ธงชาติไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติไทย หรือ (ธงไตรรงค์) มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน เหตุที่เรียกชื่อว่าธงไตรรงค์เพราะสีที่ประกอบเข้าเป็นธงชาติมี 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน (สีขาบ)
[แก้] ความหมายของธง
ในพระราชนิพนธ์นิยามความหมายของธงไตรรงค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้ความหมายของธงไว้ว่า
- สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา
- สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
ต่อมาความหมายได้กลายไปเล็กน้อย โดยสื่อความหมายถึงสถาบันหลักของชาติ 3 สิ่ง ดังนี้
- สีแดง หมายถึง ชาติ
- สีขาว หมายถึง ศาสนา
- สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ทั้งสามสิ่งนี้ถือเป็นคติหรือคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบัน
[แก้] ประวัติ
ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยถือกันว่าเริ่มขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) โดยเป็นธงพื้นสีแดง และไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ในสมัยต่อๆ มา ได้นำสัญลักษณ์ต่างๆ มาประดับบนพื้นสีแดงเป็นธงสำหรับเรือหลวง ได้แก่ จักรสีขาว และช้างเผือกในจักร ส่วนเรือค้าขายเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงเหมือนเดิม
ธงชาติอย่างเป็นทางการแบบแรกมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2398 โดยเป็นธงพื้นสีแดง มีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง เนื่องจากมีเหตุผลว่า ธงพื้นสีแดงเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะสามารถแยกแยะประเทศได้ในการติดต่อระหว่างประเทศ
ในปี พ.ศ. 2459 มีบันทึกว่า ในขณะนั้นประเทศไทยประสบกับอุทกภัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี และทอดพระเนตรเห็นธงชาติถูกแขวนกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถวสีขาว 2 แถว ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว
พ.ศ. 2460 แถบสีแดงตรงกลางได้เปลี่ยนเป็นสีขาบ (สีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) ดังปรากฎอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะเป็นสีประจำวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ ทั้งสีน้ำเงินยังแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วยอีกประการหนึ่ง ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้เชิญไปเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วย
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ธงชาติไทย - สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม