พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เมื่อประสูติทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายศุขสวัสดี โดยทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๓ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จ.ศ. ๑๒๑๗ ตรงกับวันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๙๘
ในตอนต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ขึ้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี ซึ่งในเวลานั้นทรงเจริญพระชนมายุแล้ว ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งคะเด็ตทหารมหาดเล็ก (Cadet- นักเรียนนายร้อย) พอถึงปีพุทธศักราช ๒๔๑๔ จึงได้ทรงเป็นนายดาบในกองร้อยที่ ๕ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
ปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ ได้เลื่อนพระยศเป็นนายร้อยเอกในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ ๕ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และในปีนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาตำแหน่งราชองครักษ์ขึ้นเป็นปฐม ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ราชเอดเดอแกมป์ (Aid-de-Camp) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี เป็นราชองครักษ์พระองค์แรกก่อนบุคคลอื่น ดังนั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองต่างประเทศมี มลายู ชวา และอินเดีย พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี ก็ได้โดยเสด็จในหน้าที่ราชองครักษ์ทุกแห่งไป และในปีต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้กำกับแตรวงในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมและให้ออกวัง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช ครุฑนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง แล้วให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็นหมื่นอดิศรอุดมเดช ถือศักดินา ๖๐๐ ปลัดกรมเป็นหมื่นภูเบศรบริรักษ์ ถือศักดินา ๔๐๐ และสมุห์บาญชีเป็นหมื่นประจักษ์พลขันธ์ ถือศักดินา ๓๐๐ โดยในการออกวังให้ทรงย้ายจากพระตำหนักสวนกุหลาบในบริเวณพระบรมมหาราชวังและโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามพระราชทาน แล้วเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่วังตามประเพณีซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ ได้ทรงเป็นผู้แทนผู้บังคับการทหารล้อมวัง ซึ่งปัจจุบันคือกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายพันเอกผู้บังคับการทหารราบในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จนได้เลื่อนเป็นนายพลตรี
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มาว่าการในหน้าที่ปลัดทหารบกใหญ่
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้า ซึ่งปัจจุบันคือกรมทหารราบที่ ๔
ปีพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๑๐
ปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ และในปีนี้เอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ครุฑนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง แล้วให้ทรงเลื่อนเจ้ากรมเป็นหลวงอดิศรอุดมเดช ถือศักดินา ๘๐๐ ปลัดกรมเป็นขุนภูเบศร์บริรักษ์ ถือศักดินา ๖๐๐ สมุห์บาญชีคงเป็นหมื่นประจักษ์พลขันธ์ ถือศักดินา ๔๐๐ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาเป็นผู้บัญชาการกรมพระคชบาล
ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาเป็นจเรสัตว์พาหนะทหารบกและการทหารม้า และดำรงตำแหน่งนี้จนตลอดพระชนมายุ และในปีนี้ได้ทรงดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
ปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายพลโท
ปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารบกม้ากรุงเทพ ฯ รักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากการรับราชการทหารอันเป็นหน้าที่เฉพาะแล้ว พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ยังเคยทรงทำหน้าที่พิเศษถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เป็นช่างถ่ายรูป ผู้บัญชาการมหาดเล็กตั้งเครื่อง เป็นต้น
ในตอนปลายพระชนมายุ พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช มีพระอาการประชวรพระปัปผาสะ ครั้นถึง ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ เวลา ๗ นาฬิกา ๒๐ นาที หลังเที่ยง ก็สิ้นพระชนม์โดยสุขภาพ แวดล้อมด้วยพระโอรส พระธิดา ชายา และพระประยูรญาติอันสนิท เป็นที่เศร้าโศกสลดเสียดายแก่ผู้ใกล้ชิดพระองค์ทั่วกัน สิริพระชันษาได้ ๖๙ ปี ๑ เดือน ๑๓ วัน ทรงเป็นต้นราชสกุลศุขสวัสดิ
[แก้] ตราประจำพระองค์
[แก้] พระโอรสและพระธิดา
พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงมีพระโอรสและพระธิดา รวมทั้งสิ้น ๓๗ พระองค์ ดังนี้ (แสดงข้อมูลเรียงลำดับตามวันประสูติ ตามด้วยนามหม่อมมารดา และต่อท้ายด้วยพระนามชายา/นามหม่อม/พระนามสวามี)
- หม่อมเจ้าชายอนุชาติ (๒๘ เมษายน ๒๔๑๕ - ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๗๑) (ที่ ๑ ในหม่อมขาบ) ชายา/หม่อม: หม่อมเจ้าหญิงรำไพเยาวยุพา เกษมศรี, หม่อมละม่อม, หม่อมฮวย, หม่อมละมัย, หม่อมเทียบ, หม่อมแจ๋ว
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมนัศสวาสดิ์ (๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๑๙ - ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕) (ที่ ๑ ในหม่อมชุ่ม) เมื่อประสูติทรงเป็นหม่อมเจ้า พ.ศ. ๒๔๗๒ ในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
- หม่อมเจ้าหญิงสอาดศรี (พ.ศ. ๒๔๒๑ - ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๘) (ที่ ๒ ในหม่อมขาบ)
- หม่อมเจ้าหญิงด้วง (พ.ศ. ๒๔๒๒ - )
- พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายอลงกฎ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ (๒๔ ตุลาคม ๒๔๒๓ - ๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๕) (ที่ ๓ ในหม่อมขาบ) เมื่อประสูติทรงเป็นหม่อมเจ้า พ.ศ. ๒๔๗๓ ในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัฃกาลที่ ๙ ทรงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม พระนาม "กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์" หม่อม: หม่อมหลวงชุบ สนิทวงศ์
- หม่อมเจ้าชายถูกถวิล (๒๙ มกราคม ๒๔๓๑ - ๘ เมษายน ๒๔๗๒) (ที่ ๑ ในหม่อมสุ่น) หม่อม: หม่อมเลื่อน, หม่อมเหรียญ
- หม่อมเจ้าหญิงศรีสุคนธ์ (๑๔ มิถุนายน ๒๔๓๑ - ๑๙ มกราคม ๒๕๐๖) (ที่ ๑ ใน ม.ร.ว. เพี้ยน คเนจร)
- หม่อมเจ้าชายอภิลักษณ์ (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๓ สิงหาคม ๒๔๔๖ ) (ที่ ๑ ในหม่อมนวล)
- หม่อมเจ้าชายทินทัต (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๓๓ - ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๓) (ที่ ๑ ในหม่อมแช่ม) หม่อม: หม่อมผิว
- หม่อมเจ้าชายพุฒิสวัสดิ์ (๒๔ กันยายน ๒๔๓๓ - พ.ศ. ๒๕๐๖) (ที่ ๑ ในหม่อมเอียด) ชายา/หม่อม: หม่อมเจ้าหญิงแจ่มจำรัส กาญจนวิชัย, หม่อมกุหลาบ
- หม่อมเจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๔ - ๒๙ เมษายน ๒๔๓๖)
- หม่อมเจ้าหญิงรัตจันทร์ (๕ ตุลาคม ๒๔๓๔ - ๒๔ ธันวาคม ๒๕๐๙) (ที่ ๒ ในหม่อมแช่ม)
- หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (๘ มีนาคม ๒๔๓๕ - ๑๔ ธันวาคม ๒๔๓๖)
- หม่อมเจ้าชายจัตุรัส (๒๐ ธันวาคม ๒๔๓๕ - ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘) (ที่ ๒ ในหม่อมนวล)
- หม่อมเจ้าชายประพัฒพงษ์ (พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๑๔ มีนาคม ๒๔๔๙)
