สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ครองราชย์ พ.ศ. 2301-2301, ประมาณ 2 เดือน) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓๒ รองพระองค์สุดท้าย แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระราชโอรสองค์รองใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิม เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนพรพินิต มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี)
หลังจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2289 แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใด ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง 11 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2300 จึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด
เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ สวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปีพ.ศ. 2310 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่ก่อนหน้าที่จะมีพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบและพระอนุชาต่างพระมารดาสามองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี ได้พยายามแย่งชิงราชสมบัติ แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงขอให้พระราชาคณะเกลี้ยกล่อมจนสำเร็จ และพระองค์ได้ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์
เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็ทรงสละราชย์สมบัติแล้ว ถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐา แล้วพระองค์เสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม
หลังสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าด้วยพร้อมเจ้านายและเชลยชาวไทยอื่น ๆ โดยทางพม่าได้ให้สร้างหมู่บ้านอยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ และพระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า " คำให้การขุนหลวงหาวัด " ในปัจจุบัน หมู่บ้านดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีอยู่ มีชื่อว่า " เมงตาสึ " แปลว่า " เยี่ยงเจ้าชาย " และก็ยังคงมีหลักฐานปรากฎถึงวัฒนธรรมไทยอยู่ เช่น ประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ หรือการตั้งศาลบูชาพ่อปู่ หรือ หัวโขน เป็นต้น แม้ผู้คนในหมู่บ้านนี้จะไม่สามารถพูดไทยหรือมีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยมาจากไทย
ปี พ.ศ. 2540 มีข่าวว่าพบสถูปพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร บริเวณสุสานร้าง เมืองอมรปุระ ไม่ไกลจากสะพานไม้สักอูเบ็ง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการพิจารณารูปพรรณสัณฐานไม่ด้ว่าเป็นแบบมอญ หรือพม่า คนเฒ่าคนแก่ในย่านนั้นก็เรียกสถูปนี้ว่า "โยเดียเซดี" แปลว่า สถูปอยุธยา แต่ทว่า ข้อห้ามของทางการพม่าที่ไม่ให้ขุดค้นหลักฐานโบราณคดีในสถูป ทำให้กลายเป็นข้อสันนิษฐานที่รอการพิสูจน์
พระเจ้าอุทุมพร สิ้นพระชนม์ในขณะเป็นบรรพชิต ใน พ.ศ. 2339 ตามพงศาวดารพม่า
[แก้] ดูเพิ่ม