-สำเนียงเหนือ และภาษาลาว-สำเนียงอีสาน มีตัวอักษรเขียนและอ่านคำอันเดียวกัน เรียกว่าตัวอักษรธรรม "โตธรรม" มีปรากฏเป็นหนังสือผูก เขียน "จาร" ลงไปบนใบลาน และปรากฏทั่วไปมาแต่โบราณ ภาษาใต้ ส่วนภาษาอื่นที่มีใช้มากได้แก่ภาษามาเลย์ ภาษาเขมรสูง และภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็นต้น
[แก้] ศิลปะและวัฒนธรรม
ศิลปะไทยมีลักษณะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง โดยมีความกลมกลืนและคล้ายคลึงกับศิลปวัฒนธรรมเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่ด้วยการสืบทอดและการสร้างสรรค์ใหม่ ทำให้ศิลปะไทยมีเอกลักษณ์สูง
- จิตรกรรม งานจิตรกรรมไทยนับว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง ได้รับการสืบทอดมาช้านาน มักปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนัง ตามวัดวาอาราม รวมทั้งในสมุดข่อยโบราณ งานจิตรกรรมไทยยังเกี่ยวข้องกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น งานลงรักปิดทอง ภาพวาดพระบฏ เป็นต้น
- ประติมากรรม เดิมนั้นช่างไทยทำงานประติมากรรมเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป โดยมีสกุลช่างต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างสุโขทัย อยุธยา และกระทั่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทองสำริดเป็นวัสดุหลักในงานประติมากรรม เนื่องจากสามารถแกะแบบด้วยขี้ผึ้งและตกแต่งได้ แล้วจึงนำไปหล่อโลหะ เมื่อเทียบกับประติมากรรมศิลาในยุคก่อนนั้น งานสำริดนับว่าอ่อนช้อยงดงามกว่ามาก
- สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทยมีปรากฏให้เห็นในชั้นหลัง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมได้ง่าย โดยเฉพาะงานไม้ ไม่ปรากฏร่องรอยสมัยโบราณเลย สถาปัตยกรรมไทยมีให้เห็นอยู่ในรูปของบ้านเรือนไทย โบสถ์ วัด และปราสาทราชวัง ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้สอยจริง
ดูเพิ่มที่ ศิลปะไทย
[แก้] กีฬา
กีฬาที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทยได้แก่ ฟุตบอล โดยในการแข่งขันระหว่างประเทศ ทีมชาติไทยได้เข้าเล่นและได้อันดับสูงสุดในเอเชียนคัพ ได้อันดับ 3 ใน เอเชียนคัพ 1972 กีฬาอื่นที่นิยมเล่นได้แก่ บาสเกตบอล มวย และแบดมินตัน โดยในประเทศไทยมีการจัดฟุตบอลอาชีพ โดยแบ่งแยกตามทีมประจำจังหวัด สำหรับกีฬาไทย ได้แก่ มวยไทย และ ตะกร้อ แม้จะมีความนิยมไม่เท่ากีฬาทั่วไป แต่ยังมีการเล่นโดยทั่วไปรวมถึงการเปิดสอนในโรงเรียน
ประเทศไทยเป็นตัวแทนจัดงานเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง และซีเกมส์ ทั้งหมด 5 ครั้ง โดยจัดครั้งแรกที่ประเทศไทย
นักกีฬาไทยที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่
- นักมวย - เขาทราย แกแล็คซี่, สด จิตรลดา, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, สมรักษ์ คำสิงห์
- นักเทนนิส - ภราดร ศรีชาพันธุ์, แทมมารีน ธนสุกาญจน์, ดนัย อุดมโชค
- นักว่ายน้ำ - รัฐพงษ์ ศิริสานนท์ (ฉลามนุ้ก), ต่อวัย เสฎฐโสธร, ต่อลาภ เสฎฐโสธร
- นักฟุตบอล - ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
- นักสนุกเกอร์ - ต๋อง ศิษย์ฉ่อย
- นักกรีฑา - เรวดี ศรีท้าว
- นักเทควันโด - เยาวภา บุรพลชัย
- นักยกน้ำหนัก - อุดมพร พลศักดิ์, ปวีณา ทองสุก
[แก้] วันสำคัญ
- ดูบทความหลักที่ วันสำคัญในประเทศไทย
วันสำคัญในประเทศไทยจะมีจำนวนมากโดยเฉพาะวันที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ ซึ่งจะตั้งขึ้นหลังจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น โดยวันชาติของประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็น ตามวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
[แก้] ลำดับที่สำคัญ
- พระมหากษัตริย์ไทยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่นานที่สุดในโลก
- กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก (169 ตัวอักษร)
- ดัชนีเศรษฐกิจของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 71 จาก 155 เขตเศรษฐกิจ ตาม Index of Economic Freedom
- จังหวัดหนองคายได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Modern Maturity ของสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2544 ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุชาวอเมริกันอันดับที่ 7 ของโลก [8]
- Growth Competitiveness Index Ranking พ.ศ. 2546 อยู่อันดับที่ 34 จาก 104 [9]
- ตึกใบหยก 2 เป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย และสูงเป็นอันดับ 30 ของโลก พ.ศ. 2549
