อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (เกิด 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล ผู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่า อาจจะก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในอนาคตอันใกล้
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า มาร์ค เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล สหราชอาณาจักร เป็นบุตรชายคนเดียวในจำนวนบุตร 3 คนของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง สดใส เวชชาชีวะ อภิสิทธิ์ได้เข้าเรียนเบื้องต้นในระดับอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร และในระดับประถมที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงย้ายกลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และต่อที่โรงเรียนอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนเอกชนในกรุงลอนดอน หลังจากนั้น ได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดด้วยระดับคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง [1] นับเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรตินิยม[ต้องการแหล่งอ้างอิง] ภายหลังจบการศึกษาได้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และต่อมาได้ศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดอีกครั้ง ภายหลังจบการศึกษา ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ยังจบปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกด้วย
[แก้] ชีวิตการเมือง
อภิสิทธิ์เริ่มต้นชีวิตการเมืองด้วยการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ. 2535 ในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2535-2537) ในรัฐบาลชวน หลีกภัย
- ต้น พ.ศ. 2537 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์)
- พ.ศ. 2538-2539 ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร
- พ.ศ. 2538-2540 โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
- พ.ศ. 2540-2544 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในปี 2542 ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และในปี 2548 ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จนถึงปัจจุบัน
บทบาททางการเมืองของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า จำลองแบบมาจากบุคลิกของนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ [ต้องการแหล่งอ้างอิง]
อภิสิทธิ์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนในหนังสือไว้ว่าอภิสิทธิ์ว่าเป็นคนที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่คนอื่นเสนอมาได้อย่างเป็นระบบ แต่ภาวะการนำมัก เป็นแบบท้วงติงและตอบโต้ มากกว่าริเริ่มนำเสนออะไรใหม่ เพราะโดยพื้นฐานแล้วคุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่คนชอบเสนออะไรที่ท้าทาย และแปลกใหม่ทางความคิด" [2]
ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นที่น่าสังเกตมาก ว่าในปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ ได้เปิดเกมรุกในการนำเสนอนโยบายต่างๆอย่างชัดเจนในรูปของ "วาระประชาชน" มีการเปิดตัวนโยบายที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดรัฐประหารในวันที่19 กันยายน หลังจากไม่กี่วันก็มีการเปิดตัวเว็ปไซต์ใหม่ของอภิสิทธิ์ มีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องต่างๆอยู่เป็นประจำ
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอภิสิทธิ์ว่า เป็นนักการเมืองพันธุ์ใหม่และเป็นพันธุ์ที่สังคมไทยต้องการ นักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่สังคมไทยต้องการจะต้องมีทั้ง I.Q., E.Q. และ M.Q. I.Q. (Intelligence Quotient) = มีพลังทางปัญญา E.Q. (Emotional Quotient) = มีพลัง หรือ วุฒิสภาวะทางอารมณ์ M.Q.(Moral Quotient) = มีพลังทางศีลธรรม สังคมปัจจุบันมีความเชื่อมโยง และสลับซับซ้อนมาก คนที่จะทำงานการเมืองจะต้องมีปัญญาเข้าใจความซับซ้อนเหล่านี้และต้องสามารถเรียนรู้ตลอดเวลาจึงจะทำงานได้ผล ผู้ใดจะมีปัญญาเท่าใดๆ แต่ถ้าขาดวุฒิสภาวะทางอารมณ์ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน คนที่ปราศจากศีลธรรม (M.Q.) ย่อมนำไปสู่ความล้มละลายทั้งส่วนตัวและส่วนรวมที่ตนเกี่ยวข้อง นักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่สังคมไทยต้องการจึงควรจะมีทั้ง I.Q., E.Q. และ M.Q.
[แก้] ชีวิตส่วนตัว
อภิสิทธิ์สมรสกับ ดร. พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ (นามสกุลเดิม ศกุนตาภัย) อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีบุตร 2 คน คือ ปราง (บุตรสาว - มะปราง) และ ปัณณสิทธิ์ (บุตรชาย - ปัณ)
อภิสิทธิ์ชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลและมีทีมโปรด คือ นิวคาสเซิล ชอบฟังเพลงร็อก วงดนตรีที่ชื่นชอบ ได้แก่ อาร์อีเอ็ม, อีเกิลส์ และโอเอซิส
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า "หล่อใหญ่" คู่กับอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับสมญาว่า "หล่อเล็ก" เนื่องจากได้รับความนิยมในช่วงเลือกตั้งและมีการกล่าวถึงมาก
[แก้] หนังสือ
- คือ ชีวิต คือ ความคิด คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักการเมืองน้ำดี (พ.ศ. 2547)
- มาร์ค เขาชื่อ...อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2548)
- การเมืองไทยหลังรัฐประหาร (พ.ศ. 2549)
- เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร ไม่ถูกฉีก (พ.ศ. 2550)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] อ้างอิง
- ↑ ชีวประวัติ จากเว็บไซต์ส่วนตัว
- ↑ อเนก เหล่าธรรมทัศน์, พิศการเมือง พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์ openbooks, พ.ศ. 2548.