- หม่อมเจ้าชายสืบศุขสวัสดิ์ (๒๘ ธันวาคม ๒๔๓๗ - ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๓) (ที่ ๒ ในหม่อมสุ่น) ชายา/หม่อม: หม่อมเจ้าหญิงอุทัยพงศ์ เกษมศรี, หม่อมเจ้าหญิงวิไลวรรณ เกษมศรี, หม่อมเยื้อน, หม่อมสงบ
- หม่อมเจ้าชายดำเล็ก ()
- หม่อมเจ้าหญิงอุบลเกษร (๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ - พ.ศ. ๒๕๐๖) (ที่ ๒ ใน ม.ร.ว. เพี้ยน คเนจร) สวามี: หม่อมเจ้าชายมงคลอุดม ชยางกูร
- หม่อมเจ้าชายธัญญลักษณ์ (๑๕ มีนาคม ๒๔๓๙ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๙) (ที่ ๑ ในหม่อมเขียน) ชายา: หม่อมเจ้าหญิงรัชมาลินี ดิศกุล
- หม่อมเจ้าหญิงสอาดองค์ ( - พ.ศ. ๒๔๕๗)
- หม่อมเจ้าหญิงแป๋ว ( - พ.ศ. ๒๔๔๓)
- หม่อมเจ้าดวง (ไม่ปรากฏว่าเป็นชายหรือหญิง) ( - พระราชทานเพลิงศพ พ.ศ. ๒๔๔๓)
- หม่อมเจ้าหญิงแต๋ว ( - ๑๔ มกราคม ๒๔๕๑)
- หม่อมเจ้าชายนิด ( - พระราชทานเพลิงศพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๕๒)
- หม่อมเจ้าชายวงศ์อดิศร (๔ ตุลาคม ๒๔๔๒ - พ.ศ. ๒๕๐๖) (ที่ ๓ ในหม่อมสุ่น) หม่อม: หม่อมนพรัตน์ (ถม)
- หม่อมเจ้าหญิงภาธรมณี (๒๔ กันยายน ๒๔๔๔ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๓) (ที่ ๓ ใน ม.ร.ว. เพี้ยน คเนจร)
- หม่อมเจ้าชายแป๊ะ (๒๑ มกราคม ๒๔๔๖ - )
- หม่อมเจ้าชายกิติเดชขจร (๔ เมษายน ๒๔๔๖ - ๑ มีนาคม ๒๕๑๘) (ที่ ๔ ในหม่อมสุ่น) หม่อม: หม่อมจอน, หม่อมสมบุญ เมระยาภรณ์, หม่อมแส, หม่อมวิไล, หม่อมสมจิต, หม่อมบัวเงิน, หม่อมเทียมตา, หม่อมประยงค์ ทองแท้, หม่อมบัวเขียว
- หม่อมเจ้าชายวรศักดิเดชอุดม (๒๒ มิถุนายน ๒๔๔๗ - ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔) (ที่ ๒ ในหม่อมเขียน) หม่อม: หม่อมราชวงศ์หญิงสดถิ์ศรี สวัสดิกุล, หม่อมพัฒนา คงสวัสดิ์
- หม่อมเจ้าชายประสมสวัสดิ์ (๒๓ มีนาคม ๒๔๕๐ - ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙) (ที่ ๓ ในหม่อมเขียน) ชายา/หม่อม: หม่อมเจ้าหญิงกาญจนฉัตร ฉัตรชัย, หม่อมมาลินี สีบุญเรือง
- หม่อมเจ้าชายพันธ์อดิศร (๒๓ ธันวาคม ๒๔๕๒ - ๒๑ เมษายน ๒๕๒๙) (ที่ ๒ ในหม่อมเอียด) หม่อม: หม่อมถนอม, หม่อมสมัคร, หม่อมสังเวียน, หม่อมสมบัติ, หม่อมยุพดี ตันหยง, หม่อมอูจานี, หม่อมตุ๊
- หม่อมเจ้าชายมานิตสวัสดิ์ (พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๖ มกราคม ๒๕๐๐) (หม่อมเปล่ง) หม่อม: หม่อมเล็ก นิตย์เจริญ
- หม่อมเจ้าชายประสพสุข (๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ - ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๘) (หม่อมเจริญ) ชายา: หม่อมเจ้าหญิงกฤษณาพักตรพิมล ดิศกุล
- หม่อมเจ้าหญิงเล็ก
- หม่อมเจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม
- หม่อมเจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม
- หม่อมเจ้าชายอดิศรานุวงศ์ (๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ - ๑๗ มกราคม ๒๕๔๐) (หม่อมตี่) หม่อม: หม่อมทองลิ อิศรเสนา ณ อยุธยา
สมัยก่อนหน้า: กรมหลวงพิชิตปรีชากร |
พระนามกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช |
สมัยถัดไป: กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ |
[แก้] อ้างอิง
- กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้ง-แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๗.
- หอพระสมุดวชิรญาณ. จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศ ในรัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองสิงคโปร์ แลเมืองปัตตาเวียครั้งแรก แลเสด็จประพาสอินเดีย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๘. (เจ้าภาพพิมพ์ในงานพระศพ พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช).
- Jeffy Finestone. 2542. สมุดพระรูป พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปรียนันทนา รังสิต,ม.ร.ว. โลมาโฮลดิ้ง