ปลาสะแงะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
สะแงะ เป็นชื่อของปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายปลาไหล จัดอยู่ในวงศ์ปลาตูหนา (Anguillidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anguilla bengalensis จัดเป็นตูหนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย โดยสามารถยาวได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร ในตัวเต็มวัยครีบอกมีสีจาง ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางด้านท้ายของลำตัว ลำตัวด้านหลังมีสีเทาคล้ำอมเหลืองและมีประสีจางและคล้ำผสมกันคล้ายกับลายหินอ่อน ท้องมีสีน้ำตาลอมเหลือง พบมากในแม่น้ำสาละวินและสาขาในจังหวัดตาก และ แม่ฮ่องสอน และยังสามารถพบได้เป็นครั้งคราวในแม่น้ำของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ต่างประเทศพบได้ในบริเวณแม่น้ำชายฝั่งของประเทศอินเดีย พม่า และทวีปแอฟริกาแถบตะวันออก
สะแงะ มีบันทึกว่าพบครั้งแรกและสร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็น คือ มีผู้จับได้ในคลองบางกะปิที่กรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2468 ด้วยความใหญ่โตของลำตัว ทำให้บางคนเชื่อว่า เป็นปลาไหลไฟฟ้าบ้าง บางคนก็คิดว่าเป็นพญานาค หรือมังกร โดยปลาตัวนั้นมีขนาดความยาว 65 ซ.ม.
ว่ากันว่า ปลาชนิดนี้สามารถส่งเสียงร้องคล้ายเสียงเด็กทารกได้ด้วยในเวลากลางคืน
ในประเทศไทยพบสะแงะเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกและแถบภาคตะวันตกไปจนถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีชื่อพื้นเมืองภาษากะเหรี่ยงว่า " หย่าที "
เป็นปลาที่พบน้อย หายาก เนื้อมีรสชาติอร่อย ราคาแพง และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
หมวดหมู่: วงศ์ปลาตูหนา | ปลาไทย | ปลาน้ำจืด | ปลาน้ำกร่อย | ปลาตู้