ปลาลิ้นหมาน้ำจืด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
ลิ้นหมาน้ำจืด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา (Soleidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euryglossa panoides (เดิม Brachirus panoides) มีรูปร่างเรียวเป็นรูปไข่ ตาเล็กอยู่ห่างกัน ปากเล็กมีรูจมูกเห็นเป็นท่อชัดเจน ครีบมีลักษณะเชื่อมต่อกันเกือบทั้งลำตัว ครีบอกเล็กมาก มีเส้นข้างลำตัวตรงตลอดแนวลำตัว และมีแขนงสีล้ำตัดเป็นแนวดิ่ง 6 - 7 เส้น ลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีแต้มใหญ่สีคล้ำหลายแต้มตามบริเวณใกล้กับครีบหลังและครีบก้น ครีบมีขอบสีจาง มีจุดประสีคล้ำกระจาย ลำตัวด้านล่างสีขาว ขนาดลำตัวประมาณ 15 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบคือ 30 ซ.ม.
อาศัยอยู่บริเวณพื้นน้ำ ว่ายน้ำโดยขนานกับพื้นดินและพลิ้วตัวขึ้นมาแนวขึ้นลง สามารถมุดใต้ทรายได้เร็วเวลาตกใจ โดยปกติมักจะไม่เคลื่อนไหว อาหารได้แก่สัตว์น้ำหน้าดินขนาดเล็ก เช่น ไส้เดือนน้ำ ลูกกุ้ง เป็นต้น ลิ้นหมาน้ำจืดเป็นปลาที่มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่ค่อยลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ ดังนั้น คนสมัยก่อนหากเห็นปลาลิ้นหมาลอยตัวขึ้นมาเหนือน้ำ จะเก็บน้ำใส่ตุ่ม เพราะเป็นสัญญาณบ่งชี้แล้วว่าน้ำจะเสีย ลิ้นหมาน้ำจืดพบในแม่น้ำตอนล่างใกล้กับปากแม่น้ำของทุกภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ไม่พบในแม่น้ำโขง บริโภคโดยปรุงสดและทำปลาแห้ง อีกทั้งเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ด้วย แต่ปัจจุบันหาได้ยากขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทางสถานีประมงน้ำจืดชัยนาทได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้อยู่ ปลาลิ้นหมามีชื่อเรียกที่แตกต่างและซ้ำซ้อนกันไปเช่น " ใบไม้ " " ลิ้นควาย " หรือ " เป " เป็นต้น
[แก้] ลิงก์ภายนอก
หมวดหมู่: ปลาไทย | ปลาน้ำจืด | ปลาตู้ | วงศ์ปลาลิ้นหมา