[แก้] อ้างอิง
- ↑ 4th edition "ANKOR an introductin to the temples" Dawn Rooney ISBN: 962-217-683-6
- ↑ ในสมัยก่อนนั้น (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรป) ภาษาสากลในการติดต่อระหว่างประเทศ (lingua franca) คือ ภาษาฝรั่งเศส เอกสารระหว่างประเทศจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก รวมถึงหนังสือเดินทางไทยรุ่นแรกๆ ด้วย
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549
- ↑ ดัชนีเศรษฐกิจประเทศไทย จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ↑ ผลผลิตของประเทศไทย จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ↑ ข้อมูลการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ข้อมูลเป็นไฟล์เอกเซล)
- ↑ 7.0 7.1 7.2 รายละเอียดประเทศไทยจากเว็บซีไอเอ
- ↑ http://207.5.46.81/tat_news/detail.asp?id=963
- ↑ ข้อมูลจาก Webforum.org พ.ศ. 2546
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- รัฐบาลไทย
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- ประเทศไทยศึกษา ห้องสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา
- พจนานุกรมท่องเที่ยวไทย
บทความเกี่ยวกับ ประเทศไทย | ||
ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ |
ประวัติศาสตร์ไทย | ราชวงศ์จักรี | บุคคลสำคัญ | ตราประจำชาติไทย | จังหวัดในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย | เงินบาท | สินค้าไทย | ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ | รถไฟลอยฟ้า | รถไฟฟ้าใต้ดิน | สนามบินไทย |
|
---|---|---|
สังคมไทย | ชาวไทย | ภาษา | วันสำคัญ | สถาบันอุดมศึกษา | พิพิธภัณฑ์ | ไดโนเสาร์ | การละเล่นเด็กไทย | รายชื่อวัดไทย | ฟุตบอลในประเทศไทย
|
กัมพูชา · กาตาร์ · เกาหลีใต้ · เกาหลีเหนือ · คาซัคสถาน1 · คีร์กีซสถาน · คูเวต · จอร์เจีย1 · จอร์แดน · จีน · ญี่ปุ่น · ซาอุดีอาระเบีย · ซีเรีย · ไซปรัส2 · ติมอร์ตะวันออก3 · ตุรกี1 · เติร์กเมนิสถาน · ทาจิกิสถาน · ไทย · เนปาล · บรูไน · บังกลาเทศ · บาห์เรน · ปากีสถาน · พม่า · ฟิลิปปินส์ · ภูฏาน · มองโกเลีย · มัลดีฟส์ · มาเลเซีย · เยเมน · รัสเซีย1 · ลาว · เลบานอน · เวียดนาม · ศรีลังกา · สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ · สิงคโปร์ · อัฟกานิสถาน · อาเซอร์ไบจาน1 · อาร์เมเนีย2 · อินเดีย · อินโดนีเซีย3 · อิรัก · อิสราเอล · อิหร่าน · อียิปต์4 · อุซเบกิสถาน · โอมาน
ดินแดนพิเศษ: ฮ่องกง (จีน) · ชัมมูและแคชเมียร์ (อินเดีย/ปากีสถาน/จีน) · เคอร์ดิสถาน (อิรัก) · มาเก๊า (จีน) · นากอร์โน-คาราบัค1 (อาเซอร์ไบจาน) · ปาเลสไตน์: ฉนวนกาซา · เวสต์แบงก์ (อิสราเอล/รัฐบาลปาเลสไตน์) ·ไต้หวัน (จีน/รัฐบาลไต้หวัน) · สาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ1 (ไซปรัส)
(1) อาจจัดให้อยู่ในทวีปยุโรป; (2) อยู่ในทวีปเอเชีย แต่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองสังคมกับทวีปยุโรป;
(3) อาจจัดพื้นที่บางส่วน/ทั้งหมดให้อยู่ในเขตโอเชียเนีย; (4) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา
เอเชีย | กัมพูชา (!) - กาตาร์ (*) - คูเวต (⁂) - จอร์แดน (⁂) - ซาอุดีอาระเบีย (*) - ญี่ปุ่น - ภูฏาน (*) - เนปาล - บรูไน(*) - บาห์เรน (⁂) - ไทย - มาเลเซีย(!) - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์! โอมาน (*) |
แอฟริกา | เลโซโท - โมร็อกโก (⁂) - สวาซิแลนด์ (*) |
ยุโรป | อันดอร์รา(!) - เบลเยียม - เดนมาร์ก - ลิกเตนสไตน์ (⁂) - ลักเซมเบิร์ก - โมนาโก (⁂) - เนเธอร์แลนด์ - นอร์เวย์ - สเปน - สวีเดน - นครรัฐวาติกัน (*!) |
โอเชียเนีย | ตองกา - ซามัว |
เครือจักรภพ | แอนติกาและบาร์บูดา - ออสเตรเลีย - บาฮามาส - บาร์เบโดส - เบลีซ - แคนาดา - เกรเนดา - จาเมกา - นิวซีแลนด์ - ปาปัวนิวกินี - เซนต์คิตส์และเนวิส - เซนต์ลูเซีย - เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ - หมู่เกาะโซโลมอน - ตูวาลู - สหราชอาณาจักร |
* สมบูรณาญาสิทธิราชย์, ⁂ ราชาธิปไตยกึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ, ! ราชาธิปไตยที่มีจากการเลือกตั้ง |
รัฐสมาชิก: กัมพูชา · ไทย · บรูไน · พม่า · ฟิลิปปินส์ · มาเลเซีย · ลาว · เวียดนาม · สิงคโปร์ · อินโดนีเซีย
ประเทศสังเกตการณ์: ปาปัวนิวกินี
เกาหลีใต้ · แคนาดา · จีน · ชิลี · ญี่ปุ่น · นิวซีแลนด์ · บรูไนดารุสซาลาม · ปาปัวนิวกินี · เปรู · ไทย · ฟิลิปปินส์ · มาเลเซีย · เม็กซิโก · รัสเซีย · เวียดนาม · สิงคโปร์ · ออสเตรเลีย · อินโดนีเซีย · สหรัฐอเมริกา · จีนไทเป · ฮ่องกง